ไทยฟื้นฝืนเศรษฐกิจโลก | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เมื่อเดือนที่แล้ว ไอเอ็มเอฟประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 2022 และปี 2023 มีข้อสรุปว่า “Downturn Ahead, Downside Risks Dominate” กล่าวคือเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด และมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ไปกว่าที่คาดการณ์ในกรณีฐาน
ไอเอ็มเอฟกล่าวตอนหนึ่งว่า “the world may soon be teetering on the edge of a global recession, only 3 years after the last one” โดยมีการขยายความเกี่ยวกับกรณีเลวร้ายที่ประเมินว่าจีดีพีโลกอาจขยายตัวเพียง 2.6% ในปี 2022 และ 2.0%ในปี 2023 (เมื่อจีดีพีโลกขยายตัวเพียง 2.0% ก็ถือได้ว่าโลกใกล้ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว)
อย่างไรก็ดีในกรณีฐานนั้นไอเอ็มเอฟประเมินว่า จีดีพีโลกกำลังชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2022 และ 2023 กล่าวคือขยายตัวเพียง 3.2% ในปีนี้ (เทียบกับกรณีปกติที่จีดีพีโลกควรขยายตัวได้ประมาณ 3.5-4.5%) และชะลอตัวลงไปอีก
โดยจะขยายตัวเพียง 2.9% ในปี 2023 รายละเอียดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหลักต่างๆ ของโลก รวมทั้งประเทศไทยดังปรากฏในตาราง
จะเห็นได้ว่า ไอเอ็มเอฟได้ปรับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ลงไปไม่น้อยเลย เช่น
•การขยายตัวของจีดีพีสหรัฐลดลงกว่าครึ่งจาก 5.7% ในปี 2021 เหลือเพียง 2.5% ในปี 2022 (ลดลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2022 ถึง 0.6%) และในปี 2023 ก็ขยายตัวเพียง 1.4% (ลดลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนถึง 1.0%)
•การขยายตัวของจีดีพีกลุ่มประเทศเงินยูโรก็ถูกปรับลดลงอย่างมากคือปี 2023 ขยายตัวเพียง 1.2% (ลดจากการคาดการณ์เดือนเมษายน 1.1%)
•การขยายตัวของจีดีพีจีนก็เหลือเพียง 3.3% ในปี 2022 และ 4.6% ในปี 2023 กล่าวคือต่ำกว่าเป้าของรัฐบาลจีนที่กำหนดให้จีดีพีควรขยายตัวได้ 5.5% ต่อปี
•กลุ่มประเทศที่ดูดีที่สุดคือ ประเทศอาเซียน (เฉพาะ 5 ประเทศหลัก) ซึ่งขยายตัวได้กว่า 5% ในปี 2022 และ 2023 แต่ก็น่าสังเกตว่าจีดีพีในปี 2023 จะขยายตัว 5.1% ต่ำกว่าปีก่อนหน้าและถูกปรับลดลงจากการคาดการณ์เดิมในเดือนเมษายน ที่ประเมินว่าจีดีพีอาเซียนในปี 2023 จะขยายตัวได้สูงถึง 5.9% (ปรับลดลงไป 0.8%)
กล่าวโดยสรุปคือในการคาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกนั้น การขยายตัวของจีดีพีมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากปี 2021 ถึงปี 2023 ยกเว้นประเทศจีนและไทย
ซึ่งในกรณีของจีนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงเกินคาดเพราะการระบาดของ COVID-19 นั้นควบคุมได้ยากยิ่งและคาดการณ์ได้ยากมากว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในอนาคตอย่างรุนแรงหรือยืดเยื้อเพียงใด นอกจากนั้นจีนก็กำลังเผชิญกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ไอเอ็มเอฟกล่าวถึงปัญหาอสังหาริมทรัพย์ได้ใช้คำว่า “deepening real estate crisis” หรือวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาการระบาดของ COVID-19 และมาตรการ lockdown ร่วมกับปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้อย่างมาก
การคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากครึ่งหลังของปีนี้ไปจนถึงปลายปีหน้า จึงดูเสมือนว่าจะเป็นการปรับตัวที่ฝืนทางแนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่เกือบทุกประเทศ ยกเว้นเศรษฐกิจจีนซึ่งกำลังเผชิญกับทั้งปัญหาการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และความท้าทายจากปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์
ในปี 2021 ที่ผ่านมานั้นจีดีพีไทยมีมูลค่าทั้งสิ้นเท่ากับ 505,600 ล้านเหรียญ โดยการส่งออกสินค้ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 272,000 ล้านเหรียญหรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 53.8% ของจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการบริโภคของภาคเอกชนของไทยเล็กน้อยที่คำนวณออกมาได้ประมาณ 52.1% ของจีดีพีในปี 2021
ดังนั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยใน 1-2 ปีข้างหน้าจึงจะต้องพึ่งพากำลังซื้อภายในค่อนข้างมากกว่าการส่งออก ซึ่งเสี่ยงต่อการชะลอตัวลงใน 18 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางประเทศอื่นๆ กำลังปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เพื่อปราบเงินเฟ้อ แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในปีหน้า
เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟก็ได้ทำการประเมินเศรษฐกิจไทยประจำปี 2022 เสร็จสิ้นไปและนำเสนอรายงานผลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งมีข้อสรุปดังนี้คือ
1.การฟื้นตัวของไทยเป็นการฟื้นตัวที่ไม่สมดุล (recovery is un even across sectors) โดยไอเอ็มเอฟแสดงความเป็นห่วงชัดเจนกับภาคการท่องเที่ยวและภาคครัวเรือนที่มีหนี้สินมาก
2.จีดีพีของไทยยังเติบโตแบบต่ำกว่าศักยภาพ (GDP operating below potential) ดังนั้นจึงน่าจะเป็นโอกาสให้สามารถเร่งลงทุนเพื่อขับเคลื่อนทั้งอุปสงค์ในระยะสั้นและอุปทานในระยะยาว แต่ที่ผ่านมาผมก็ยังไม่เห็นความชัดเจนในส่วนนี้ มีแต่นโยบาย เช่น คนละครึ่งรอบที่ 5 ซึ่งมีเป้าหมายในการช่วยกลุ่มเปราะบางในระยะสั้น ไม่ใช่เป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่ออนาคต
3.ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวขึ้น (normalization of monetary policy) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่สูงเกินเกณฑ์
4.ในระยะยาวนั้นประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อกำจัดจุดอ่อนต่างๆ ของประเทศไทย (แต่เรื่องนี้ก็พูดกันมานานนับสิบปีแล้ว) ที่สำคัญคือการทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำว่าจะต้องทำ gradual fiscal consolidation buttressed by enhanced revenue mobilization to rebuild fiscal buffers
แปลเป็นภาษาง่ายๆ คือรัฐบาลจะต้องหารายได้ (เก็บภาษี) เพิ่มขึ้นเพื่อทำให้สถานะทางการคลังแข็งแรงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
ลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร