APEC Media Focus Group ครั้งที่ 4 ‘ขอนแก่น’
ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2565 มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมายของเอเปคผ่านรูปแบบเศรษฐกิจ BCG เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในช่วงหลังโควิด-19
กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus (AMF) Group ครั้งที่ 4 และพิธีเปิดนิทรรศการ APEC 2022 on tour: Khon Kaen ณ จังหวัดขอนแก่น เมื่อปลายมิ.ย. 2565 โดย AMF4 จัดในหัวข้อ “Smart City and Connectivity” ณ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKUIC) เพื่อระดมสมองและแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนกับสื่อมวลชน ในประเด็นเมืองอัจฉริยะ ความเชื่อมโยง และการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นที่สอดคล้องกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย
“เชิดชาย ไช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่าเอเปคก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในปัจจุบัน การพัฒนาทางเศรษฐกิจตามที่สะท้อนในวิสัยทัศน์ปุตราจายา (Putrajaya Vision) ปี ค.ศ. 2040 ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และสตรี เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของโลก ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญของการพัฒนาของภูมิภาคจากนี้ไปอีก 20 ข้างหน้า
ไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปี 2565 มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมายของเอเปคผ่านรูปแบบเศรษฐกิจ BCG เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในช่วงหลังโควิด-19 ซึ่ง จังหวัดขอนแก่นมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการขับเคลื่อนวาระดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเมืองอัจฉริยะ ซึ่งหมายถึง เมืองที่ “ฉลาด” เรื่องการใช้ชีวิต ดำเนินธุรกิจ และการใช้ทรัพยากร ในขณะที่ความท้าทายของภาค ตอ.เฉียงเหนือ ได้แก่ การเกษตรดั้งเดิม การเข้าไม่ถึงเงินทุน แรงงานขาดทักษะ ความเหลื่อมล้ำ และอื่นๆ
"ผศ. สิริมนพร ทิพสิงห์" คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงเมืองอัจฉริยะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากยุโรปและจีน โดยปัจจัยสำคัญได้แก่ พลเมืองอัจฉริยะ (smart citizen) การอยู่อาศัยอัจฉริยะ (smart living) และการเคลื่อนย้ายอัจฉริยะ (smart mobility) ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) การบริหารอัจฉริยะ (smart governance) และเศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด โดย มข. มีความพร้อมในการพัฒนาทักษะเพื่อสร้างพลเมืองอัจฉริยะ
"ชาญณรงค์ บุริสตระกูล" ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่งสินค้า การศึกษา การแพทย์ และเป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะ โดยปัจจุบันพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรน้อยลง เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาคบริการมากขึ้น มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรต่าง ๆ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอีสาน (Northeastern Economic Corridor: NeEC) รวมทั้งขอนแก่นเป็น 1 ใน 5 จังหวัดที่ได้รับการจัดให้เป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว การประชุมสัมมนา หรือ MICE City นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายมุ่งพัฒนาทักษะแรงงานและระบบการขนส่ง (Mobility) เพื่อแสวงหาหุ้นส่วนการลงทุนในอนาคต
"ผศ. ชวิศ เกตุแก้ว" รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ์ วิจัยและการต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเสนอแบบจำลองธุรกิจเพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดเศษเหลือของมะม่วงในภาคอีสาน ซึ่งมีปริมาณกว่า 10,00 กก. ต่อปี (คิดเป็น 1% ของผลผลิตทั้งหมด) และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ เนย กระดาษ งานแกะสลัก พร้อมเสนอ มข. เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)
ในช่วงเสวนา ผศ.ดร. ธรรมศักดิ์ เสนามิตร รองคณบดีฝ่ายบริหารและทรัพย์สิน เห็นว่า อีกปัจจัยสำคัญในการสร้างเมืองอัจฉริยะ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ ซึ่ง มข. มีความพร้อมสามารถ “นำเข้า” นักศึกษาจากทั่วประเทศเพื่อผลิตและ “ส่งออก” พลเมืองอัจฉริยะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขอนแก่นและจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ส่วนอธิบดีเชิดชายฯ เห็นว่าการลงทุนเกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องอาศัยความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างเขตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในระดับเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่เอเปคให้ความสำคัญและจังหวัดขอนแก่นจะเติบโตเป็นเมืองอัจฉริยะและศูนย์กลางความเชื่อมโยงภูมิภาคที่มีคุณค่ามากในอนาคต ในขณะเดียวกันควรเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนควบคู่ไป แล้วจึงต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังจากนั้นจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด
ในส่วนพิธีเปิดนิทรรศการ APEC2022 on tour: Khon Kaen ณ เซ็นทรัลขอนแก่น สมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าจังหวัดขอนแก่น และณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ได้ร่วมเปิดงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย รวมถึงแสดงศักยภาพความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานของขอนแก่นในฐานะต้นแบบการสร้างเมืองอัจฉริยะ และนำเสนอผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น ทั้งยังมีการวางจำหน่ายดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก