จักรยานยนต์รับจ้าง : เส้นเลือดฝอยของคนเมือง | เปี่ยมสุข สนิท

จักรยานยนต์รับจ้าง : เส้นเลือดฝอยของคนเมือง | เปี่ยมสุข สนิท

ปัญหาซูเปอร์บล็อกที่ยากเกินแก้ไขและการขาดระบบถนนสายรองในภาคมหานคร ทำให้รัฐไม่สามารถพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพได้ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขโดยภาครัฐ แต่กลับกลายเป็นเศรษฐกิจนอกระบบเป็นผู้เข้ามาแก้ปัญหาแทน ซึ่งก็คือ “จักรยานยนต์รับจ้าง”

การขยายตัวของจักรยานยนต์รับจ้างเป็นผลมาจาก

  1. ระบบการขนส่งสาธารณะที่ไม่ทั่วถึงและเพียงพอ
  2. การจัดวางผังเมืองที่ไม่เป็นระบบ
  3. การเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตเมืองอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรและความเร่งรีบในการเดินทาง
  4. ราคาจักรยานยนต์ที่ไม่แพงมาก ทำให้สามารถประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้างได้ง่าย

ผู้เขียนได้รับทุนอุดหนุนวิจัยภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ศึกษาโครงการคนเมือง 4.0 : อนาคตการเดินทางของคนเมืองในเมืองหลักภูมิภาคของประเทศไทย

พบว่า ในปัจจุบันผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพมหานคร มีเกือบ 2 แสนคน แต่ละคนขับกัน 20-30 เที่ยวต่อวัน เมื่อรวมแล้วจักรยานยนต์รับจ้างทั้งหมดวิ่งรับส่งเป็นจำนวน 2-3 ล้านเที่ยวต่อวัน มากกว่าจำนวนเที่ยวของรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินรวมกัน 3 เท่า 

จักรยานยนต์รับจ้างจึงเป็นทางรอดเดียวของระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเมืองที่ต้องการเส้นเลือดฝอยมารองรับ ในขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะอื่นไม่สามารถเป็นระบบขนส่งรอง (feeder) ที่สนับสนุนรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินได้ 

จักรยานยนต์รับจ้าง : เส้นเลือดฝอยของคนเมือง | เปี่ยมสุข สนิท

ภาพโดย ขนส่งมวลชน

จักรยานยนต์รับจ้างเท่านั้นที่จะช่วยขนส่งคนจากบ้านไปสู่ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า และสถานที่ทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หากปราศจากคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง กรุงเทพมหานครจะเป็นอัมพาตทันที

 

จากแนวโน้มการพัฒนาบริการขนส่งตามแนวคิด MaaS ของบริษัทเอกชน ทำให้ในอนาคตจักรยานยนต์รับจ้างจะกลายเป็นระบบขนส่งรองเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน เมื่อระบบขนส่งมวลชนทางรางมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นตามแผนแม่บทฯ จำนวนสถานีรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 100 สถานี เป็น 300 สถานี ย่อมหมายถึงจำนวนวินรถจักรยานยนต์รับจ้างจะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย 

ดังนั้น การบูรณาการจักรยานยนต์รับจ้างเป็นระบบขนส่งรองของระบบขนส่งมวลชน จึงสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้แก่ระบบขนส่งมวลชน การพัฒนาการให้บริการของจักรยานยนต์รับจ้างให้มีคุณภาพทั้งในด้านราคา การบริหารจัดการ และความปลอดภัยจึงเป็นคำตอบสำคัญประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืนในภาคมหานคร

  • จักรยานยนต์รุ่งโรจน์ในยุคอีคอมเมิร์ซ

การเติบโตของธุรกิจบริการขนส่งผ่านแอปพลิเคชัน ทั้งรถส่วนบุคคลร่วมโดยสาร (ride-hailing service) และธุรกิจบริการส่งของ สร้างโอกาสในการใช้จักรยานยนต์เพื่อการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้สมัครทำงานในธุรกิจส่งของ เช่น GrabBike เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสามารถทำเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ 

ในปัจจุบัน พบว่ามีผู้ขับจักรยานยนต์เพื่อส่งผู้โดยสาร พัสดุ เอกสารและอาหารให้กับหลายบริษัทในเวลาเดียวกัน เริ่มจากบริการของแอปพลิเคชันหลัก ได้แก่ LINEMAN และ GrabBike ต่อมามีแอปพลิเคชันหลักส่งพัสดุและเอกสารเพิ่มขึ้นในตลาด อาทิ Banana Bike, Lalamove, SendRange, Skootar, GrabBike (Delivery), SCG Express และ Deliveree เป็นต้น

จักรยานยนต์รับจ้าง : เส้นเลือดฝอยของคนเมือง | เปี่ยมสุข สนิท

ภาพโดย Bloomberg

ธุรกิจออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันบริการส่งสินค้าออนไลน์ต้องการความรวดเร็วในการส่ง จึงทำให้การขนส่งด้วยจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นการขนส่งช่วงสุดท้าย (last mile delivery) ของสินค้าออนไลน์ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ธุรกิจส่งของเริ่มเข้ามาให้บริการจัดส่งอาหารมากขึ้นด้วยแกร็บฟู้ด (GrabFood) เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงสุดในบรรดาบริการทั้งหมดของแกร็บประเทศไทย 

ในปัจจุบันมีผู้ที่เปลี่ยนอาชีพมาทำงานหลักหรือทำงานเสริมเป็นผู้รับส่งอาหารเป็นจำนวนมาก นอกจากการส่งอาหารแล้ว แอปพลิเคชันหลักชื่อดังอย่าง LINEMAN ยังให้บริการรับส่งเอกสารและส่งสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-11 อีกด้วย ในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันส่งอาหารให้บริการในกรุงเทพมหานคร อาทิ Get, Food Panda, GrabFood, Skootar, Honestbee, Haapy fresh และ Now เป็นต้น

ทุกวันนี้จึงเป็นยุคทองในการหารายได้ของคนขับรถจักรยานยนต์อย่างแท้จริง และมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างมากในอนาคต โดย Grab พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ Cloud kitchen คือ โมเดลการรวบรวมร้านอาหารหลายร้านเข้ามาไว้ในครัวกลาง เพื่อช่วยขจัดช่องว่างและข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้งของร้านอาหารในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งเพิ่มตัวเลือกด้านอาหารที่หลากหลายยิ่งขึ้นผ่านการใช้ดาต้าของ GrabFood

GrabKitchen ได้เริ่มจัดตั้งครั้งแรกในอินโดนีเซียและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงนำเอาโมเดลนี้มาขยายต่อในไทย เนื่องจากประเทศไทยเองก็เป็นตลาดอาหารที่ค่อนข้างใหญ่มากสำหรับ Grab การเติบโตของธุรกิจบริการส่งอาหารจะทำให้บริการขนส่งด้วยจักรยานยนต์เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

จักรยานยนต์รับจ้าง : เส้นเลือดฝอยของคนเมือง | เปี่ยมสุข สนิท

  • กรุงเทพมหานคร : เมืองรถจักรยานยนต์ชั่วกัลปาวสาน

จากการพัฒนาบริการขนส่งตามแนวคิด MaaS ของเอกชนและการเติบโตของธุรกิจส่งสินค้า ทำให้เห็นภาพอนาคตฐานของภาคมหานครกรุงเทพ จะเป็นเมืองจักรยานยนต์ไปอีกนาน จากสถิติจำนวนจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีละ 1 แสนคัน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลักของมหานครกรุงเทพในด้านโครงข่ายถนนและประสิทธิภาพของระบบขนส่งสาธารณะ 

เนื่องจากระบบถนนที่มีแต่สายหลักไม่มีสายรอง ถนนในกรุงเทพฯ จึงมีตรอกซอกจำนวนมาก ส่งผลให้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพไม่สามารถเกิดขึ้นได้ รถเมล์ไม่สามารถเข้าไปในซอย การเดินทางจากบ้านมายังป้ายรถเมล์หรือสถานีรถไฟฟ้าจึงต้องอาศัยรถจักรยานยนต์รับจ้าง

เกิดการเดินทางหลายต่อ อันเนื่องจากการขยายตัวในแนวราบของเมือง ผู้คนอาศัยอยู่ชานเมืองไกลจากแหล่งงานที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองชั้นใน ทำให้ค่าเดินทางรวมราคาแพง อีกทั้งไม่มีการบูรณาการระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดภายในเมือง คนที่อาศัยอยู่ชานเมืองต้องอาศัยการเดินทางด้วยรถส่วนตัว จักรยานยนต์จึงทำหน้าที่เป็นยานพาหนะสำหรับเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลางที่อาศัยทั้งในและนอกเมือง ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของเมือง

นอกจากเหตุผลในเรื่องเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถซื้อรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล ยังมีเหตุผลอีกมากมาย เช่น ไลฟ์สไตล์ของการเดินทาง จักรยานยนต์นั้นประหยัดค่าน้ำมันมากกว่ารถยนต์ มีความคล่องตัวกว่า การหาที่จอดรถในเมืองใหญ่ได้ง่ายกว่า และประหยัดเวลาในการเดินทางได้มากกว่า

จึงเห็นคนจำนวนมากซื้อจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะส่วนตัว และใช้บริการจักรยานยนต์รับจ้างในการเดินทาง รวมทั้งบริการส่งพัสดุและส่งอาหารเพื่อประหยัดเวลาการเดินทาง ทุกวันนี้จักรยานยนต์จึงไม่ได้เป็นเพียงยานพาหนะในการเดินทางเท่านั้น แต่กำลังกลายเป็น “กองทัพมด” ที่สนับสนุนเศรษฐกิจเมืองยุคใหม่ท่ามกลางการเติบโตของเศรษฐกิจกิ๊ก (gig economy) และเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy)

จากการคาดประมาณปริมาณการเดินทางในภาคมหานครในอนาคต พบว่าการจราจรยังคงติดขัดอย่างมากในอนาคต เนื่องจากปริมาณรถยนต์ส่วนตัวยังคงเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การเดินทางของคนและการขนส่งสินค้ายังคงต้องพึ่งพาจักรยานยนต์ต่อไปตราบเท่าที่ปัญหาซูเปอร์บล็อก (super block) ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่รอการแก้ไขของภาคมหานคร.