Thai soft power เช็กยกเว้นภาษี กรณีกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ
การสนับสนุน Thai soft power จากรัฐบาล มีความคืบหน้าล่าสุด ครม. อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการยกเว้นภาษีนักแสดงชาวต่างชาติ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
สรุปสาระสำคัญ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงาน ช่วงปี 2554 – 2558 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการยกเว้นภาษีนักแสดงชาวต่างชาติ ส่งผลให้มีรายได้จากธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2558 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการใช้มาตรการยกเว้นภาษีนักแสดงชาวต่างชาติ ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าว 3,164.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 คิดเป็นร้อยละ 158.01 และหลังจากเริ่มดำเนินมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประทศในประเทศไทยในปี 2560 รายได้จากธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ธุรกิจดังกล่าวได้สร้างรายได้เข้าประเทศ 5,007 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2564) มีค่าเฉลี่ยรายได้จากการลงทุนของกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งได้กระจายไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ
เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศของประเทศไทยในปัจจุบันที่ดำเนินการในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) สูงสุดร้อยละ 15 - 20 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และจำกัดเพดานการคืนเงินไม่เกิน 75 ล้านบาทแล้ว ถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่นมาก
ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกมีการแข่งขันสูงมาก ประกอบกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการถ่ายทำที่ทันสมัย ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นรวมทั้งหลายประเทศมีมาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษีเพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนสร้างภาพยนตร์ในประเทศตน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
โดยเห็นว่า การกำหนดให้นักแสดงชาวต่างชาติที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย อาจส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เนื่องจากนักแสดงชาวต่างชาติได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศต้นทางที่เป็นแหล่งรายได้อยู่แล้ว ประกอบกับภาครัฐสามารถจัดเก็บเงินภาษีนักแสดงชาวต่างชาติได้น้อยมาก
โดยในช่วงระหว่าง ปี 2562 - 2563 นักแสดงชาวต่างชาติจากภาพยนตร์ต่างประเทศ จำนวน 4 เรื่อง ได้ยื่นเสียภาษีนักแสดงชาวต่างชาติเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 6.765 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.90 ของวงเงินลงทุนถ่ายทำรวมเท่านั้น จึงให้มีการทบทวนการดำเนินมาตรการยกเว้นภาษีนักแสดงชาวต่างชาติให้มีผลบังคับใช้อีกครั้ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาด้านกฎระเบียบบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและไม่เอื้อต่อการอำนวยความสะดวกแก่คณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ
คบศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย รวมทั้งคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่อง มาตรการยกเว้นภาษีนักแสดงชาวต่างชาติ โดยให้กำหนดระยะเวลา 5 ปี และมอบหมายให้ กก. (กรมการท่องเที่ยว) นำเสนอเรื่อง การยกเว้นภาษีนักแสดงชาวต่างชาติต่อคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว
การดำเนินมาตรการยกเว้นภาษีนักแสดงชาวต่างชาติ
เป็นการช่วยสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเปิดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์ ดังนี้
1. สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และภาคการท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ถ่ายทำ
2. ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศผ่านภาพยนตร์ต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นและได้รับการยอมรับในการเป็นจุดหมายปลายทางของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศจากทั่วโลก สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศรายเดิม และสร้างแรงจูงใจแก่ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศรายใหม่
3. พัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย นักแสดงชาวไทย มีโอกาสร่วมแสดงในภาพยนตร์ต่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์ของบุคลากรชาวไทยจากการร่วมงานกับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การจัดทำรายละเอียดข้อมูลตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว โดยหากสามารถรักษาฐานรายได้จากการลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเท่ากับค่าเฉลี่ยรายได้ดังกล่าวย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2560 - 2564) ประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี ประเทศไทยจะมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ประมาณ 17,500 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี และสูญเสียรายได้ประมาณ 71.75 ล้านบาท
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้แจงว่า มาตรการยกเว้นภาษีนักแสดงชาวต่างชาติตามข้อเสนอนั้น หมายถึง การขอยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาสำหรับนักแสดงสาธารณะที่เป็นนักแสดงภาพยนตร์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศที่แสดงภาพยนตร์ต่างประเทศซึ่งดำเนินการสร้างโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและได้รับอนุญาตการสร้างตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เหมือนกรณีกฎกระทรวง ฉบับที่ 289 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 120/2545 เรื่อง การเก็บภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าว ผู้เขียนมองว่า ถือเป็นก้าวแรกบนภารกิจ Thai soft power เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของประเทศ แต่ทุกอย่างต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์เช่นกัน ซึ่งหวังจะส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประทศในประเทศไทย คนในวงการภาพยนตร์มีโอกาสมากขึ้น