บริหารความเสี่ยงค่าเงินด้วย USD Futures

บริหารความเสี่ยงค่าเงินด้วย USD Futures

ปัจจุบันธุรกรรมการค้าและการเงินนั้นอยู่ในยุคที่ไร้พรมแดนอันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจทำเข้าส่งออกและผู้ลงทุนที่ลงทุนต่างประเทศจึงต้องมีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม ด้วยจะเป็นปัจจัยที่จะกระทบผลตอบแทนจากการลงทุนหรือการทำธุรกิจ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากต้องการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เรามักจะนึกถึงการทำธุรกรรม Forward กับธนาคารพาณิชย์เป็นลำดับแรก ด้วยความคุ้นชินและความสะดวก

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อย อาจจะมีข้อจำกัดบ้างในการทำธุรกรรม Forward กับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง จะต้องผ่านการพิจารณาความเสี่ยงด้าน Credit และได้รับอนุมัติวงเงินก่อน นอกจากนี้ การทำธุรกรรมอาจมีขนาดที่ค่อนข้างสูง

เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ประกอบการขนาดเล็ก TFEX จึงได้พัฒนาสัญญา USD Futures หรือดอลลาร์ล่วงหน้า โดยมีมูลค่าเพียง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสัญญา และสามารถซื้อขายผ่าน Broker ได้โดยสะดวกเหมือนสินค้าอื่นๆ ของ TFEX และไม่จำเป็นต้องมี Credit Line กับธนาคารพาณิชย์ แต่มีต้นทุนในการใช้งานโดยต้องวางเงินประกันประมาณ 5-10% ของมูลค่าเงินที่ต้องการบริหารความเสี่ยง USD Futures มีอายุสัญญาให้ผู้ลงทุนเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม ตั้งแต่หมดอายุภายในเดือนที่ทำการซื้อขาย จนถึงหมดอายุในอีก 6 เดือนข้างหน้า

จากสถิติการซื้อขาย USD Futures ในปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่า USD Futures นับเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยประมาณ 2,800 สัญญาต่อวัน หรือคิดเป็นมูลค่าซื้อขายประมาณ 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน และมี Spread ระหว่างราคาซื้อและราคาขาย (Bid-Ask Spread) ที่แคบ (เพียงประมาณ 3-6 สตางค์) เมื่อเทียบกับการแลกเงินตรงกับธนาคารพาณิชย์หรือร้านรับแลกเงินทั่วไป ซึ่ง Spread นี้เป็นต้นทุนสำคัญที่เรามักมองข้ามไปด้วยไม่ได้เห็นเป็นค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน

การใช้ USD Futures เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงค่าเงินควบคู่ไปกับการลงทุนในต่างประเทศหรือการทำธุรกิจนำเข้าส่งออกนั้น มีแนวคิดเหมือนการใช้ forward กับธนาคารพาณิชย์และเปรียบเสมือนกับการล็อคอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตไว้ เช่น หากต้องการป้องกันความเสี่ยงในกรณีเงินบาทอ่อนค่าก็สามารถทำได้โดยการ Long USD Futures ในทางกลับกันหากกังวลว่าเงินบาทจะแข็งค่า ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงได้โดยการ Short USD Futures ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนใน USD Futures จะสามารถชดเชยการขาดทุนที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้ามกับที่คาดการณ์ไว้

 ทั้งนี้ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงสำหรับ USD Futures ที่ TFEX ใช้ในปัจจุบันคืออัตรา TFEXTHBFIX  ซึ่งคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ (Quoting Basis) แต่สำหรับสัญญาใหม่ที่เริ่มเปิดซื้อขายนับจากวันที่ 27 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป จะเปลี่ยนแปลงอัตราอ้งอิงโดยเลือกใช้ WM/Reuters Spot Rate หรือเรียกง่ายๆว่า WM ซึ่งคำนวณมาจากข้อมูลการธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริง (Trading Basis) และเป็นวิธีปฏิบัติในสากลมาทดแทน

ซึ่งอัตราอ้างอิงทั้งสองอัตราคำนวณและเผยแพร่โดย Thomson Reuters  (สัญญา USD Futures ที่เปิดให้ซื้อขายก่อน 27  ธค. 61 คือ USDF19, USDG19 และ USDH19 ยังคงใช้ TFEXTHBFIX เป็นอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงจนหมดอายุสัญญา) อย่างไรก็ตาม จากการเปรียบเทียบเชิงสถิติพบว่า WM มีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับ TFEXTHBFIX (Correlation สูงกว่า 99%) จึงทำให้การซื้อขาย USD Futures จะไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากในอดีต ทั้งนี้ TFEX ได้เริ่มเผยแพร่ข้อมูล WM ผ่าน www.tfex.co.th ตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา

ในปี 2562 TFEX ยังมีแผนร่วมกับธนาคารกรุงไทยเพื่อพัฒนาบริการแลกเงินรายวันสำหรับผู้ถือครอง USD Futures ด้วย USD Futures เป็นสัญญาที่ชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) แต่ในทางปฏิบัติ ผู้นำเข้าส่งออกและผู้ลงทุนยังมีความต้องการเงินดอลลาร์จริง แม้ว่าในปัจจุบันธนาคารกรุงไทยให้บริการแลกเงิน USD จากอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงของ TFEX ให้กับผู้ประกอบการที่ถือครอง USD Futures แต่ก็เฉพาะในวันสุดท้ายของการซื้อขายเท่านั้น ดังนั้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานและเทียบเคียงกับการใช้งาน Forward มากขึ้น  จึงมีการพัฒนาบริการแลกเงิน USD รายวันให้ผู้ลงทุนใน USD Futures  

ตัวอย่างแนวคิดของบริการแลกเงิน เช่น ผู้ที่ถือ Long USD Futures และต้องการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันนี้ ผู้ลงทุนก็สามารถส่งคำขอแลกเงินจริงไปยังธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารและติดต่อ Broker เพื่อปิดฐานะถือครองสำหรับการแลกเงินจริง ซึ่งทำได้แม้สัญญายังไม่หมดอายุ และเมื่อธนาคารพาณิชย์และโบรกเกอร์ได้รับคำสั่งแล้ว โบรกเกอร์จะปิดสถานะด้วยวิธีการที่เรียกว่า EFP (Exchange For Physical) ซึ่งเป็นการปิดสัญญาเพื่อนำไปแลกเงิน USD

ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็จะตรวจสอบคำสั่งและดำเนินการแลกเงิน USD ให้ด้วยอัตราอ้างอิงของ USD Futures ผ่านการตัดเงินบาทที่อยู่ในบัญชีออมทรัพย์ และโอนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าบัญชี FCD (Foreign Currency Deposit) ของผู้ลงทุน ดังนั้น บริการแลกเงินรายวันนี้จึงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผู้ประกอบการและทำให้ USD Futures ใช้บริหารความเสี่ยงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการแลกเงินรายวันได้ในปี 2562