ความเหมือนของศรีลังกากับไทย โดย สมหมาย ภาษี

ความเหมือนของศรีลังกากับไทย โดย สมหมาย ภาษี

ผมเข้าใจว่าตอนนี้คนไทย ทั้งประเทศได้รับรู้ข่าวที่ว่าประเทศศรีลังกา ที่มีพลเมือง 22 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเหมือนคนไทย กําลังจะล่มสลายด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่แทบจะไม่มีเงินทุนสํารองระหว่างประเทศเหลืออยู่เลย ทําให้ประชาชนทั้งประเทศเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส

ประเทศไทยเราเอง ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว ก็มีสภาพคล้ายกับศรีลังกาขณะนี้คือ ต้องเผชิญกับนํ้ามันแพง และเงินทุนสํารองระหว่างประเทศร่อยหรอลงมากเต็มที แต่่ประชาชนก็ยังไม่เดือดร้อนแบบตอนนี้ เพราะตอนนั้นเป็นสมัยต้นๆของรัฐบาลที่มีท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีและมีท่านรัฐมนตรีคลังที่มากด้วยความรู้ความสามารถและเป็นรัฐมนตรีคลังที่ถือได้ว่า ซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้คือ ท่านสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคู่ใจของท่านนายกเปรม ทําให้มีการแก้ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของไทยจนจบสิ้นในเวลาอันสั้นแค่ไม่ถึง 2 ปีเท่านั้นเอง

ผมจําได้ว่าการดําเนินการแก้ไขเป็นไปด้วยดีแม้รัฐบาลต้องทําการลดค่าเงินบาทถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาใกล้ๆกัน แต่ประเทศไทยตอนนั้นยังสามารถไปกู้เงินจากตลาดการเงินต่างประเทศได้และทางธนาคารโลกก็ได้เข้ามาช่วยเหลือโดยการให้เงินกู้มาก้อนใหญ่เพื่อเสริมเงินทุนสํารองระหว่างประเทศของเรา ให้มีความมั่นใจว่าไทยเรายังพอมีเงินจ่ายค่านํ้ามันที่ต้องนําเข้าได้ไม่ถึงกับ ไอ เอ็ม เอฟ ต้องมานั่งกํากับชี้นิ้วให้ทําโน่นทํานี่เหมือนประเทศศรีลังกาขณะนี้หรือเหมือนประเทศไทยสมัยวิกฤตต้มยํากุ้ง ปี2540

ตามสภาพที่เห็น คนทั่วไปเข้าใจว่าศรีลังกาต้องล่มสลายและต้องกระเสือกกระสนอย่างน่าสมเพชไปอีกนาน เพื่อเอาประเทศให้รอดในขณะนี้ ก็เพราะเศรษฐกิจของเขาต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 40%ของ GDP ขณะที่ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับไม่เกิน 15 % ของ GDP เมื่อเจอโควิด-19 เล่นงานหนักต่อเนื่องถึง 3 ปีศรีลังกาก็ถึงกับทรุดลุกไม่ขึ้น

นอกจากเรื่องต้องพึ่งการท่องเที่ยวอย่างหนัก คนส่วนใหญ่ก็ได้เห็นต้นตอของการล่มสลายครั้งนี้ว่ามาจากการเมืองที่ผูกขาดและครอบงําโดยคนศรีลังกานามสกุล “ราชปักษา” มาเป็นเวลานานจนกระทั่งการทุจริตคอร์รัปชั่นเบ่งบานไปทั่วประเทศ 
 

ผมว่าเรื่องนี้คนไทยก็ได้นํามาเปรียบเทียบว่าคงไม่ต่างกับประเทศไทยที่นักการเมืองของเราเป็นคนนามสกุล “ชุดสีเขียวขี้ม้า” ได้ปกครองและครอบงําประเทศไทยมาหลายยุคหลายสมัยรวมเวลาแล้วก็ยาวนาน และทําให้การทุจริตคอร์รัปชั่นเบ่งบานและขยายตัวไปเรื่อยๆ จนไม่เห็นหนทางที่จะเจือจางลงแต่อย่างใด นักการเมืองของศรีลังกากับของไทยจึงไม่ต่างกันในเรื่องคราครํ่าไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ว่าแต่ว่าของไทยนํ้ายังลดไม่ตํ่าพอ ตอจึงยังไม่ค่อยผุดให้เห็นชัด

การล่มสลายของประเทศศรีลังกาครั้งนี้แน่นอนที่สุดหากไม่ยอมให้เป็นอัมพาตก็ต้องร้องขอความช่วยเหลือไปที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอ เอ็ม เอฟ เช่นเดียวกับประเทศไทยเมื่อครั้งเกิดวิกฤตต้มยํากุ้ง ในปี2540 นี่เป็นสูตรตายตัวที่่ต้องใช้กับทุกประเทศเมื่อเจอวิกฤตแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นประเทศอาร์เจนตินาในละตินอเมริกา หรือประเทศไหนๆ ในโลกก็เป็นแบบเดียวกัน

กรณีประเทศศรีลังกาปรากฏว่า ไอ เอ็ม เอฟ ได้เข้าไปจัดการตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ทันทีที่รับงาน ไอ เอ็ม เอฟ ก็ได้ออกแถลงการณ์เน้นให้เห็นถึงเรื่องสําคัญสุดๆที่จะต้องทําการแก้ไขหากจะให้ศรีลังกากลับฟื้นขึ้นอีกครั้ง คือ การปฏิรูปในระดับโครงสร้าง และการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะเห็นได้ว่าเรื่องที่ ไอ เอ็ม เอฟ ตั้งเป้าหมายหลักที่จะทํานั้นคล้ายคลึงกับการเข้ามาแก้ปัญหาไทยในวิกฤตเศรษฐกิจต้มยํากุ้งมาก 
 

แต่เรื่องการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น กรณีของไทยเขาไม่ได้เน้นชัดเหมือนของศรีลังกา แต่ได้เน้นเรื่องการต้องมีธรรมาภิบาลแทน ซึ่งเข้าใจได้ว่าในช่วงนั้น ไอ เอ็ม เอฟ ได้เห็นความซื่อสัตย์สุจริตในการบริหารราชการของรัฐบาลท่านพลเอกเปรม เมื่อไม่นานก่อนหน้านั้น อาจคิดว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ใช่ตัวปัญหาหลักของไทย โดยหาได้เฉลียวใจไม่ว่าหลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดัชนีคอร์รัปชั่นระดับโลกของประเทศไทยได้เพิ่มจากประเทศอันดับตํ่ากว่า 70 เป็นประเทศอันดับเกิน 100 อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีเค้าว่าจะลดน้อยถอยลงให้เห็น

เมื่อท่านผู้อ่านได้รับรู้สิ่งที่ผมได้แสดงความเห็นมาถึงตรงนี้โปรดเข้าใจให้ตรงประเด็นว่าผมไม่ได้พูดว่าไทยขณะนี้จะมีปัญหาเหมือนศรีลังกา แต่ขอให้ตระหนักว่าพฤติกรรมของนักการเมืองไทยที่บริหารประเทศชาติอยู่ในขณะนี้เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแบบศรีลังกาได้ในอนาคตที่ไม่นานเกินรอ และยังมีความเสี่ยงอีกมากที่ประเทศเราละเลยไม่เอาใจใส่่ มีแต่ทีท่าว่าจะเอาใจใส่เท่านั้น ไม่มีอะไรดีๆที่จริงจังให้ประชาชนจับต้องได้ หรือแม้แต่การสร้างความหวังในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

สิ่งที่เป็นความเสี่ยงมากที่สุดของรัฐบาลไทยในขณะนี้หรือในอนาคตที่ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้นําของประเทศก็ตาม คือ ความยากไร้ด้านการคลังของภาครัฐ ซึ่งจะมีแต่ความฝืดเคือง และเพิ่มความอึดอัดในการหาเงินมาบริหารจัดการเพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีของชนในชาติโดยรวม การเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 ของ GDP เป็นร้อยละ 70 ของ GDP ของรัฐบาลเมื่อเร็วๆนี้ยังไม่ใช่ช่องทางที่เอื้อให้รัฐหาเงินมาเติมในงบประมาณรายจ่ายให้คล่องตัวได้ตามที่คิด ซึ่งจะขอนําเรื่องนี้มาวิเคราะห์ให้เห็นในโอกาสหน้าต่อไปครับ