ธุรกิจเอสเอ็มอีจะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร

ธุรกิจเอสเอ็มอีจะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร

คงเป็นที่ได้สัมผัสจริงด้วยตัวเองกันแล้วว่า “ปรากฏการณ์โลกร้อน” ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ และภูมิอากาศของโลกมีความแปรปรวนอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

ล้วนเป็นสาเหตุที่มาจากการที่บรรยากาศของโลกปัจจุบันถูกปกคลุมด้วย “ก๊าซเรือนกระจก” ที่กักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกไม่ได้สะท้อนความร้อนถ่ายเทออกไปยังอวกาศนอกโลก

อันเป็นผลจากกิจกรรมที่มนุษย์คิดค้นสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของมนุษย์สะดวกสบายมากขึ้น

กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมทางธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ถือได้ว่า มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการเพิ่มปริมาณของ “ก๊าซเรือนกระจก” จนทำให้สมดุลของบรรยากาศตามธรรมชาติสูญเสียไปจนเป็นเหตุทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน

“ก๊าซเรือนกระจก” มีหลายชนิดแตกต่างกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดค่ากลางเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับวัดความรุนแรงต่อการทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน โดยให้วัดเทียบกับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่มนุษย์ปล่อยออกสู่บรรยากาศมากที่สุด และเรียกปริมาณนี้ว่า “หน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”

ดังนั้น ในปัจจุบัน ก็จะได้ยินชื่อ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ก๊าซคาร์บอน” หรือ “คาร์บอน” เมื่อจะบ่งบอกถึงการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” หรือ “ก๊าซโลกร้อน”

แหล่งสำคัญของการทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางธุรกิจการค้า ได้แก่ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ในรถยนต์ เรือเดินสมุทร เรือโดยสาร เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรกลในงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น ตัวชี้วัดมาตรฐาน กำหนดว่า การใช้น้ำมันเบนซิน 1 ลิตร จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นจำนวน 2.2376 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นต้น

หน่วย กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จะเขียนย่อ ๆ เป็นสัญลักษณ์สากล ว่า KgCO2e

ดังนั้น การจะเปรียบเทียบว่า ธุรกิจใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่ากัน ก็จะดูจากตัวเลข จำนวนกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ที่แต่ละธุรกิจปล่อยออกมาในเดือนหนึ่ง ๆ หรือในปี หนึ่ง ๆ นั่นเอง

เพื่อนำมายกย่องว่า ธุรกิจใดที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือธุรกิจใดที่ยังคงทำตัวเป็น “ผู้ร้าย” ตัวจริงในการทำลายสภาวะแวดล้อมของโลก

ตัวเลขในทำนองเดียวกันของกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่

น้ำมันดีเซล 1 ลิตร = 2.7446 KgCO2e

ก๊าซ LPG 1 ลิตร = 1.6812 KgCO2e

น้ำมันเตา = 3.0883 KgCO2e

การใช้ไฟฟ้า 1 หน่วย kWh = 0.5821 KgCO2e

การเติมน้ำยาแอร์ R-22 จำนวน 1 กิโลกรัม = 1,810 KgCO2e, R-134 = 1,100 KgCO2e, R-134a = 1,430 KgCO2e

การเดินทางเพื่อธุรกิจ เช่น การไปประชุม สัมมนา เยี่ยมลูกค้า และการเดินทางมาทำงานของพนักงาน

กรณีรถยนต์น้ำมันเบนซิน อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย (กิโลเมตร/ลิตร) = 14.763

น้ำมันดีเซล = 11.111

รถกระบะบรรทุก = 6.369

รถ LPG = 8.929

รถ NGV = 11.905 (กม./กก)

รถตู้โดยสารดีเซล = 10.204

รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) = 2.850

จักรยานยนต์ 4 จังหวะ = 37.640, 2 จังหวะ = 32.435, ฯลฯ

การเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารภายในประเทศ

เฉลี่ยต่อคนต่อกิโลเมตร = 0.1733 KgCO2e

เครื่องบินระยะสั้นระหว่างประเทศ = 0.0980 KgCO2e

ระยะยาวระหว่างประเทศ = 0.1143 KgCO2e

การกำจัดกากขยะมูลฝอยภายในกิจการเอง จำนวน 1 ตัน จากขยะ

ประเภทกระดาษ/กล่องกระดาษ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก = 2.93 KgCO2e

ประเภทเศษผ้า = 2.00 KgCO2e

ประเภทเศษอาหาร = 2.53 KgCO2e

ประเภทเศษไม้ = 3.33 KgCO2e

ประเภทยางและหนัง = 3.13 KgCO2e ส่วนกรณีจ้างออกไปกำจัดภายนอก ให้คิดเพิ่มจากการใช้เชื้อเพลิง หรือระยะทางจากการขนส่งด้วย

จะเห็นได้ว่า ข้อมูลโดยละเอียดจะสามารถหาได้อย่างครบถ้วนสำหรับทุกกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี และเปิดเผยให้ทราบโดยทั่วไปโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): www.tgo.or.th. ซึ่งจะช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจที่ต้องการข้อมูลหรือข้อแนะนำในการควบคุมและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองด้วย

เจตนารมณ์ในการช่วยรักษ์โลกของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี ยังถือได้ว่าเป็นการกระทำแบบสมัครใจหรืออาสาสมัคร โดยยังไม่มีกฎหมายหรือกฎข้อบังคับมาควบคุมเข้มงวดในขณะนี้

ซึ่งหากเจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวิสัยทัศน์ มองเห็นเรื่องของการตอบแทนสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม และต้องการมีส่วนร่วมแสดงออก ก็จะสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการติดตามสภาวะการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจการของตนเอง และเมื่อมีข้อมูลพื้นฐานระดับหนึ่งแล้ว

ก็จะสามารถวางแผนหรือกำหนดกลยุทธ์การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำได้จริงต่อไปในอนาคต

เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก และสะท้อนกลับมาทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน เช่นกัน!!!!