ด่านสุดท้ายหยุด “นายกฯตู่” กูรูกฎหมายขัดใจ “ฝ่ายค้าน”

ด่านสุดท้ายหยุด “นายกฯตู่” กูรูกฎหมายขัดใจ “ฝ่ายค้าน”

ท่าทีหงุดหงิดฉุนเฉียว ของ "นายกฯตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เมื่อถูกถามกังวลเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี หรือไม่

พร้อมคำตอบที่ว่า “ไปถามศาลรัฐธรรมนูญโน้น” และเมื่อถูกถามย้ำ ก็ตอบว่า “จะกังวลอะไรเล่า”

ประเด็นคือ ทำไมต้องหงุดหงิดฉุนเฉียว? เรื่องนี้เป็นใครก็คงไม่ต่างกัน ใครจะแน่ใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ตัวเองจะรอดเงื่อนปมข้อกฎหมายที่แม้แต่นักกฎหมายด้วยกัน ก็ตีความต่างกัน หรือไม่  

สิ่งที่ทำได้อย่างเดียว โยนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นดีที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เผยว่า ฝ่ายค้านได้ข้อตกลงแล้ว จะเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคม ประมาณ 1 สัปดาห์ คือประมาณวันที่ 16 หรือ 17 สิงหาคม

“เรามองว่า ยื่นเวลานี้ดีที่สุด เพราะหากปล่อยเลยไป เสี่ยงว่าการบริหารประเทศจะเสียหายได้”

แต่ขณะเดียวกัน คนที่ไม่รอช้า นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เรียบร้อย

เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปีในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 และจะดำรงตำแหน่งอีกต่อไป สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ม.218 วรรคสี่ และ ม.264 วรรคแรก บัญญัติไว้หรือไม่

สืบเนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ครั้งที่ 2 วันที่  9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้มีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกันอย่างมาก คร่าวๆอาจสรุปได้เป็น 3 ความคิด คือ ความคิดแรก อยู่ได้แค่ 24 สิงหาคม 2565 ความคิดที่สอง อยู่ได้จนถึงปี 2570 และความคิดที่สาม อยู่ได้ถึงปี 2568 เท่านั้น

ความคิดแรกเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีการยกเว้นการนำมาตรา 158 วรรคสี่ มาบังคับใช้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ ระยะเวลา 8 ปีตาม ม.158 วรรคสี่ ของพล.อ.ประยุทธ์ จึงเริ่มนับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงเพียงไม่เกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น

ความคิดที่สอง เนื่องจากหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม “ไม่บังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล ถ้าจะบังคับใช้ต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน”

ซึ่งถ้ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประสงค์จะให้บังคับใช้ย้อนหลัง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็จะต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้งตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ครั้งที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และครั้งที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ม.158 วรรคสี่ จึงเพิ่งจะบังคับใช้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน2562 เท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงจะดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีในปี 2570

ความคิดที่สาม รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาอยู่ในบังคับของ ม.158 วรรคสี่ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้นการนับระยะเวลา 8 ปี ต้องเริ่มนับแต่จุดนั้น ซึ่งจะไปครบในปี 2568 นั่นเอง

เมื่อความคิดเห็นเกี่ยวกับ การดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ แตกต่างกัน จึงต้องหาข้อยุติเสีย ดังนั้นสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงมายื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.231(1) ประกอบม.230 และยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.170 ในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เป็นข้อยุติต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่น่าจะมองเห็นแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ คลี่ปมจากข้อบัญญัติของกฎหมายได้ ก็คือ นักกฎหมายนั่นเอง

โดยมีสองนักกฎหมายชื่อดัง ที่ออกมากางข้อกฎหมายตีความให้เห็นแนวทางเอาไว้แล้ว

คนแรก นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ว่า

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน

มาตรา 158 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง

บทบัญญัติในมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้นั้น ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสอง ที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสอง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 คิดถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง 3 ปี 1 เดือน 6 วันเท่านั้น

การเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2562 มิได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสอง จึงนำเวลามารวมกันตามมาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ได้

การอ่านและตีความกฎหมายในกรณีที่มีหลายวรรคนั้น ต้องพิจารณาประกอบกันทุกวรรค มิใช่นำมาพิจารณาใช้เพียงวรรคเดียวโดยมิได้นำวรรคอื่นมาพิจารณาประกอบด้วย”

อีกคน ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคมที่จะถึงหรือไม่ ว่า

ก่อนอื่นต้องแยกระหว่างการนับระยะเวลาในเชิงรัฐศาสตร์กับการตีความกฎหมายมหาชน มีความแตกต่างกัน

โดยเฉพาะในเชิงรัฐศาสตร์ให้ถือตามระยะเวลาตามความจริง ตรงนี้ไม่มีข้อโต้แย้ง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี เริ่มวันใด สิ้นสุดในวันใด ตรงนี้ประชาชนหรือผู้สนใจทางการเมืองสามารถนับตัวเลขได้ เจตนารมณ์เพื่อมิให้ต้องผูกขาดทางการเมือง

ส่วนการนับระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญ เป็นการควบคุมฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติสามารถใช้ช่องมาตรา 82 วรรคหนึ่งยื่นต่อประธานรัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบสมาชิกภาพได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แต่ต้องยื่นหลังพ้นวันที่ 24 สิงหาคม 2565 แล้วถึงจะเกิดอำนาจตีความของศาลรัฐธรรมนูญเพราะศาลไม่มีหน้าที่อธิบายกฎหมาย...

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์หลักตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเพื่อ

1.กําหนดระยะเวลาการทำงานให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการครอบงำหรือแทรกแซงทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์

2.ป้องกันมิให้ผู้ดํารงตําแหน่งหลงอำนาจนำไปสู่เผด็จการทางการเมืองได้

3.ให้เกิดการแข่งขันทางการเมืองอย่างเสรีเน้นนโยบายพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล

4.เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี

5.ให้นายกรัฐมนตรีตระหนักและเห็นความสำคัญของเสียงสนับสนุนที่ทำให้ได้รับการเลือกตั้ง

หลักทั่วไป ตามบทบัญญัติของกฎหมายต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายเอกชน หากไม่ได้บัญญัติห้ามไว้สามารถกระทำได้ ส่วนกฎหมายมหาชน กลับตรงกันข้าม มีความแตกต่างกัน หากไม่ได้บัญญัติไว้ ไม่สามารถกระทำได้

โดยปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 158 วรรคท้าย “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” ต้องพิจารณามาตราอื่นประกอบเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เช่น คุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ที่มาของนายกรัฐมนตรี และหลักการบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่อง รวมถึงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด

ทั้งนี้ การใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีนำมานับเวลาต่อเนื่องได้หรือไม่ หากพิจารณาปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย อำนาจในการควบคุมมาตรา 158 วรรคท้าย คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยช่องทางดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

หากเทียบเคียงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 201 ไม่ได้กําหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ เพิ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 171 วรรคท้าย กำหนดนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่าแปดปีไม่ได้ ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายมาตรา 158 วรรคท้ายกับมาตรา 264 คำว่า “จะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีไม่ได้” กับมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ที่ว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ในทางกฎหมายมหาชน 2 มาตรานี้ ต้องแยกเจตนารมณ์ต่างกัน

1. การใช้อำนาจในการควบคุมฝ่ายบริหาร

2.การใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

การใช้อำนาจควบคุมฝ่ายบริหารตามมาตรา 158 วรรคท้าย นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้” ต้องพิจารณาประกอบว่า ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 159 โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่ทั้งหมดมีอยู่ทั้งสองสภา จึงแต่งตั้งให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งให้นับเวลาจุดเริ่มต้นในวันนี้

“ปัญหาว่า ภายหลังรัฐประหาร วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะนำมานับรวมได้หรือไม่ ตรงนี้ ต้องกลับไปดูเจตนารมณ์การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” เป็นหลักการบริหารราชการแผ่นดินต่อเนื่อง ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาตามหลักนิติรัฐและแบ่งแยกอำนาจย่อมบัญญัติไว้เช่นนี้ เพื่อป้องกันสุญญากาศทางการเมือง แม้ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นในมาตรา 158 วรรคท้าย

แต่ “หลักการควบคุมการใช้อำนาจ” กับ “หลักการบริหารราชการแผ่นดิน” ถือเป็นคนกรณีกัน เพราะการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องต่อเนื่องเพื่อมิให้เกิดช่องว่างในสถานะความเป็นรัฐชาติ หากนับการดำรงตำแหน่งและที่มาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 จนถึงปัจจุบันถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 สถานะนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังไม่สิ้นสุดไปตามมาตรา 158 วรรคท้าย

กรณีดังกล่าว ไม่ใช่อภินิหารกฎหมาย หากมีความสงสัยในสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีให้สมาชิกรัฐสภาใช้ช่องทางมาตรา 82 ยื่นตีความปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาพอควร” ดร.ณัฐวุฒิ ให้ความเห็น

ถ้าเป็นไปตามที่สองนักกฎหมายตีความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 โอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถอยู่ต่อในตำแหน่งจนครบวาระมีความเป็นไปได้สูง และยังมีโอกาสที่จะ เป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ เพราะสถานะตามรัฐธรรมนูญยังไม่ครบ 8 ปี

นั่นเท่ากับ “ด่านสุดท้าย” ที่จะหยุด พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้อยู่ในอำนาจต่อไป ไม่สามารถทำได้ ทั้งยังไม่ใช่อภินิหารของใครแต่อย่างใดด้วย หากแต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง

แน่นอน ถือว่า การตีความดังกล่าว ขัดใจฝ่ายค้านอย่างมาก เพราะฝ่ายค้าน เชื่อว่า เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จะทำให้ “บิ๊กตู่” พ้นจากตำแหน่ง (ก่อนหน้านี้ทำมาทุกวิถีทางแต่ไม่สำเร็จ) ได้  

แต่ถึงกระนั้น ความเห็นของ “สองกูรู” กฎหมาย ดังกล่าว ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด แม้ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ และกองหนุนทั้งหลายใจชื้นขึ้นมาบ้าง

คนที่จะชี้ขาด “ด่านสุดท้าย” นี้อย่างแท้จริง ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง

แต่ที่แน่ๆ กฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย” ถ้าเช่นนั้น บุญคงหล่นทับใครไปไม่ได้ นอกจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯอันดับ 1 “พี่สุดที่รัก” ของ “บิ๊กตู่” นั่นเอง?