“ภาษีที่ดิน” เก็บแบบไหนจะไปรอด | อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
เมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา เราต่างได้ยินเสียงโอดครวญของเจ้าของที่ดินและอาคารบ้านเรือนทั่วประเทศ ก็เพราะ 31 ก.ค.เป็นวันสุดท้ายของกำหนดการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 ถึงแม้จะขยายกำหนดระยะเวลาออกไปให้ผ่อนรายเดือนได้ 3 งวด แต่ก็ยังไม่ทำให้เสียงบ่นทุเลาลง
เพราะปัญหานี้ หากดูเผินๆ ก็เหมือนจะเป็นปัญหาของคนมีอันจะกิน มีที่ดิน มีสินทรัพย์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง เมื่อมองโดยละเอียดรอบด้านแล้ว ปัญหาภาระภาษีนี้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจทุกระดับ และต่อคนไทยทั้งประเทศ
ที่กล่าวเช่นนี้ ก็ต้องเล่าย้อนไปถึงที่มาภาษีที่ดินตัวนี้ คือ การจัดเก็บรายได้ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 ถือเป็นการพัฒนาปรับปรุงภาษีเดิม 2 ประเภท ที่ประกาศใช้มากว่าครึ่งศตวรรษให้เป็นกฎหมายฉบับเดียว คือภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่
การเปลี่ยนแปลงนี้ยกเหตุผลสำคัญที่ว่า ภาษี 2 ประเภทเดิมมีรูปแบบและวิธีการในการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีมาตรฐานตามสมควร และให้อำนาจในการใช้ดุลยพินิจมากเกินไป
ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งต่อผู้เสียภาษีเองและต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนนำไปสู่การที่ท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการนำไปพัฒนาพื้นที่
ด้วยสภาวการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับปีที่ภาษีที่ดินใหม่บังคับใช้พอดี ผลของการแพร่ระบาดนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วประเทศเป็นวงกว้าง
รัฐบาลจึงผ่อนผันการจัดเก็บภาษีจากเต็มอัตรา 100% เหลือเพียง 10% เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว นับเป็นการตัดสินใจแบบถูกที่ ถูกเวลา
เพราะนอกจากจะช่วยเยียวยาผลกระทบขั้นรุนแรง ยังเป็นการให้เวลาประชาชนและธุรกิจได้ปรับตัวกับภาษีที่ดินรูปแบบใหม่ แต่ในทางกลับกัน เมื่อมีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ก็คือ "ท้องถิ่น" ซึ่งมีรายได้จากภาษีส่วนนี้โดยตรงสำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ โดยที่แต่เดิมนั้นก็จัดเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่แล้ว ถึงแม้จะได้รับงบประมาณแผ่นดินจากส่วนกลางมาเสริมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย
กรณีตัวอย่าง เช่น เทศบาลตำบลสำนักขาม ที่ตั้งของด่านนอก สงขลา อันเป็นพื้นที่ที่มีการค้าชายแดนขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ
เดิมตามกฎหมายเก่าเคยจัดเก็บภาษีรวมกันในปี 2555 ได้ 13 ล้านบาท แต่ในปี 2564 ภายใต้กฎหมายใหม่และการลดหย่อนให้ชำระเพียง 10% จึงจัดเก็บได้เหลือเพียง 3.7 ล้านบาท ไม่ถึง 1 ใน 5 ของตัวเลขประมาณการ
เพื่อฉายให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ หากหลอดไฟบนถนนของท้องถิ่นเสีย 10 ดวง การจัดเก็บเพียงหนึ่งในสิบของยอดเต็ม ก็จะทำให้มีงบประมาณเปลี่ยนหลอดไฟได้เพียง 1-2 ดวงเท่านั้น ส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคนในพื้นที่ ทั้งด้านอุบัติเหตุและอาชญากรรม
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรื่องของภาษีที่ดินนี้ จึงไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาของคนมีฐานะเท่านั้น
คำถามต่อมาคือ น่าเห็นใจท้องถิ่นหรือไม่ ก็ต้องพูดอย่างเป็นธรรมว่า รายได้ภาษีที่ลดลงก็เป็นปัญหาใหญ่จริงต่อการพัฒนาพื้นที่ การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นก็คงเป็นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ควรเก็บเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนเท่าใด คงเป็นคำถามสำคัญที่รัฐต้องประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน
หากเป็นยามปกติ ประชาชนและธุรกิจก็คงมีกำลังที่จะปรับตัวและพอจะรับได้กับการจ่ายภาษีที่ดินฯ เต็มรูปแบบ 100% แต่ผลกระทบจากโรคโควิดที่ระบาดต่อเนื่องมากว่า 3 ปี ลำพังแค่ประชาชนต้องอดทนชักหน้าให้ถึงหลังในแต่ละวัน
หรือธุรกิจ SMEs ที่ต้องพยุงกิจการให้ได้ไปต่อ มีเงินพอที่จะจ่ายค่าจ้างโดยไม่ต้องปลดคนออก ไม่ต้องปิดกิจการ ก็อาการสาหัสกันอยู่แล้ว
เมื่อต้องมาถูกเรียกเก็บภาษีแบบใหม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอีก ฟางเส้นสุดท้ายก็คงขาด แล้วก็หนีไม่พ้นที่ต้องโละพนักงาน เลิกกิจการ ขายที่ดินและทรัพย์สินให้ทุนต่างชาติที่มารอช้อนซื้อของถูกในที่สุด
การเพิ่มภาษีที่ดินฯ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณไปใช้การพัฒนาพื้นที่เป็นสิ่งที่ควรทำและทำได้ แต่ในขณะเดียวกัน รัฐเองก็ต้องทบทวนว่าการเพิ่มภาษีเร็วรวดพรวดพราดจาก 10% เป็น 100% เต็มนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดผลดี
ทางออกที่ควรพิจารณาก็คือการเพิ่มภาษีแบบขั้นบันได เพื่อให้เวลาปรับตัว โดยอาจใช้อัตราเพิ่มที่อิงกับอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ในท้องถิ่นที่รายได้และธุรกิจยึดโยงภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ตัวเลขนักท่องเที่ยวหรือรายได้จากการท่องเที่ยวก็สามารถนำมาใช้ประกอบในการปรับอัตราภาษี ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคนในปี 2562 แต่ในปี 2565 ประมาณการไว้เพียง 7-8 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของยอดเดิมเท่านั้น
ดังนั้น การจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมอาจเพิ่มจาก 10% เป็น 20% ของยอดเต็มเพื่อให้สอดคล้องกัน และไต่ระดับขึ้นในอนาคต
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คงต้องวิงวอนให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยควรรีบหารือกับทุกหน่วยเพื่อปรับปรุงแก้ไข อย่าให้ภาษีที่ดินกลายเป็นมีดกรีดแผลซ้ำเติมทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนและธุรกิจ SMEs ที่กำลังต้องเผชิญกับเพลิงเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยพุ่ง น้ำมันแพง อย่างน้อยก็จะเป็นทางรอดหนึ่งที่ช่วยต่อลมหายใจให้เหลือความหวังได้บ้าง.
คอลัมน์ เปิดมุมคิด เศรษฐกิจทันสมัย
ผศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย
พรรคประชาธิปัตย์