เมื่อศาลสูงสหรัฐไม่รับรองสิทธิทำแท้ง (อีกต่อไป) | ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
เสียงโห่ร้องด้วยความยินดีจากผู้ชุมนุมต่อต้านการทำแท้ง ที่หน้าอาคารศาลฎีกาแห่งสหรัฐ ทันทีที่ทราบคำวินิจฉัยที่ให้กลับบรรทัดฐานในคดี Roe v. Wade เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งนับได้ว่าเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐ และถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
คดี Roe v. Wade ซึ่งศาลฎีกาแห่งสหรัฐวินิจฉัยไว้ในปี 2516 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของสิทธิในการทำแท้งมาร่วมครึ่งศตวรรษ คดีดังกล่าวรับรองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ในการทำแท้งอย่างน้อยในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ แต่ก็ยังเปิดช่องให้มลรัฐสามารถตรากฎหมายเพื่อจำกัดการใช้สิทธิดังกล่าวในช่วงระยะเวลาถัดมาได้ ศาลให้เหตุผลว่า การทำแท้งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “สิทธิในความเป็นส่วนตัว (right to privacy)”
ซึ่งแม้จะไม่ปรากฏสิทธิดังกล่าวในตัวบทรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ก็สามารถอนุมานได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และมีผลผูกพันมลรัฐที่ไม่อาจตรากฎหมายมาจำกัดสิทธิดังกล่าวได้ นอกจากจะเป็นไปตามหลักศุภนิติกระบวน (Due Process) อันรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 14)
หลังจากนั้นในปี 2535 คดี Planned Parenthood v. Casey ก็เดินตามบรรทัดฐานของคดี Roe โดยเพิ่มเติมหลักในการพิจารณาว่ากฎหมายของมลรัฐที่มาจำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขในการทำแท้งจะต้องไม่สร้างภาระที่เกินสมควร (undue burden) ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ มิฉะนั้นก็ถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
(ภาพถ่ายโดย Derek French)
อย่างไรก็ดี การทำแท้งนับเป็นประเด็นการเมืองที่แหลมคมระหว่างสองขั้วการเมือง กล่าวคือ ฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการทำแท้งโดยอิงเหตุผลทางศีลธรรม กับฝ่ายเสรีนิยมที่สนับสนุนสิทธิในการกำหนดตนเองของหญิงที่ตั้งครรภ์ จึงมีความพยายามท้าทายบรรทัดฐานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดจากการเปลี่ยนแปลงดุลยภาพในศาลฎีกาแห่งสหรัฐ ซึ่งผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมพลิกกลับมามีจำนวนมากกว่าผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมในสัดส่วน 6 ต่อ 3 อันเป็นผลจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาเพิ่มในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนำไปสู่ผลลัพธ์ในคดีที่กำลังกล่าวถึงนี้
ในคดีดังกล่าว (Dobbs v. Jackson Women's Health Organization) มีประเด็นพิพาทว่ากฎหมายของมลรัฐมิสซิสซิปปี ที่ห้ามการทำแท้งภายหลังจากทารกในครรภ์มีอายุเกินกว่า 15 สัปดาห์ เป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในคำวินิจฉัยศาลฎีกายืนยันว่าสิทธิในการทำแท้งไม่ใช่สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ปรากฏบทบัญญัติใด ๆ ของรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิดังกล่าวไว้โดยตรง
อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าเป็นสิทธิที่มีรากเหง้าเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์หรือประเพณีของชาติ ในทางตรงกันข้าม การทำแท้งถือว่าเป็นอาชญากรรมตลอดมา จึงไม่อาจอ้างรากฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อสนับสนุนสิทธิในการทำแท้งได้
(ภาพถ่ายโดย Derek French)
นอกจากนี้ การอ้างอิงการทำแท้งกับ “สิทธิในการกำหนดตนเอง (right to autonomy)” ก็ไม่สามารถรับฟังได้ เนื่องจากเป็นการละเลยปัญหาทางศีลธรรมของการทำแท้งที่เป็นการทำลายชีวิตของทารกในครรภ์โดยตรง โดยสรุป ศาลฎีกาจึงเห็นว่าคำพิพากษาในคดี Roe รวมทั้งคดี Casey ไม่สามารถที่จะยึดเป็นบรรทัดฐานได้ แม้คำวินิจฉัยศาลฎีกาในคดีนี้จะยังไม่มีผลทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมายในทันที แต่ก็ไม่ต่างกับการให้ “ไฟเขียว” แก่มลรัฐที่จะตรากฎหมายมาควบคุมการทำแท้งได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
จึงสร้างความกังวลให้แก่หลายฝ่ายว่าจะทำให้หญิงตั้งครรภ์จะไม่อาจเข้าถึงการทำแท้งที่ถูกกฎหมายได้ ความกังวลดังกล่าวคงไม่เกินเลยไปจากความจริง เพราะในปัจจุบันมีอย่างน้อย 13 มลรัฐที่ตรากฎหมายห้ามการทำแท้งรอไว้ล่วงหน้าแล้ว ส่วนมลรัฐที่เหลือซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมครองเสียงข้างมากในสภาก็กำลังเตรียมออกกฎหมายห้ามการทำแท้ง หรือนำกฎหมายเก่ากลับมาใช้ใหม่ คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้นี้การทำแท้งจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายในมลรัฐประมาณครึ่งหนึ่งของสหรัฐ
ข้อมูลจากสถาบัน Guttmacher ซึ่งอ้างอิงโดยสำนักข่าว BBC แสดงให้เห็นว่ากฎหมายทั้งที่ออกมาใหม่และกฎหมายเก่าที่อาจจะกลับมามีผลใหม่ในกว่า 20 มลรัฐ เกือบทั้งหมดห้ามการทำแท้งตั้งแต่ระยะเวลาที่ตัวอ่อนปฏิสนธิ มีเพียงบางมลรัฐเท่านั้นที่ห้ามทำแท้งภายหลังระยะเวลา 6 สัปดาห์หรือหลังจากนั้น ทั้งยังพบว่า แม้กฎหมายของทุกมลรัฐจะอนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีที่จะอันตรายแก่ชีวิตของหญิงที่ตั้งครรภ์
มีเพียงบางมลรัฐเท่านั้นที่อนุญาตให้ทำแท้งในกรณีการตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนหรือจากเพศสัมพันธ์ในสายเลือดเดียวกัน แต่ในมลรัฐส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้ทำแท้งในกรณีดังกล่าว ซึ่งนับว่าเป็นเงื่อนไขที่เคร่งครัดมากทีเดียว นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าสิทธิอื่น ๆ ที่ศาลฎีกาได้เคยรับรองไว้ โดยเฉพาะสิทธิของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันอาจจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากอ้างอิงจากสิทธิในความเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไป
สำหรับประเทศไทย นับว่าโชคดีที่เรื่องสิทธิในการทำแท้งไม่ได้กลายเป็นประเด็นที่ต่อสู้กันดุเดือดมากเท่ากับในสหรัฐ นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดความผิดฐานทำให้แท้งลูกขัดต่อรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำแท้งได้ภายใต้หลักเกณฑ์เงื่อนไขที่เหมาะสม ก็ไม่ปรากฏว่าเกิดกระแสต่อต้านรุนแรงแต่อย่างใด
จึงอาจสรุปได้ว่า สิทธิในการทำแท้งในประเทศไทย ณ ปัจจุบันมีความมั่นคงพอสมควรแล้ว ในขณะที่สิทธิของหญิงที่จะยุติการตั้งครรภ์ในสหรัฐกลับมามีชะตากรรมที่ไม่แน่นอน ภายใต้กระแสอนุรักษนิยมที่หวนกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง
คอลัมน์ กฎหมาย 4.0
ผศ.ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์