“เพื่อไทย” ระวังโดดเดี่ยวตัวเอง คำเตือนจาก “คนรักทักษิณ”

“เพื่อไทย” ระวังโดดเดี่ยวตัวเอง  คำเตือนจาก “คนรักทักษิณ”

หลายคนจับตามองจังหวะก้าวเดินเกมของ ทักษิณ ชินวัตร หลังพรรคเพื่อไทย ตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็ก “ทักษิณ” มาเป็นหัวหน้าครอบครัว และตั้ง “เต้น-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” มาเป็น ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย

ที่ชัดเจนที่สุด คือ ต้องการปรับภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทย ให้เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ เพราะจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เห็นแล้วว่า ฐานเสียงกลุ่มนี้มีกลุ่มก้อนที่ใหญ่โต และมีโอกาสช่วงชิงมาได้ เพราะเชื่อว่า คนรุ่นใหม่บางส่วนก็รับไม่ได้กับอุดมการณ์อันร้อนแรงของพรรคก้าวไกล ที่เล่นการเมืองแบบ “สุดโต่ง”
 

ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยได้ข้ออ้างสำหรับคนรุ่นใหม่ว่า เป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย”

กรณี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร อย่าลืมว่า “ทักษิณ” หรือ โทนี่ วู้ดซัม อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวถึงคุณสมบัติของคนที่เหมาะจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า

ควรเป็น “คน Gen X” ในรายการ Care Talk x Care Clubhouse (เผยแพร่ 28 ต.ค.64) หัวข้อ “วันนี้ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) พรุ่งนี้... ใคร?”

นายทักษิณ ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “....เรามัน Baby Boomer อย่านั่งเป็นนายกฯเลย พอแล้ว ให้ Gen X , Gen Y ทำเถอะ...คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เป็นคนเจนเบบี้บูมเมอร์เช่นกัน ไม่สนใจที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง มองว่า การเมืองเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่...”

ทั้งนี้ เจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Generation X) หรือ Gen-X หมายถึง คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2508-2522 (ค.ศ.1964-1979) มีอายุระหว่าง 38-53 ปี ซึ่งอาจเรียกอีกชื่อว่า "ยับปี้" (Yuppie) ย่อมาจาก Young Urban Professionals

เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งแม้ว่าโลกยุคนั้นจะไม่ทันสมัยเท่าปัจจุบัน แต่คนรุ่นนี้ถือว่า เป็นกลุ่มคนในช่วงโลกกำลังพัฒนาเริ่มต้น มีความเปลี่ยนแปลง คนยุคนี้จะถูกสอนจากกลุ่มคนรุ่นก่อนให้รู้ถึงการประหยัด การอดทน

เน้นให้เรียนหนังสือเพื่ออนาคต เน้นให้ทำงานกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจมากกว่างานเอกชน หรือ บางคนก็หันมาเปิดกิจการตัวเอง คนกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มสร้างเนื้อสร้างตัวสร้างครอบครัวเพื่อวางรากฐานให้กับลูกหลานเช่นเดียวกัน

เจเนอเรชั่น วาย (Generation Y) หรือ ยุค Millennials คือ คนที่เกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2523–2540 (ค.ศ.1980-1997) มีอายุระหว่าง 21-37 ปี คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และมีค่านิยมแตกต่างจากรุ่นปู่ย่าตายาย กับ รุ่นพ่อแม่

ขณะที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร มีอายุ 35 ปี ถือว่า เป็น “ผู้นำ” ของคนรุ่นใหม่ได้สบาย แต่ต้องไปวัดกันที่ ความเป็น “ผู้นำทางการเมือง” เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้กับคนรุ่นใหม่ได้หรือไม่ เท่านั้น

ขณะที่การดึงเอา “ณัฐวุฒิ” มาเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย สิ่งที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ยุทธศาสตร์ “พาเสื้อแดงกลับบ้าน” และเป็นสะพานเชื่อมคนรุ่นใหม่ ซึ่งพักหลัง ก่อนที่ “ณัฐวุฒิ” จะเข้าร่วมกับเพื่อไทย อย่าลืมว่า “ณัฐวุฒิ” มีการเคลื่อนไหวร่วมกับ “กลุ่ม 3 นิ้ว” จัด “คาร์ม็อบ” ไล่พล.อ.ประยุทธ์ มาก่อน

แถม “ณัฐวุฒิ” ยังเคยกล่าวถึงการต่อสู้ของคนรุนใหม่เอาไว้ว่า

“ช่วงหกเดือนที่อยู่ในเรือนจำ ผมเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จนค่อนข้างเซอร์ไพรส์กับสถานการณ์ คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเดินมาได้ถึงจุดนี้ สายลมของการเปลี่ยนแปลงกำลังพัดอยู่ตลอดเวลา เพราะคนที่กำลังเติบโตขึ้นมาในสังคมที่การเปลี่ยนแปลงกำลังเคลื่อนต่างมีความเห็นตรงกัน ขยับตัวพร้อมกัน ส่งเสียงเดียวกัน จึงทำให้พลังเกิดขึ้นมาได้ และทำให้กลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในวัยนั้นต้องเงี่ยหูฟัง แล้วก็มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งคัดค้าน เมินเฉย และเห็นด้วย แล้วถ้าจะให้พวกเขาล้มเลิกเพิกถอนข้อเรียกร้องก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าขบวนการจะต่อสู้มาถึงจุดนี้ ผู้เคลื่อนไหวต่างก็มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน เจ็บปวดมาร่วมกัน เชื่อมโยงกันมาหนาแน่นมากแล้ว

ขณะเดียวกัน ผมก็เห็นความถดถอยของฝั่งตรงข้าม กลับกลายเป็นว่าการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในวันนี้ขานรับประวัติศาสตร์ของคนเสื้อแดงเสียมากกว่า แม้จะเป็นผู้แพ้ก็ตาม เราเห็นเลยว่าอุดมการณ์บางชุดถูกปฏิเสธโดยยุคสมัย และไม่สามารถร่วมทางกับอนาคตของประเทศได้อีกต่อไป จนกลายเป็นอดีตที่หลายคนอยากหลบซ่อน

ถึงแม้นี่จะเป็นสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ผมว่าสังคมไทยก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ต้องยอมรับความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่แน่นอนที่สุด ไม่มีใครอยู่เหนือกฎเกณฑ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน

หากมองบนพื้นฐานความคิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ สังคมต้องมองอย่างเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้มีข้อเรียกร้องอย่างไรบ้าง ภายใต้ข้อเรียกร้องทั้งหมด เราจะเดินด้วยกันอย่างไร อยู่ร่วมกันแบบไหน ลึกๆแล้ว คนที่เคลื่อนไหวอยู่คงไม่ได้คาดหวังถึงขั้นให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องหันมาคุยกัน เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้โดยที่ทุกฝ่ายไม่ต้องทำลายล้างกัน ความเปลี่ยนแปลงอาจหมายถึงนำมาสู่สิ่งที่ดีกว่าก็ได้ เพียงแต่ต้องมาจากเจตนาดี และฝ่ายที่ต้องแสดงเจตนาดีก่อนคือฝ่ายรัฐ ไม่อย่างนั้นก็จะนำมาสู่การบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้น

รัฐอย่าใช้ความรุนแรงกับคนที่ออกมาเคลื่อนไหว ผู้ใหญ่ควรให้ความเมตตา ให้โอกาส ให้อภัย คนที่ออกมาต่อสู้มีเจตนาบริสุทธิ์ มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง รัฐต้องถนอมพลังเหล่านี้ไว้อย่าให้ง่อยเปลี้ยไปในวันที่บ้านเมืองยังต้องการอนาคต”https://www.the101.world/nattawut-saikua-interview-2/

นั่นแสดงให้เห็นว่า เขากับคนรุ่นใหม่ มีจุดเชื่อมทางความคิดเข้าด้วยกันแล้ว และดูเหมือนแกนนำ “3 นิ้ว” หลายคนก็ขานรับการเป็นหนึ่งในหัวขบวน “3 นิ้ว” ด้วยเช่นกัน  

ส่วน “คนเสื้อแดง” กับ “ณัฐวุฒิ” ก็ต่อสู้ร่วมกันมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร “ทักษิณ” เมื่อกันยายน 2549 กระทั่งถูกสลายการชุมนุมปี 53 และถูกพล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหาร องค์กรนำ อย่าง นปช.(กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) จึงลดบทบาทลง กระทั่งยุติไปแล้ว  

ว่ากันว่า จุดเด่นของ “ณัฐวุฒิ” ก็คือการยืนหยัดแนวทางของ “คนเสื้อแดง” ขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมกับ “คนรุ่นใหม่” ได้อย่างกลมกลืน

คำถามก็คือ การพาคนเสื้อแดงกลับบ้าน และการมุ่งฐานเสียงไปที่คนรุ่นใหม่ สามารถตอบโจทย์ “ยุทธศาสตร์” ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ชนะแบบถล่มทลาย ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ได้จริงหรือ

คำตอบ ก็คือ ได้จริง หากคนเสื้อแดงทั้งหมด กลับมาเหนียวแน่นอยู่กับพรรคเพื่อไทย เหมือนช่วงหลังสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ซึ่งทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นำพาพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้ไม่ยาก จนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและ “คนรุ่นใหม่” ส่วนใหญ่เทคะแนนนิยมให้กับพรรคเพื่อไทย

แต่ความจริงในเวลานี้ คนเสื้อแดง ไม่มีองค์กรนำ อย่าง “นปช.” แล้ว ทุกคนกลับไปอยู่ในสภาพ “ชาวบ้าน” ฐานเสียงนักการเมือง พรรคการเมือง ที่ตัวเองชื่นชอบส่วนตัว จึงไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ส่วนที่ยังนิยม “ณัฐวุฒิ” และยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มคนเสื้อแดง แม้จะยังมีอยู่ แต่ก็คงไม่มากพออีกต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ยังออกมาเผยว่า กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีอุดมการณ์เข้มข้น หรือหัวก้าวหน้า เวลานี้เป็น “สาวก” ของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีอุดมการณ์ที่ชัดเจน หมดแล้ว และในความหมายของหัวก้าวหน้า ก็ไม่ใช่แค่อยู่ในเมือง มีการศึกษาสูง หากแต่เป็นชาวบ้านธรรมดา ที่เรียนรู้การเมือง มีบทเรียนการต่อสู้ และยึดมั่นในแนวทางพัฒนาประชาธิปไตย   

สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่ที่สนใจทางการเมือง จะเป็น “สาวก” ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบัน ก็คือ พรรคก้าวไกล ที่มีความชัดเจนในการสนับสนุนการต่อสู้ของ “ขบวนการ 3 นิ้ว”

ดังนั้น การที่ “ณัฐวุฒิ-อุ๊งอิ๊ง” จะแย่งชิงฐานเสียงกลุ่มนี้มาได้ ก็ต้องลบข้อครหา “สู้ไป กราบไป” ที่ “ทักษิณ” และคุณหญิงพจมาน ทำเอาไว้ให้ได้ รวมทั้งความชัดเจนในการสนับสนุน “ขบวนการ 3 นิ้ว” ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องยาก

ตราบใดที่ “ทักษิณ” ยังไม่กล้า “หัก” และยังหวังอยู่ลึกๆว่า จะมี “บุญหล่นทับ” ให้ได้กลับบ้าน       

ประเด็นก็คือ ต่อให้พรรคเพื่อไทย “คิดได้” ว่าทำอย่างไรจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ แต่การไปถึงจุดนั้น แม้ว่าจะมีทางเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่รู้ว่าจะได้ผลตามที่ต้องการหรือไม่

ขณะที่ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย หลังจากเลือดไหลไม่หยุดมาตั้งแต่ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นำทีมลาออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทย จากนั้นก็มาไหลแรงเอาช่วงที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ดูดเอาส.ส.ศรีสะเกษ จนทำให้มีการโหวตสวนมติพรรคเกิดขึ้น ในการผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2566 ที่ผ่านมา หรือ “งูเห่า” อันลือลั่น

ทั้งยังเชื่อกันว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล(11 คน)รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในอีกไม่นาน ปรากฏการณ์ “งูเห่า” จะเพิ่มขึ้นจาก “7 คน” ก็เป็นได้ ซึ่งนี่เอง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างเชื่อมั่นว่า จะไม่มีผลต่อการล้มรัฐบาล

นั่นแสดงว่า ปัญหาภายในพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ธรรมดา ยิ่งกว่านั้น เมื่อตรวจเช็ค “ส.ส.งูเห่า” ทั้ง 7 คน ยังพบว่า หลายคนเป็นส.ส.หลายสมัย และผูกพันกับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ก็มี นั่นเท่ากับว่า พรรคไม่สามารถรักษาคนเก่าแก่เอาไว้ได้?

อย่างนี้แล้ว การเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ไม่แน่ว่า จะมีส.ส.ย้ายพรรคอีกหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า “พลังดูด” ของพรรคภูมิใจไทยในภาคอีสาน ทรงพลานุภาพอย่างมากทีเดียว

ยิ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคภูมิใจไทย ถือว่า มีทั้ง “กระแสพรรค” กรณี นโยบาย “กัญชาเสรี” ที่เคยหาเสียงเอาไว้ในการเลือกตั้งปี 62 ทำได้จริง และกระสุนทางการเมือง ที่พร้อมสรรพ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล

นั่นหมายถึง คู่ต่อสู้ที่น่ากลัวของพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งภาคอีสาน หรือหลายจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็คือ พรรคภูมิใจไทย นั่นเอง

ประเด็นที่น่าคิด หลังจากกติกาเลือกตั้งเปลี่ยนมาใช้ “บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ” เข้าทางพรรคเพื่อไทยแบบเต็มๆ พรรคเพื่อไทยประกาศ ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” และหลังชัยชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มองว่า เป็นชัยชนะของ “ฝายประชาธิปไตย”

“ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย แสดงความเชื่อมั่นอย่างสูงว่า อะไรก็หยุดพวกเขาไม่อยู่ ยิ่งพยายามเติมเต็มช่องโหว่ของฐานเสียง ด้วยการดึง “ณัฐวุฒิ” เข้ามา พาคนเสื้อแดงกลับบ้าน และแย่งชิงฐานคนรุ่นใหม่จากพรรคก้าวไกล ก็ยิ่ง “ลิงโลด” ฮึกเหิมใหญ่ ว่า แลนด์สไลด์แน่นอน

ดังนั้นการแสดงออกหลายอย่าง จึงค่อนข้าง “เอาตัวเองเป็นใหญ่” หรือ “โดดเดี่ยวตัวเอง” ก็ว่าได้

จนมีเสียงสะท้อนจาก “คนรักทักษิณ” กรณี นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ อ.ต้อย ชักธงรบ ได้จัดรายการพิเชษฐ์ ทาบุตดา Talk ผ่านทางเฟซบุ๊กตัวเอง(21 มิ.ย.65) โดยพูดถึงการเคลื่อนไหวของครอบครัวพรรคเพื่อไทย ที่นำทีมโดย น.ส.แพทองธาร จัดเวทีปราศรัยใหญ่ในคอนเซปต์ “ไล่หนูตีงูเห่า” ที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า

ใครเป็นคนคิดยุทธการนี้ มันเป็นวิธีการเหมือนไล่มิตรเป็นศัตรู เพราะศัตรูที่แท้จริงไม่ใช่เสี่ยหนู คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

หากเพื่อไทยเคลื่อนไหวรุนแรงในเรื่องนี้ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอดีตนายใหญ่กับนายอนุทิน จะไม่ดีและจะมองหน้ากันไม่ติด เพราะหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อไทย อาจจะต้องไปนั่งจับเข่าคุยกันกับภูมิใจไทย เพื่อผสมพันธ์ทางการเมืองก็เป็นได้

นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนงูเห่า ที่เพื่อไทยจะมาตีนั้น ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อน การซื้อขายตัวส.ส.การเมืองไทยก็มีมานาน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น สมัยคุณทักษิณ ก็เคยซื้อตัวพรรคอื่นมาเช่นกัน ดังนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดาของวิถีการเมือง

เช่น การเมืองในจ.อุบลราชธานี ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ได้ ทำไมคนเสื้อแดงไม่ได้ขับไล่ ส.ส.ของประชาธิปัตย์ ก็เพราะว่าระหว่างนายเกรียง กัลป์ตินันท์ ของพรรคเพื่อไทย กับ นายวิฑูรย์ นามบุตร หรือนายอิสระ สมชัย ของพรรคประชาธิปัตย์ ต่างก็เป็นเพื่อนกัน หากแยกระหว่างเพื่อน และพรรค มันก็เป็นมิตรกันได้ ไม่จำเป็นต้องเอาเป็นเอาตายกันในทางการเมือง

“ดังนั้น จึงควรถนอมน้ำใจกันไว้ ถ้าคิดอยากจะนำพาพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์ ก็ต้องเอาพรรคขนาดกลางไว้ เพราะยังจะต้องไปสู้กับ ส.ว.อีก 250 เสียง”

สำหรับ “พิเชษฐ์ ทาบุดดา” เป็นอดีตแกนนำเสื้อแดง “กลุ่มชักธงรบ” ตกเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.58 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต

ต่อมา 14 ก.พ.65 หลังจำคุก 6 ปีกับ 2 เดือน “พิเชษฐ์” ได้รับอิสรภาพตามเงื่อนไขการลดหย่อนโทษของกรมราชทัณฑ์

ทั้งนี้ “พิเชษฐ์” เคยพูดถึง “ทักษิณ” เมื่อหลายปีก่อนว่า “ชาวบ้านเขารักทักษิณจริงๆ ผมก็ไม่ใช่ไม่รักนะ แต่รักแล้วไม่ใช่เป็นขี้ข้า เรารักแล้วเป็นพันธมิตรกัน สิ่งไหนดี ผมว่าดี สิ่งไหนไม่ถูกต้อง ก็ต้องบอก ต้องด่า คุณทักษิณก็ไม่ใช่เทวดา แล้วอย่างนี้ผมผิดอะไร”

ขณะที่ “ณัฐวุฒิ” พลันได้รับแต่งตั้งเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ก็เขย่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันทันควันว่า

เสนอให้ มวลชนฝ่ายประชาธิปไตย เลือกพรรคการเมืองพรรคเดียว ในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือ “แลนด์สไลด์” ซึ่งพรรคที่เหมาะสมที่จะต่อสู้กับเผด็จการมากที่สุดก็คือ พรรคเพื่อไทย เพราะชนะเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ ต้องชนะแบบแลนด์สไลด์ เพื่อให้เผด็จการไม่กล้าฝืนกระแสความต้องการของประชาชน

คำกล่าวทำนองนี้ พรรคก้าวไกล และพรรคอื่นที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน ก็คงคิดว่า พรรคเพื่อไทย เห็นแก่ตัว และไม่น่าคบหาเป็นพันธมิตรทางการเมือง ต่อให้คิดว่า นั่นเป็นคำพูดหาเสียงให้กับพรรคเพื่อไทย แต่ก็มีผลโน้มน้าวไม่ให้เลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอื่นด้วย และก็ไม่ต่างอะไร กับ “ไล่หนูตีงูเห่า” ที่ศรีสะเกษ

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นเกมต่อสู้ของพรรคเพื่อไทย ในการดิ้นรน เพื่อ “นายใหญ่” ที่ต้องการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ให้ “ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน” ได้เป็นนายกฯ? และอาจได้นำไปสู่การเสนอออกกฎหมาย “คืนความยุติธรรม” ให้ตัวเอง อย่างที่แกนนำเพื่อไทยบางคนพูดไว้ว่า เป็นไปได้ที่จะพา “ทักษิณ” กลับบ้าน   

แต่ดูจากสภาพที่ “กระแสพรรค” ก็ไม่กระเตื้องขึ้นมาให้เห็น แถมสร้างศัตรูมากกว่าพันธมิตร รวมทั้ง “โดดเดี่ยวตัวเอง” อย่างนี้เลือกตั้งเหนื่อยแน่ แถมถ้าไม่ชนะเลือกตั้ง ก็ยังอาจไม่มีพันธมิตรทางการเมืองชวนไปร่วมรัฐบาลอีกต่างหากหรือไม่ ก็นับว่าน่าติดตาม