การพัฒนาวงการฟุตบอล ภาพสะท้อนของการพัฒนาประเทศ | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
กลางเดือนธันวาคมปีนี้ เราก็จะได้รู้กันแล้วว่าประเทศไหนจะได้ถ้วยฟุตบอลโลกไปครอง หากย้อนกลับไปดูรายชื่อในรอบ 16 ทีมสุดท้ายของฟุตบอลโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีทีมจากประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน
มีทั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศที่ยังยากจนอยู่อย่างกานากับตูนิเซีย แต่พอยิ่งเข้ารอบลึกขึ้น รายชื่อของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนก็หายไปเรื่อย ๆ จนถึงในรอบสี่ทีมสุดท้าย ผู้เช้าชิงถ้วยฟุตบอลโลกจะต้องมือชื่อของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ด้วยเสมอ
เป็นไปได้หรือไม่ว่า ระดับความสามารถของทีมฟุตบอลแต่ละประเทศก็ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ประเทศไหนที่มีการพัฒนาสูงก็มีโอกาสเข้าถึงรอบลึกๆ ได้มาก
หากระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความสามารถของทีมฟุตบอลในแต่ละประเทศแล้ว การจัดอันดับทีมฟุตบอลของฟีฟ่า ก็ต้องมีแต่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอยู่ในอันดับต้นๆ
แต่จากข้อมูลในตารางจะเห็นว่าบราซิลกลับถูกจัดเป็นอันดับหนึ่ง อาร์เจนตินาอันดับสาม สูงกว่าอันดับของฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนีเสียอีก ดังนั้น ข้อสังเกตนี้จึงไม่น่าจะถูกต้องเสียทั้งหมด
ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับฟุตบอลโลกได้อย่างไร? เมื่อพิจารณารายชื่อของประเทศที่เข้ารอบแปดทีมสุดท้ายของฟุตบอล จะพบว่า หลายประเทศมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง นั่นคือ ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของลีกฟุตบอลชั้นนำของโลก และนักฟุตบอลส่วนใหญ่ของทั้งแปดทีมที่เข้ารอบก็เล่นอยู่ในลีกเหล่านี้เช่นกัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า ลีกฟุตบอลชั้นนำของโลกมีการแข่งขันกันสูง ถ้าทีมไหนไม่แน่จริง ก็มีสิทธิโดนเขี่ยออกจากลีก ส่วนทีมไหนที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ จะได้รับผลตอบแทนมากมายมหาศาล
การคัดเลือกนักฟุตบอลเข้าร่วมทีมจึงทำกันอย่างระมัดระวัง การบริหารจัดการทีมก็ทำกันแบบมืออาชีพ ผลตอบแทนที่เสนอให้กับนักฟุตบอลฝีเท้าดีก็สมน้ำสมเนื้อ สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เล่นคนนั้นให้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว
สมาคมหรือหน่วยงานที่เป็นผู้คอยกำกับดูแลลีกเหล่านี้ มีกฎระเบียบเข้มงวดเพื่อเกิดธรรมาภิบาลในการบริหารลีกที่ครอบคลุมในทุกมิติ รวมถึงมิติทางด้านการเงิน เป็นการจำกัดขอบเขตของปัญหาปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทีมที่มีเงินหนาจึงไม่ได้เป็นทีมที่ชนะในทุกนัด
เมื่อเปรียบเทียบกับลีกฟุตบอลในเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้านของเรา คงไม่ต้องบอกว่า มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมเราถึงอยู่ในอันดับที่ 111 ตามหลังเวียดนามซึ่งอยู่อันดับที่ 97
สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการลูกหนังโลก เป็นภาพสะท้อนสำคัญเกี่ยวกับนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้
พวกเขาเชื่อว่า หากรัฐมัวแต่ปกป้อง ไม่ยอมให้บริษัทในประเทศเจอกับแรงกดดันจากการแข่งขันจริง บริษัทก็ไม่มีทางจะเข้มแข็งขึ้นได้ เมื่อบริษัทไม่เข้มแข็ง อุตสาหกรรมก็ไม่เข็มแข็ง ท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจก็จะพลอยไม่เข้มแข็งไปด้วย
เปรียบไปก็เหมือนกับทีมฟุตบอลที่เจอแต่คู่แข่งต่ำชั้นกว่า แถมยังมีกรรมการคอยเข้าข้าง แข่งยังไงก็ไม่แพ้ หากวันหนึ่งต้องออกไปแข่งกับทีมอื่นที่เก่งกว่า และไม่มีใครคอยเข้าข้างอีกต่อไป คงจะนึกออกว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไร
จริงอยู่ รัฐอาจต้องตัดใจ “เลือดเย็น” ปล่อยให้บริษัทที่อ่อนแอล้มหายตายจากไป เพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นเข็มแข็งขึ้น ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกันการสร้างความเป็น “มืออาชีพ” ให้เกิดขึ้นกับภาครัฐและภาคเอกชน ลดการใช้เส้นสาย เลิกระบบพวกพ้อง ลดการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อให้ทุกคนสามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม
รวมถึงการหาแต้มต่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อให้ตั้งตัวได้ วิธีนี้อาจมีคนต้องเจ็บปวดบ้าง แต่นี่คือต้นทุนที่จะต้องจ่าย ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยสามารถสร้างและรักษาความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว
คงอีกนานกว่าเราจะเห็นทีมชาติไทยได้ไปฟุตบอลโลก ตราบใดที่วงการฟุตบอลบ้านเรายังไม่เปลี่ยนวิธีคิด ยิ่งศรัทธาถูกกัดกร่อน ความเข้มแข็งของวงการฟุตบอลก็จะยิ่งลดลง ปีนี้เราอยู่อันดับที่ 111 อีก 5 ปีข้างหน้าเราจะไปอยู่อันดับไหนก็ไม่รู้
และก็คงอีกนานเช่นกันกว่าที่เราจะเห็นประเทศไทยกลายเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของเศรษฐกิจโลก หากยังปล่อยให้ความไม่ถูกต้องทั้งหลายมาบ่อนทำลายบ้านเมืองเหมือนที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลายสิบปีนี้.
คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์