โฟกัส “สมคิด” มุ่งแก้เศรษฐกิจ ไม่ใช่คนของ “ประยุทธ์-ทักษิณ”
หยอดออกมาทีละนิดแล้ว จังหวะก้าวเดินเกมเปิดตัว นักเศรษฐศาสตร์มือหนึ่ง ผู้ผลิตนโยบาย “ประชานิยม” จนคนไทยหลงใหลทั้งในยุครัฐบาล “ทักษิณ” พรรคไทยรักไทย และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จากบทสนทนาของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีหลายสมัย
“นิพิฏฐ์” เคยเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ประจำนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ อดีตรมว.วัฒนธรรม รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และส.ส.จังหวัดพัทลุงพรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ปัจจุบันย้ายมาอยู่พรรคสร้างอนาคตไทย
เขาโพสต์เฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ (15 ก.ค. 2565) ว่า
“ตอนบ่าย เมื่อปลายปี 2564 บ่ายวันหนึ่งเมื่อปลายปี 2564 ผมได้ปิดประตูคุยกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผมเรียกท่านว่า “อาจารย์”
ผมถามว่า มีคนส่วนหนึ่ง คิดว่าอาจารย์เป็นคนของพรรคไทยรักไทย อาจารย์ตอบว่า ผมเคยทำงานด้านเศรษฐกิจให้คุณทักษิณ ตอนท่านเป็นนายกรัฐมนตรี และร่วมกันทำนโยบายหลายเรื่อง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ แต่ต่อมาผมออกจากคุณทักษิณ โดยไม่ได้โกรธเคืองอะไรกัน
ผมถามต่อว่า คนส่วนหนึ่งก็คิดว่า อาจารย์เป็นคนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจารย์ตอบว่า ผมเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็ทำนโยบายเศรษฐกิจให้พลเอกประยุทธ์ เช่น สวัสดิการแห่งรัฐ, คนละครึ่ง, เที่ยวด้วยกัน, เพิ่มค่าครองชีพให้ผู้สูงอายุ ฯลฯ นโยบายเหล่านั้น ทุกวันนี้รัฐบาลก็ยังใช้อยู่
ผมถามว่า แล้วอาจารย์ก็ออกมาจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ คำถามนี้ ทำให้อาจารย์หันขวับมาทันที และตอบว่า ผมไม่ได้ถูกไล่ออก หรือ ถูกให้ออกนะ แต่ผมและคณะ(ที่เรียกว่า 4 กุมาร) ออกมาเอง
ผมถามว่า ทำไมอาจารย์ออกมา อาจารย์ตอบว่า.....(ผมไม่เขียนก็แล้วกัน)
ผมถามต่อว่า สรุปแล้ว อาจารย์เป็นอะไรแน่ เพราะเคยทำนโยบายให้คุณทักษิณ และ เคยทำนโยบายให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจารย์ตอบว่า ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ผลิตนโยบายเศรษฐกิจที่คิดว่าอะไรควรจะเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และเป็นนโยบายที่ยั่งยืน สิ่งไหนที่สวนทางกับหลักคิดนี้ ผมก็ต้องถอนตัวออกมา
อาจารย์พูดถึงโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 เยอะมาก และยกมือไหว้บอกว่า เป็นโครงการพระราชดำริที่ดีมาก ช่วยคนจนได้เยอะ
ผมถามว่า อะไรที่อาจารย์คิดว่า ต้องรีบทำ อาจารย์ตอบทันทีว่า “ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ผมถามว่า คนส่วนใหญ่พูดเรื่อง “การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง” ผมไม่เห็นใครพูดเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อาจารย์ตอบว่า ปัญหาทางการเมือง มันมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงต้องมาพูดเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่งั้นแก้ปัญหาทางการเมืองไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยที่นับวันห่างออกไปเรื่อยๆ
ผมถามคำถามสุดท้ายว่า ควรทำนโยบายทางเศรษฐกิจอะไรบ้าง อาจารย์อธิบายต่ออีก 2 ชั่วโมง.... จนผมบรรลุธรรมด้านปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนี้ ส่วนประเทศนี้ควรทำอะไรบ้างไว้ให้อาจารย์พูดเองดีกว่า”
เห็นได้ชัดว่า นี่คือ การเปิดตัวในแบบของการเปิดประเด็นข้อสงสัย พร้อมไขข้อข้องใจไปในตัว โดยเฉพาะข้อสงสัยที่เกี่ยวกับการเป็นคนของ “ทักษิณ” หรือ “ระบอบทักษิณ” ที่ชนชั้นกลางจำนวนมาก ยังมีภาพจำที่ไม่ดีกับการทุจริตเชิงนโยบาย หรือไม่ เป็นคนของประยุทธ์ หรือ “ระบอบประยุทธ์” ที่คนรุ่นใหม่ และสังคมตั้งข้อรังเกียจ กรณีสืบทอดอำนาจเผด็จการ หรือไม่
ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ได้คำตอบจากปากของ “สมคิด” เอง ว่าเขามีส่วนในการทำนโยบาย “ประชานิยม” สมัยรัฐบาล “ทักษิณ” เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ
และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็ได้ผลักดันนโยบายที่ประชาชนกำลังนิยม อย่างสวัสดิการแห่งรัฐ, คนละครึ่ง, เที่ยวด้วยกัน, เพิ่มค่าครองชีพผู้สูงอายุ ฯลฯ
ที่สำคัญ คือ จุดยืนที่ว่า “ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ผลิตนโยบายเศรษฐกิจที่คิดว่าอะไรควรจะเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ และเป็นนโยบายที่ยั่งยืน สิ่งไหนที่สวนทางกับหลักคิดนี้ ผมก็ต้องถอนตัวออกมา”
สำหรับดร.สมคิด หลายคนอาจรู้จักแต่เฉพาะในช่วงเข้าร่วมกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สมัยแรกๆ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และรองนายกฯ
แต่หลายคนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองก่อนหน้านั้น อาจไม่รู้ว่า เขาเคยเป็น “กุนซือ” ด้านเศรษฐกิจฐานราก หรือ “รากหญ้า” ที่เรียกกันสมัยนั้น ให้กับ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร สมัยก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ทั้งยังเป็นคนที่ปลุกกระแสนิยม “ทักษิณ” จากนโยบาย “ประชานิยม” หลายอย่าง จนชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ หรือ “ถล่มทลาย”
ยิ่งกว่านั้น เขายังเป็น 1 ใน 23 ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ร่วมกับ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2541
และด้วยความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับความเก่งด้าน “การตลาด” ทำให้การคิดค้นนโยบายแปลกใหม่ของพรรคไทยรักไทย สร้างจุดขายให้กับ “คนรากหญ้า” ได้เป็นอย่างดี จนทำให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้คะแนนถึง 11 ล้านเสียง และกวาดที่นั่งส.ส.เข้าสภาถึง 248 คน
ไม่เพียงเท่านั้น ในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2548 พรรคไทยรักไทย คว้าที่นั่งในสภาฯถึง 377 ที่นั่ง(จากจำนวนทั้งหมด 500 ที่นั่ง) คิดเป็นร้อยละ 60.48 ในขณะที่พรรคคู่แข่งอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เพียง 96 ที่นั่ง
สำหรับ นโยบายประชานิยม ที่ถือว่า ดร.สมคิด มีบทบาทอย่างสูง ในการขับเคลื่อนในยุคนั้น
เป็นความร่วมมือกับ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ปัดฝุ่น “นโยบายประชานิยม” ของบุญชู โรจนเสถียร ที่เคยเสนอต่อ พล.ต.ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ใช้เป็นนโยบายของพรรคกิจสังคมในอดีต
เช่น นโยบายช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบต่างๆ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายค่าโดยสารฟรี นโยบายการรักษาพยาบาลฟรี แต่ปรับแนวนโยบายให้เป็นไปตามแนวคิด 30 บาทรักษาทุกโรคของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วใช้กลยุทธ์ทางการตลาดทำการหาเสียง จนประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่า “สมคิด” มีบทบาทสูงในรัฐบาล “ทักษิณ” เพราะเริ่มจากได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
จากนั้น มีการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก็ดันดร.สมคิด เป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รวมทั้งการปรับครม.อีกหลายครั้ง แต่ยังคง มีดร.สมคิด อยู่ในตำแหน่งสำคัญเรื่อยมา กระทั่งตำแหน่งสุดท้ายในรัฐบาลทักษิณ คือรองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์
ขณะที่ “นิพิฏฐ์” เปิดตัว “สมคิด” ผ่านเฟซบุ๊ก อีกด้านหนึ่ง พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรค ก็ได้เปิดตัว ผู้ประสานงาน 26 เขต หรือ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ซึ่งมีทั้งอดีตส.ส.-อดีตผู้สมัครส.ส.ร่วมทัพกันอย่างคึกคัก
“สุรนันทน์” ในฐานะ ประธานภาคกรุงเทพฯ กล่าวถึงที่มาว่า ได้มีการจัดสัมมนาผู้ประสานงานพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2565 ซึ่งผู้ประสานงานพื้นที่ คือผู้ที่แสดงเจตจำนงลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ “สุรนันทน์” ยังเผยด้วยว่า พรรคอยากเห็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล จนถึงจังหวัดภาคตะวันออกภายใต้โครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) เติบโตเป็นมหานครของโลก (Greater Bangkok Metropolis) ซึ่งจะเป็นหัวรถจักรทางเศรษฐกิจ ที่มีความสมดุลทั้งพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย และการรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันกรุงเทพฯ จะเป็นกลไกอำนวยความสะดวกและสนับสนุน (Facilitator) การเจริญเติบโตของจังหวัดอื่นๆ ทุกจังหวัด (Bangkok Connect) ตามนโยบายพรรคที่จะทำให้ทุกจังหวัดมีโอกาสสร้างความเจริญเติบโตภายใต้เงื่อนของแต่ละจังหวัด (77 Growth Engine)
สำหรับผู้ประสานงานพื้นที่ กทม. พรรคสร้างอนาคตไทย ประกอบด้วย
1. รองศาสตราจารย์ ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ เขตบางซื่อ ซึ่งอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย
2. ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร เขตพญาไท ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย และ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคภราดรภาพ
3. นายธันวา ไกรฤกษ์ เขตสวนหลวง เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ
4. นายอาทิตย์ ชุณหชัชราชัย เขตสัมพันธวงศ์
5. นายณัฐกานต์ สุวรรณะโสภณ เขตบางรัก
6. นายพงศพัศ กตคุณวิสิทธิ์ เขตบางคอแหลม
7. นางสาวพชญา ปรีฎาพาก เขตคลองเตย
8. นายธนพิพัฒน์ กรกมลพฤกษ์ เขตดุสิต
9. นายวรวุธ ลีลานภาศักดิ์ เขตดินแดง
10. นายอัทรัณ มานุพีรพันธ์ เขตลาดพร้าว
11. ดร.ฐาปนี โปร่งรัศมี LGBTQ+ เขตจตุจักร
12. นายพิเชฐ เดชอรัญ เขตบางเขน
13. นายมนต์ชีพ ศิวะสินางกูร (ครูเป็ด) เขตบางกะปิ
14. นายอัศวิน คูร์พิพัฒน์ เขตบึงกุ่ม
15. ดร.พันธุ์ปิติ โพธิ์วิจิตร เขตมีนบุรี
16. นายอภิชาติ จรัสโภคา เขตประเวศ
17. นางสาววรัญญา แอนดาริส เขตสะพานสูง
18. นายตรีสิทธิ์ ศิริวรรณ เขตพระโขนง
19. นายปิยวุฒิ จิรธนาภา เขตธนบุรี
20. นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ เขตจอมทอง
21. นายอุดร ชาหอม เขตราษฎร์บูรณะ
22. นายเศรษฐสรร จันทร์ทอง เขตบางขุนเทียน
23. นายยุทธนา โตอาจ เขตทวีวัฒนา
24. นางสาวปภัสรินทร์ กีรติอัคราวัชร์ เขตบางแค
25. ทันตแพทย์กันตพงศ์ ดีชัยยะ เขตตลิ่งชัน
26. นายพัลลภ ปิยะตระกูล เขตบางกอกน้อย
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก่อนหน้านี้(26 พ.ค.2565) คณะของอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย เดินทางไปเปิดตัว ชัยมงคล ไชยรบ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร เขต 4 ที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
นายอุตตม สาวยานน กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า ทางพรรคพร้อมที่จะส่งชื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค ยืนยันว่า นายสมคิด มาแน่ เพราะตอนนี้มองว่าหมดเวลาของรัฐบาลชุดปัจจุบันแล้ว
เช่นเดียวกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ย้ำว่า พรรคไม่มีความขัดแย้งกับพรรคการเมืองใด และเชื่อว่าวันนี้พี่น้องชาวอีสานก็เบื่อหน่ายกับความขัดแย้ง จึงพร้อมเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ประเทศดีขึ้น
คนอีสานรู้จักชื่อเสียงของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นอย่างดี เนื่องจากสมคิดเข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกในฐานะ “กุนซือ” พรรคไทยรักไทย ในยุคนโยบายประชานิยมเฟื่องฟู เคียงคู่ทักษิณ ชินวัตร โดยสมคิด เป็นหนึ่งในกลุ่มคนผู้ร่วมบุกเบิกพรรคไทยรักไทย ทำคลอดนโยบายประชานิยม เน้นเอาใจรากหญ้า
พูดได้ว่า เอาต้นตำรับ “ประชานิยม” ไปขายกับคนอีสานเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก “แกนนำ” พรรคสร้างอนาคตไทย เคยร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์ จึงถูกผลักมาอยู่กับฝ่าย “ประยุทธ์” หรือ เป็น “นั่งร้าน” ให้เผด็จการสืบทอดอำนาจ
เรื่องนี้ในระหว่างการแถลงเปิดตัวพรรคภายใต้คำขวัญ “ฟื้นเศรษฐกิจ สร้างอนาคตประเทศ” นายอุตตมกล่าวตอนหนึ่งว่า พรรคสร้างอนาคตไทยไม่เป็นแค่พรรคการเมือง แต่จะเป็น “พื้นที่เปิด” ให้ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย มาร่วมฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นประเทศ และขับเคลื่อนอนาคตเพื่อคนรุ่นต่อไป
เขาอ้างถึงเสียงสะท้อนจากผู้คนในหลายแวดวงที่ “อยากเห็นสมการการเมืองเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่นอีกครั้งหนึ่ง” กลายเป็นที่มาของการทำพรรคการเมืองใหม่
“การทำงานของเรา เราจะไม่ซ้ายสุดขั้ว ไม่ขวาสุดโต่ง เราจะไม่โกง ไม่ปล้นชาติ เราอาสาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้คนไทย” นายอุตตม กล่าว
สำหรับคำว่า ไม่ซ้ายสุดขั้ว ไม่ขวาสุดโต่ง ตามคำอธิบายของนายอุตตมคือ ไม่เอนไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อให้พรรคสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งใดๆ ที่จะทำให้ไม่สามารถทำงานได้
ส่วนความแตกต่างจากพรรคอื่น นายอุตตมและนายสนธิรัตน์ ตอบตรงกันว่า “จุดแตกต่างคือพรรคนี้จะมุ่งหน้าสร้างและฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ”
รวมถึงปมบทบาท “กลุ่มสี่กุมาร” (อุตตมและสนธิรัตน์ เป็นสองในสี่ และมีสมคิดเป็นพี่ใหญ่) ในอดีต ที่พวกเขาเคยร่วมรัฐบาลภายหลังรัฐประหาร 2557, ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า “สืบทอดอำนาจ” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และยังเป็นผู้ “แห่ขบวนขันหมาก” ไปเทียบเชิญหัวหน้า คสช. มาเป็นนายกฯ ในบัญชีของ พปชร. ก่อนการเลือกตั้ง 2562 ทำให้อาจมีมุมมอง “ไม่เป็นประชาธิปไตย” หรือไม่นั้น
“สนธิรัตน์” เห็นว่า ความเป็นประชาธิปไตยในมุมมองของเขา โดยยึดเอารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งในวันที่ทำ พปชร. ก็ทำบนพื้นฐานการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ไม่ต้องการนำไปสู่ความขัดแย้ง จึงอาสาทำพรรคเพื่อให้สอดคล้องกัน
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือการเดินทางเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเพราะมีกฎกติกา ส่วนการที่เราทำงานกับใคร ต้องย้อนไปว่า เราทำงานในฐานะ “เทคโนแครต” การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เราสร้างพรรคการเมือง อาสาประชาชนลงเลือกตั้ง เรายืนหยัดอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นเราก็คงไม่ทำพรรควันนี้” นายสนธิรัตน์ กล่าว
พร้อมยืนยันว่า “พรรคนี้จะเป็นพรรคประชาธิปไตย และเคารพการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน”
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ สถานการณ์การเมืองไทย ที่เป็นอยู่ การมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองเป็นหลัก หรือ เรียกร้องประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ไม่แน่ว่า จะประสบความสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทันการณ์ ที่จะช่วยให้ประชาชนคนไทยที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอย่างหนัก ลืมตาอ้าปากและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้หรือไม่
เพราะอย่าลืมว่า สังคมไทยเติมโตมากับ “ระบบอุปถัมภ์” อย่างยาวนานหลายร้อยปี ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรีบเร่ง ย่อมเป็นไปได้ยาก และมีอุปสรรคมากมาย
ถ้าไม่สำเร็จในรุนเรา รุ่นลูกเรา หลานเรา... ยังอยู่ใน “วังวน” ขัดแย้งแตกแยกเรื่อยไป ขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจ การให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนผู้ด้อยโอกาส คนยากคนจน ถูกหมกเอาไว้ใต้พรม ขณะที่นักการเมือง ยังคง “ลอยตัว” เสวยสุขบนความทุกข์ทนไม่ต่างจากที่เป็นอยู่ อะไรจะเกิดขึ้น
สิ่งที่คนการเมืองจะต้องถามตัวเองและหาคำตอบให้ชัดก็คือ เราจะยึดโยงอยู่กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ไม่ว่าจะยาวนานแค่ไหน หรือ ยึดโยงอยู่กับประชาชน ซึ่งปัญหาใหญ่ของพวกเขา คือ “เศรษฐกิจปากท้อง” อะไรต้องมาก่อน อะไรไปพร้อมกันได้ ที่คนไทยพร้อมก้าวเดินไปด้วยกัน คงไม่ต้องถามว่า อะไรดีหรือไม่ดีกว่ากัน!?