นโยบายส่งเสริม SME ญี่ปุ่น ต้นแบบพัฒนาที่ยั่งยืน

นโยบายส่งเสริม SME ญี่ปุ่น ต้นแบบพัฒนาที่ยั่งยืน

จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม หรือ SME ไทยมานานกว่า 30 ปี

ได้ศึกษานโยบายการส่งเสริม SME ของประเทศไทย ของรัฐบาลทุกสมัย ที่ให้ความสำคัญกับ SME ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ 

เป็นหน่วยธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ SME ทำให้เกิดการพัฒนากระจายความเจริญไปสู่ชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ทำไม SME ไทย ยังคงเผชิญกับความยากลำบาก เกิดยาก ตายง่าย รอดน้อย นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการเห็นว่า เป็นเพราะขาดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน ขาดการบริหารกำกับดูและรับผิดชอบที่เป็นเอกภาพจากภาครัฐ ขาดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในยุค 4.0 ที่สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผมจึงขอนำเสนอนโยบายการส่งเสริม SME ของประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นต้นแบบในการพัฒนา SME ที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ในปี ค.ศ. 1947 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกพระราชบัญญัติต่อต้านการผูกขาด Japanese Antimonopoly Act เพื่อห้ามไม่ให้ผูกขาดในเรื่องใด ๆ กำจัดการรวมตัว

เพื่อสร้างอำนาจในทางเศรษฐกิจ เป็นการเริ่มต้นปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลังเสร็จสิ้น

สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการสนับสนุน SME ให้ได้รับสิทธิ์ รับโอกาสที่เท่าเทียมกับธุรกิจขนาดใหญ่ และในปี ค.ศ.1948 ได้จัดตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับ SME ที่เรียกว่า The Small and Medium Enterprise Agency ภายใต้การกำกับพิเศษของ The General Headquarter of Allied Power GHQ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นจุดเริ่มต้นของมาตรการสนับสนุน SME ทำให้เกิดกิจกรรมระหว่างกันของกลุ่มผู้ประกอบการ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิควิชาการเทคโนโลยีในการผลิต การบริหารธุรกิจ เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อ SME ทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุน SME ให้มีแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจ เช่น ในปี ค.ศ. 1936 จัดตั้ง Shoko Chukin Bank ปี ค.ศ.1949 จัดตั้ง The nation Life Finance Cooperation เพื่อขยายตลาดเงินทุนให้กับ SME เป็นสถาบันการเงินภาครัฐ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับระบบการเงินของ SME อำนวยความสะดวกทางการเงินในระยะยาว ในปี ค.ศ. 1953 จัดตั้ง The Finance Cooperation ส่งเสริมความมั่นคงให้กับ SME ออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนระบบการอำนวยสินเชื่อ อาทิเช่น ปี ค.ศ.1950 จัดให้มี

Small and Medium Enterprise Credit Insurance Law ปี ค.ศ. 1953 มี The Credit Guarantee Association Law

กฎหมายที่สำคัญที่มุ่งหวังจะสร้างความถูกต้องให้เกิดขึ้น ในสถานะการณ์ทางสังคม และเศรษฐกิจที่ SME เสียเปรียบคือ The Cooperative Association of Small and Medium Enterprise Law ที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ.1949 และ ในปี ค.ศ.1950 ประกาศใช้ The Chamber Of Commerce and Industry Law เพื่อให้หอการค้าของญี่ปุ่นมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมายที่ออกมาใช้ในขณะนั้นเกิดความสมบูรณ์

จุดอ่อนของ SME ญี่ปุ่นที่ไม่ต่างจาก SME ไทย คือความรู้และแนวทางในการบริหารจัดการธุรกิจ รัฐบาลได้วางระบบจดทะเบียนที่ปรึกษา The Registration System of SMEs Consultant ในปี ค.ศ.1952 โดยรัฐบาลสนับสนุนในการเตรียมการเผยแพร่ วางระบบ

ที่เรียกว่า Blue Return System เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินให้กับ SME เปลี่ยนระบบ

การประเมินผลจากเดิม เป็นระบบภาษีแบบประเมินผลตนเอง เป็นระบบการจัดทำบัญชีในการส่งคืนภาษี ที่เรียกว่า Certain Formula of Quick Bookkeeping System มีสูตรการคำนวณที่แม่นยำในการคำนวณภาษี ง่ายต่อการจัดทำบัญชี เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการด้านการเงินและบัญชีของ SME มีงบการเงินที่ถูกต้องแม่นยำสร้างความเชื่อถือให้กับสถาบันการเงินในการอำนวยสินเชื่อ

นโยบายในการสนับสนุน SME ของประเทศญี่ปุ่นในระยะแรกที่สร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับ SME เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญ การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองความมั่นคง มีการจัดตั้งระบบการจดทะเบียนที่ปรึกษาแนะนำเพิ่มทักษะในการจัดการที่ดี และจัดตั้งสถาบันการเงินที่สนับสนุน SME อย่างจริงจัง คือหัวใจแห่งความสำเร็จ เรื่องของ Sustainable ที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก ทำอย่างไรจะทำให้ SME เติบโตย่างยั่งยืน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ 

ติดตามตอนต่อไปนะครับ.....