สุขมากขึ้นจากใช้จ่าย | วรากรณ์ สามโกเศศ
น่าเห็นใจประชาชนค้างชำระหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลผ่านบัตรเกินกว่า 30 วันจำนวน 6 ล้านบัญชี ในจำนวนทั้งหมดประมาณ 46 ล้านบัญชี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13 แต่ก็เป็นหลักฐานของการใช้จ่ายเงินที่อาจทั้งจำเป็นและ “อยู่อย่างสบาย ๆ”
กล่าวคือเอาเงินในอนาคตมาใช้ไปก่อนเพราะรายได้ปัจจุบันไม่พอต่อความปรารถนาใช้จ่าย เราไม่อาจทราบได้ว่าเจ้าของบัญชีเหล่านี้มีความสุขกับการใช้จ่ายเงินเพียงใด ลองมาดูกันว่านักจิตวิทยามีความเห็นอย่างไร
หลายคนที่มีหนี้จนเกิดปัญหาในการค้างจ่าย มีสาเหตุจากหลายประการดังนี้
(1) ความไม่รู้และการไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้ คนจำนวนมากก่อหนี้โดยไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่ามีภาระดอกเบี้ยสูงเพียงใด มิได้ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองปรารถนาว่ามีคุณภาพเพียงใดและมีสิ่งเทียบเคียงอื่น ๆ ให้เลือกหรือไม่ และมีความจำเป็นที่ต้องก่อหนี้เพียงใด
พูดง่าย ๆ ก็คือแยกไม่ออกระหว่าง need (สิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการดำรงชีวิต) กับ want (สิ่งที่ปรารถนาได้มา) เมื่อพบเห็นสิ่งใดที่ทำให้เกิดความปรารถนาขึ้นก็ใช้บัตรเครดิตหรือบัญชีสินเชื่อที่ตนเองมีซื้อทันที เรื่องการจ่ายหนี้คืนนั้นเอาไว้คิดกันในอนาคต
(2) อารมณ์เป็นตัวกำหนด เมื่ออารมณ์ของการอยากได้มาครอบงำ คนส่วนใหญ่ก็มักมองข้ามความมีเหตุมีผลของการก่อหนี้ กอบกับเห็นเพื่อน ๆ ต่างก็มีสิ่งนั้นและใช้วิธีก่อหนี้เช่นเดียวกัน การมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นผลพวงของพฤติกรรมซึ่งมีอารมณ์เป็นตัวขับเคลื่อนคล้ายกับการเจ็บไข้ของมนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากพฤติกรรมในการบริโภคและการใช้ชีวิตทั้งสิ้น
(3) การจ่ายเงินเพื่อหาความสุข คนจำนวนมากคิดว่าการใช้จ่ายเงินซื้อสิ่งที่ตนเองปรารถนาคือการทำให้เกิดความสุข ยิ่งได้ครอบครองมากก็ยิ่งมีความสุขมาก ดังนั้นจึงก่อหนี้เพราะเป็นการได้ความสุขมาอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดีหลายคนพบว่าการมีขนาดจอโทรทัศน์ใหญ่ขึ้น มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยขึ้น มีเสื้อผ้าแบรนด์เนมหลากหลายขึ้น ไปท่องเที่ยวบ่อยขึ้น กินอาหาร ร้านหรู ฯลฯ มิได้ทำให้เกิดความสุขดังที่คาดคิดไว้เลยและหากฉุกคิดถึงภาระดอกเบี้ยแล้วก็อาจเกิดความทุกข์ขึ้นมาด้วยซ้ำ
ประเด็นความสุขจากการซื้อนี้มีการกล่าวถึงกันมากในด้านจิตวิทยาสังคมในระดับสากล เพราะผู้คนทั้งโลกก็ประสบภาวะเดียวกันคือพบว่าเมื่อได้ครอบครองสิ่งที่ปรารถนาแล้ว ความสุขก็พุ่งขึ้นทันที แต่สักพักความสุขก็ลดลงเพราะเคยชินกับสิ่งที่ได้มา
จากนั้นก็มองหาสิ่งอื่น ๆมาครอบครองมากขึ้นเพื่อให้มีความสุขเพิ่มขึ้น พร้อมกับหนี้ที่พอกพูนเป็นดินพอกหางหมู หากขาดศิลปะในการผ่อนใช้บัตรหนึ่งโดยเอาเงินจากอีกบัตรมาโปะ ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ถ้ารายได้ในระดับที่เคยได้รับเกิดสะดุดขึ้น
คำถามที่น่าสนใจก็คือจะใช้จ่ายเงินในลักษณะใดที่ทำให้เกิดความสุข หนังสือขายดีมากในระดับโลกเล่มหนึ่งพยายามให้คำตอบด้วยการใช้ 5 หลักการของการใช้จ่ายที่จะทำให้มีความสุขมากขึ้น หนังสือ Happy Money : The Science of Smarter Spending (E. Dunn and M. Norton ; 2013) ให้หลักการดังต่อไปนี้
หลักการแรก “ซื้อประสบการณ์” พยายามใช้จ่ายเงินซื้อประสบการณ์มากกว่าสิ่งของแต่เพียงอย่างเดียว งานวิจัยของทั้งสองพบว่าการมีประสบการณ์ประทับใจที่แปลกใหม่ เช่น เดินป่า ดูสัตว์แปลก ๆ ชมคอนเสิร์ต กินอาหารดี ท่องเที่ยวสถานที่แปลกใหม่ ฯลฯ ให้ความสุขมากกว่าการใช้เงินจำนวนเดียวกันซื้อสิ่งของ ประสบการณ์ที่ประทับใจมีผลกระทบต่อจิตใจและเป็นประโยชน์มากกว่าการซื้อสิ่งของที่นับวันแต่จะเสื่อมสลาย
หลักการที่สอง “ทำให้เป็นสิ่งพิเศษ” จงหยุดการได้รับสิ่งที่ให้ความสุขเป็นประจำสักวันแล้วกลับมารับเป็นปกติในวันรุ่งขึ้น จะทำให้รู้สึกรื่นรมย์กับสิ่งนั้นมากขึ้น เช่น การดื่มการแฟชนิดโปรดหรือการดูยูทูป หากงดไปสักวันและกลับมาเป็นปกติจะทำให้มีความสุขมากขึ้น
หลักการที่สาม “จ้างได้จงจ้าง” งานใดที่ตนเองไม่ชอบก็จงจ้างคนอื่นทำงานแทน เช่น ทำความสะอาด ซักผ้า ล้างรถ ฯลฯ เมื่อมีเงินแล้วก็จงหาความสุขด้วยการซื้อเวลาและซื้อความน่าเบื่อ หลักการข้อนี้กินความถึงการหยุดพักผ่อนสักพักก่อนที่จะกลับไปทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น
หลักการที่สี่ “ใช้เมื่อจ่ายครบ” เส้นทางปกติคือซื้อของนั้นเลยแล้วผ่อนชำระ คำแนะนำคือทำกลับกัน กล่าวคือเก็บเงินจนครบแล้วค่อยซื้อสินค้านั้น วิธีการนี้จะให้ความสุขมากกว่าเพราะรู้ว่าไม่มีภาระดอกเบี้ย จะมีความรู้สึกราวกับมันเป็นของฟรี
หลักการที่ห้า “ช่วยเหลือคนอื่น” งานวิจัยของทั้งสองพบว่าในกว่า 100 วัฒนธรรมทั่วโลกแม้แต่ในประเทศที่ยากจนในอาฟริกาก็ใช้การให้เป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข เด็ก 4-5 ขวบก็รู้สึกมีความสุขจากการให้ของเล่นเพื่อน ในหลายกรณีย์ ยิ่งมีเงินก็ยิ่งทำให้เกิดความโลภมากขึ้นและมิได้ทำให้เกิดความสุขขึ้นแต่อย่างใด จงหาความสุขมากขึ้นจากการใช้จ่ายเพื่อคนอื่น
ทั้ง 5 หลักการ มิได้แตะต้องด้านรายได้ หากเน้นไปที่ว่าจะใช้จ่ายเงินอย่างไรให้มีความสุขมากขึ้นโดยอาศัยงานวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม อย่างไรก็ดีมีข้อวิจารณ์หลายข้อโดยเฉพาะในเรื่องการ “ซื้อประสบการณ์” ว่าประสบการณ์มิได้อยู่ในใจอย่างคงทนเสมอไป บ่อยครั้งที่ต้องใช้จ่ายสูงมากอย่างไม่คุ้มค่า แท้จริงแล้วยังมีอีกทางเลือกที่ให้ความสุขมากขึ้นได้โดยเอาเงินที่ไม่ซื้อประสบการณ์ไปใช้ในเรื่องอื่น ๆแทน
มิติหนึ่งที่สำคัญของการใช้จ่ายเงินเพื่อให้มีความสุขมากขึ้นคือเวลา กล่าวคือทุกคนมีเวลาจำกัดบนโลกนี้อย่างไม่รู้ว่าจำกัดมากน้อยแค่ไหน อะไรที่สามารถซื้อเวลาและความสะดวกซึ่งก็คือเวลาเช่นเดียวกันได้ก็จงกระทำเพราะช่วยสร้างความสุข
คำถามที่น่าใคร่ครวญก่อนซื้อก็คือ การซื้อนี้จะผลต่อการใช้เวลาของเราที่เป็นอยู่อย่างไร เมื่อผู้คนเน้นไปที่เรื่องเวลาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากกว่าคิดเรื่องเงินแต่เพียงอย่างเดียวแล้วก็จะคิดอะไรได้ทะลุปรุโปร่งมากขึ้น
ทุกคนที่มีเงินขนาดใกล้เคียงกันใช่ว่าจะมีความสุขในระดับเดียวกัน แต่ละคนมีปัญญาแตกต่างกันในการใช้จ่ายเงินเพื่อให้มีความสุขมากขึ้น อย่าคิดง่าย ๆ เพียงว่าถ้ามีเงินมากขึ้นแล้วก็จะมีความสุขมากขึ้นเสมอไป จริง ๆ แล้วชีวิตมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่าเพียงการมีเงิน.