พลิกอนาคตด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)
เมื่อไม่นานมานี้เอง ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายศตวรรษที่ “ระบบการเงินโลก” ถูกท้าทายแบบถอนรากความคิด
เมื่อคนทั่วโลกได้รับรู้ถึงระบบสกุลเงินแบบใหม่ที่เรียกกันว่า “สกุลเงินคริปโต” (Cryptocurrency) ที่นำทัพด้วยสกุลเงินบิทคอยน์ (Bitcoin)
ระบบสกุลเงินใหม่นี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และถูกมองว่าจะเป็น “ทางเลือกใหม่” สำหรับคนที่รู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบจากระบบการเงินแบบเดิมที่มีธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์เป็นศูนย์กลางและคนที่เริ่มไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินหลักในปัจจุบัน
สกุลเงินคริปโตทำให้เกิดคำถามในวงกว้างว่า เรายังจะต้องพึ่งพาระบบการเงินแบบเก่าที่ถูกควบคุมและแทรกแซงจากจากส่วนกลางไปอีกนานเท่าไร โดยสกุลเงินคริปโตมีหลักการสำคัญว่า การสร้าง “หลักประกัน” และหน้าที่ “กำกับดูแล” ของระบบการเงินนั้นควรเกิดจากการมีส่วนร่วมของ “ผู้ใช้ทุกคน” อย่างเท่าเทียม ซึ่งสกุลเงินคริปโตอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “บล็อกเชน” (Blockchain) ในการกระจายหน้าที่และความรับผิดชอบเหล่านี้สู่ผู้ใช้ เพื่อตัด “ตัวกลาง” ออกจากระบบ
แม้ว่าตลาดสกุลเงินคริปโตต่างๆ ในปัจจุบันจะไม่หวือหวาเหมือนปีก่อน เนื่องจากข้อจำกัดในการนำมาใช้ในวงกว้าง ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากการมีผู้ถือคลังขนาดใหญ่ ตลอดจนการเก็งกำไรจนเกินคุณค่าจากประโยชน์ของสกุลเงินดิจิทัลในขณะนั้น
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เทคโนโลยีบล็อคเชน (Blockchain) ได้เป็นที่จับตามองอย่างมากจากภาครัฐและกลุ่มธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่สร้างรายได้จากการเป็น “ตัวกลาง”
ธุรกิจเหล่านี้มองว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงมหาศาลต่อวงการของตน ในปัจจุบัน ได้มีความพยายามใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อแก้ “ปัญหาตัวกลางที่ไม่มีประสิทธิภาพ” หรือ “เพิ่มความโปร่งใส” โดยได้นำไปทดลองใช้ในวงการต่างๆ นอกเหนือไปจากระบบการเงินเป็นอย่างมาก อาทิเช่น การใช้เทคโนโลนีบล็อกเชนในการเลือกตั้ง การถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน การซื้อขายพลังงาน การซื้อขาย Digital Content ทรัพย์สินทางปัญญา การบันทึกติดตามข้อมูลอาชญากรรม การติดตามผลผลิตด้านประมงและเกษตร เป็นต้น
ในทางเทคนิคแล้วเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีในการเก็บและบันทึกข้อมูลในลักษณะกระจายที่รู้จักกันในชื่อ Distributed Ledger (DLT) โดย “ฐานข้อมูล” ที่เก็บด้วยบล็อกเชนจะแชร์ (Share) ให้กับทุกๆ คนในเครือข่าย ในกรณีของสกุลเงินบิทคอยน์ ข้อมูลที่เก็บจะเป็นข้อมูลการสร้างและการถ่ายโอนเงินในก้อนข้อมูลที่เรียกว่า “บล็อก” (Block) โดยคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายจะถือสำเนาของฐานข้อมูลดังกล่าวที่ดูแลความปลอดภัยด้วยศาสตร์ของการเข้ารหัส (Cryptography) โดยหากใครต้องการจะโอนเงินก็จะต้องประกาศให้ทุกคนในเครือข่ายรู้ และเครือข่ายจะอาศัยเทคนิคการเข้ารหัสและการพิสูจน์ลายเซ็นต์ดิจิทัล (Digital Signature) ในการตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่จะตอบรับข้อมูลด้วยการสร้าง “บล็อก” ใหม่และนำไปต่อหลังบล็อกสุดท้าย ฐานข้อมูลนี้มีลักษณะเป็นห่วงโซ่ของบล็อกที่บันทึกธุรกรรมต่างๆ จึงเป็นที่มาของชื่อบล็อกเชน (Blockchain)
ทั้งนี้ หากมีผู้ที่ต้องการขโมยหรือสร้างการโอนเงินปลอมขึ้นมา เขาจะต้องแฮกคอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลของเครือข่ายให้เกินครึ่งและยังต้องเชื่อมห่วงโซ่ทั้งหมดใหม่ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ หากเทียบแล้วการแฮกเครือข่าย Google Cloud หรือระบบของกระทรวงกลาโหมสหรัฐนั้นน่าจะง่ายกว่าการแฮกเครือข่ายบิทคอยน์!
บล็อกเชนจึงเป็นเทคโนโลยีที่สามารถสร้างวิถีใหม่ในการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลร่วมกันที่มีความปลอดภัยสูง เช่น การบันทึกและถ่ายโอนทรัพย์สิน การบันทึกแลกเปลี่ยนข้อมูลสาธารณะที่สำคัญ และการเชื่อมการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มที่ต้องการการรับรองความเชื่อถือระหว่างกัน โดยบล็อกเชนจะช่วยตัดปัญหา “คนกลาง” รวมถึง “ผู้คุมกฎ” ผ่านการสร้างกฎที่ให้ทุกคนเป็นเจ้าภาพร่วมแบบฝังเข้าไปในระบบเลย
ดังนั้น บล็อกเชนจึงถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถจะล้ม (disrupt) “ตัวกลาง” ในหลายวงการได้ เพราะแม้แต่ตัวกลางอย่าง YouTube Grab Uber และ Airbnb ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล disrupt ธุรกิจอื่นมา ก็กำลังจะถูกบล็อกเชน disrupt ต่อไปในอนาคตอันใกล้เช่นกัน เนื่องจากภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน ผู้ใช้จะสามารถเชื่อมโยงบริการเข้าหากันโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางเลย
การปฏิวัติด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จึงเป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานในประเทศไทยบางแห่งก็เริ่มทดลองการใช้เทคโนโลยีนี้แล้วเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท BCPG ร่วมกับบริษัทแสนสิริและการไฟฟ้านครหลวงได้ทดลองการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer ธนาคารแห่งประเทศไทยทดลองเทคโนโลยีบล็อกเชนในเรื่อง Wholesale Central Bank Digital Currency (CBDC) ในโครงการอินทนนท์ร่วมกับธนาคารพานิชย์ 8 แห่ง เป็นต้น
จุดสำคัญที่สุดคือการที่เราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้ใหม่กับทุกคน และในโลกนี้ไม่มีใครที่เป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่แท้จริง วิธีเดียวที่ทำให้เอกชนและภาครัฐทันเกมก็คือ “ต้องทดลอง” แล้วเรียนรู้ โดยบทเรียนสำคัญของธุรกิจและภาครัฐคือการมองไปข้างหน้าผ่านสายตาของลูกค้าและประชาชนว่าเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนและอื่นๆ จะสามารถสร้าง “คุณค่า” (gain point) อะไรใหม่ หรือจะลด “ความลำบาก” (pain point) อะไรในปัจจุบันและอนาคตได้ ดังนั้น ความสามารถขององค์กรมิใช่เพียงการวิเคราะห์เพื่อมองไปข้างหน้า แต่เป็นการ “สังเคราะห์” คุณค่าใหม่นี้ให้พบ
การปรับตัวในโลกยุคดิจิทัลนี้รวดเร็วและรุนแรง เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีในระดับปฏิวัติวงการ การเตรียมพร้อมและการสร้างความสามารถในการเปลี่ยนตัวเองบนแพล็ตฟอร์มเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานขององค์กรยุคใหม่ที่จะอยู่รอดได้ในอนาคต
โดย... ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ Asian Institute of Digital and Innovation (AIDI)
ธราธร รัตนนฤมิตศร สถาบันอนาคตไทยศึกษา (TFF)