ใครจะเป็นนายกฯ : ปัจจัยพื้นฐานผสานเทคนิค (1) | อิทธิ กวีพรสกุล

ใครจะเป็นนายกฯ : ปัจจัยพื้นฐานผสานเทคนิค (1) | อิทธิ กวีพรสกุล

แม้สังคมไทยยังมีข้อถกเถียงกันว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งล่าสุดซึ่งถือเป็นการ “เสียกรุง” ของ “สลิ่ม” มีนัยหรือส่งผลกระทบการเมืองระดับชาติหรือไม่ก็ตาม

แต่วิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำและกลยุทธ์การทำงานของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ก็ถูกนำไปเปรียบเทียบกับผู้นำที่อ้างว่ามาตามกติกาของรัฐธรรมนูญ (ซึ่งผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ต้องมี ส.ว. 250 คน มาทำหน้าที่ 5 ปีในช่วงการปฏิรูปประเทศ) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การต่อสู้ระหว่างความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “ประชาธิปไตย” สากลกับการพยายามรักษาสถานะเดิมของฝ่าย “อนุรักษนิยม” นับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย.2475 ยังไม่มีฝ่ายใดได้ชนะอย่างเด็ดขาด การเดินหน้าและยื้อยุดฉุดดึงที่ผ่านมาก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งเลือดเนื้อและชีวิต ปัจจุบันฝ่าย “อนุรักษนิยม” สามารถยึดกุมอำนาจปกครองผ่านผู้นำทหารที่สืบทอดจาก คสช.ภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตยแบบพันทาง (hybrid)
 

บทความนี้จะวิเคราะห์แนวโน้ม “ประชาธิปไตย” หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบวาระใน 24 ก.ย. 2565 (เชื่อว่าการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของฝ่ายค้าน 19-22 ก.ค. 2565 คงไม่สามารถทำอะไรรัฐบาล ซึ่งมีเสียงสนับสนุนมากกว่าฝ่ายค้าน) 

ทั้งนี้จะใช้เครื่องมือวิเคราะห์หลักทรัพย์ (หุ้น) ที่เรียกว่า อัตราส่วนฟิโบนัชชี (Fibonacci Ratio) หรือสัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) ผสานการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental)

ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์รวบรวมจากแหล่งเปิด (open source) เฉพาะอย่างยิ่ง รายชื่อนายกรัฐมนตรีของไทยจากวิกิพีเดีย (ปัจจุบัน ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีแล้วทั้งสิ้น 29 คน) นับเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่เริ่มวาระดำรงตำแหน่งโดยมติสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป (ชุดที่ 8-25) และพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากที่สุด

ในที่นี้อุปมา “พรรคการเมือง” เป็น “บริษัทจดทะเบียน” ในตลาดหลักทรัพย์ “จำนวน ส.ส.สูงสุด” คือ “ราคา” ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงจ่ายเพื่อซื้อ “นโยบายของพรรคที่ใช้หาเสียง” (พรรคเลือกคน ประชาชนเลือก ส.ส.) 

โดยมีสมมติฐานว่า

  • “ราคา” เป็นผลรวมข่าวสารทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ผลการดำเนินนงาน
  • การเคลื่อนไหวของราคาเป็นแนวโน้มในช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มใหม่
  • พฤติกรรมของนักลงทุนจะยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกับพฤติการณ์ลงทุนในอดีต เช่นเดียวกับการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ผู้เขียนได้นำข้อมูลผลการเลือกตั้งทั่วไปตั้งแต่ปี 2500-2565 และรายชื่อพรรคที่ได้ ส.ส. สูงสุด บันทึกในตารางโปรแกรม MS Excel โดยสรุปข้อมูลตัวเลขให้เข้าใจง่ายและมองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ด้วยการสร้างกราฟเส้น เพื่อดูแนวโน้มการเคลื่อนไหวขึ้นลงของจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งสูงสุดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นลากเส้นอัตราส่วน Fibonacci Retracement ทาบทับบนเส้นกราฟ เพื่อวิเคราะห์การถดถอย (ย่อตัว) ของราคา หรือ “ประชาธิปไตย” 

ใครจะเป็นนายกฯ : ปัจจัยพื้นฐานผสานเทคนิค (1) | อิทธิ กวีพรสกุล

ในภาพพื้นที่ด้านซ้ายคือ อดีต ด้านขวาคือ ปัจจุบัน ส่วนที่ยังไม่เห็นคือ แนวโน้มในอนาคต เส้นกราฟ “ราคา” หรือจำนวน ส.ส. ของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งสูงสุดและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเคลื่อนที่ในลักษณะไซด์เวย์อยู่ในกรอบล่างนับตั้งแต่ปี 2500-2539 (สภาฯ ชุดที่ 8-20) จากจุด A ไป B เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยขึ้นสู่จุดสูงสุด (พรรคไทยรักไทย) แต่ถูกดิสรัปด้วยการรัฐประหารปี 2549 และศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ 

การถดถอย (retracement) เป็นไปตามอัตราส่วนฟิโบนัชชี โดยลงมาพักตัวแรงเขต 2 ใน 3 ที่จุด C1 บริเวณเส้น 61.8% พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นอวตารของพรรคไทยรักไทย เคลื่อนไหวแบบไซด์เวย์มาระยะหนึ่งแล้วโดนยุบ หลังจากนั้นได้อวตารมาเป็นพรรคเพื่อไทย โดยทะยานขึ้นทะลุเส้น 50% เข้าสู่เขต 1 ใน 3 การรัฐประหารในปี 2557 ไม่ได้มีการยุบพรรคการเมือง 

สำหรับสภาฯ ชุดที่ 25 แม้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.สูงสุดแต่ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากมี ส.ว. 250 คนร่วมออกเสียงลงมติ อีกทั้งยังมีเรื่องแปลกๆ เช่น บัตรเลือกตั้งหาย คะแนนเขย่ง ฯลฯ ปัจจุบัน ประชาธิปไตยถดถอยลงมาลึกถึงจุด C2 เส้น 78.6% อาจลงต่อเพราะเจอ “งูเห่า” ในบ้าน โอกาสเด้งขึ้นเป็นไปได้ยากมาก ถ้าเป็นหุ้นก็ต้องตัดทิ้ง 

ตลอดระยะเวลา 8 ปีของการถูกกดทับในกรอบไซด์เวย์ พลังของความต้องการเปลี่ยนแปลงไม่เคยเหือดหาย ปรากฏการณ์ “ชัชชาติฟีเวอร์” ส่งผลกระทบการเมืองระดับชาติอย่างแหลมคมจนผู้นำสืบทอดอำนาจนั่งไม่ติด พิจารณาด้วยปัจจัยพื้นฐานประชาธิปไตยไทยขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าลงทุนมากที่สุด 

ในทัศนะของผู้เขียนหุ้น “เพื่อไทยกำลังจะเทิร์นอราวด์ด้วยเหตุผล

  • เป็นบริษัทที่ปรับตัวรับกระแสดิสรัปชันได้ดี ทั้งการอวตารปรับโครงสร้างและคิดนโยบายใหม่ ๆ
  • เจ้าของมีวิสัยทัศน์ “กระสุน” และ “สื่อ” ไม่ก้าวร้าวกับเจ้าของอำนาจแต่สู้ไปกราบไป
  • มีเครือข่ายสนับสนุนในต่างประเทศ
  • พร้อมร่วมมือกับบริษัทที่มีนโยบายคล้ายกัน (เคยมีบทเรียนการตั้งรัฐบาลพรรคเดียวแล้วมีคนอิจฉา)

ดูตามทรงกราฟยังไม่เห็นสัญญาณเบรกเอาท์ของพรรคเพื่อไทย ถ้าใช้อัตราส่วนฟิโบนัชชีวัดแนวต้าน ณ จุด C2 การทำนิวไฮแบบแลนด์สไลด์จะต้องใช้พลังอย่างมหาศาล แม้ผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองครั้งที่ 2/2565 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิดาโพล) ในส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนอันดับ 1 ร้อยละ 36.36 

แต่โพลล์ก็คือโพลล์ หรือประวัติศาสตร์กำลังเดินซ้ำรอย?