‘เอไอ’ กับการรับมือ-ป้องกัน โรคระบาดอุบัติใหม่
การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ทำให้มนุษยชาติต้องเร่งหาแนวทางรับมือและป้องกัน การรับมือและบรรเทาความเสียหายเป็นเรื่องที่ทำได้ในขอบเขตความสามารถของเอไอ
ปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ตั้งแต่โควิด-19 มาจนถึงฝีดาษลิงที่เริ่มกลับมาระบาดนอกพื้นที่ดั้งเดิมในแถบแอฟริกา กลายเป็นประเด็นที่องค์การอนามัยโลกและทั่วโลกต้องเตรียมหาทางรับมือ และสิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักคือโรคระบาดเหล่านี้ย่อมไม่ใช่การระบาดครั้งสุดท้าย และในอนาคตจะมีโรคระบาดใหม่ๆ รอเราอยู่เสมอ
การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ทำให้มนุษยชาติต้องเร่งหาแนวทางรับมือและป้องกัน ทั้งการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ฝีดาษลิง หรือโรคระบาดอุบัติใหม่อื่นๆ ซึ่งเทคโนโลยีเอไอก็เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่พัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
บทความนี้ผมจะพาทุกคนไปดูว่าเอไอมีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยเราเตรียมความพร้อมในการป้องกัน บรรเทา และรับมือโรคระบาดต่างๆ ได้อย่างไร
การเกิดขึ้นของโรคระบาดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์และป้องกันได้โดยสิ้นเชิง แต่การรับมือและบรรเทาความเสียหาย เป็นเรื่องที่ทำได้ในขอบเขตความสามารถของเอไอ
เอไอมีความสามารถหลักในการประมวลผลข้อมูลมหาศาล จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการประมวลผลข้อมูลเพื่อคาดการณ์และแจ้งเตือนการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเพื่อป้องกันการลุกลาม
เช่น การสร้างโมเดลแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning) ที่รวมเอาข้อมูลการเดินทางของคน รูปแบบการบริโภค การเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันเพื่อตรวจจับความผิดปกติในการใช้ชีวิตที่อาจเกิดขึ้นเพราะโรคระบาดเพื่อแจ้งเตือนทั่วโลกอย่างทันท่วงที หรือโมเดลที่รวบรวมและเก็บข้อมูลสถานการณ์การระบาดทั่วโลกเพื่อคาดการณ์พื้นที่การแพร่ระบาดใหม่
รวมถึงใช้เอไอติดตามอาการของโรคในผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อแจ้งข้อมูลอาการที่แตกต่างไปตามปัจจัย เช่น เพศ อายุ อาการเฉพาะ เพื่อบอกแนวโน้มอาการ ปรับแนวทางรักษา และทำความเข้าใจโรค
การใช้เอไอเข้ามาช่วยในการผลิตยารักษาก็เป็นอีกทางเลือกที่จำเป็น เพราะการเกิดขึ้นของโรคระบาดใหม่ๆ นั้นหมายถึงการต้องคิดค้นยารักษาขึ้นมาใหม่ให้รวดเร็วที่สุด เอไอจึงเป็นอีกตัวช่วยหลักที่ช่วยเร่งกระบวนการคิดค้นรวมถึงคนหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการผลิตยา
อย่างการสร้างแพลตฟอร์มเอไอขึ้นมาช่วยหาแอนตี้ไวรัสของเชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ด้วยข้อมูลโครงสร้างทางชีววิทยาและเคมีคอมพิวเตอร์ โมเดลที่ตรวจหาความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทางชีววิทยา และหาความเป็นไปได้ในการรักษาจากยาที่มีอยู่ เช่น การประยุกต์ใช้ยารักษาข้ออักเสบร่วมกับยา Remdesivir ในการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเอไอจะเข้ามาช่วยเพิ่มความเร็วให้กระบวนการวิจัยและพัฒนายารักษาในแบบที่มนุษย์ทำไม่ได้
การเกิดขึ้นของโรคระบาดต่างๆ โดยเฉพาะโรคระบาดที่มาจากสัตว์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบุกรุกและทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการที่พื้นที่ป่าลดลง พื้นที่เมืองมากขึ้น ทำให้มนุษย์กับสัตว์เข้ามาใกล้ชิดกัน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อโรคระหว่างคนและสัตว์สูงขึ้น เช่นในกรณีของโคโรนาไวรัส ที่ได้รับการสันนิษฐานว่ามาจากค้างคาว ฝีดาษลิงจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในลิงและสัตว์ฟันแทะ และไข้หวัดหมู (H1N1) เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติจึงส่งผลโดยตรงกับการลดจำนวนและป้องกันโรคระบาดอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเอไอได้ถูกประยุกต์เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกันการเกิดโรคได้
เช่น การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิชัน (Computer vision) ในการตรวจจับ ติดตามสัตว์ และคาดการณ์จำนวนประชากรสัตว์ เพื่อศึกษาและเตรียมมาตรการหากมีโรคระบาดจากสัตว์ ตรวจจับและป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า หรือนำเอไอไปวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมของโรคระบาดในสัตว์เพื่อดูว่ามีสิทธิ์แพร่ระบาดสู่คนหรือไม่
สำหรับโรคระบาดครั้งต่อไปที่อาจเกิดได้ในอนาคต หากเรามีเทคโนโลยีเอไอที่เตรียมความพร้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจจับและป้องกันการระบาด การคิดค้นยา วัคซีน ไปจนถึงการบรรเทาความรุนแรงและควบคุมการระบาด เราก็จะสามารถรับมือกับการระบาดได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด