มาตรการควบคุมคราฟต์เบียร์
เบียร์เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีการบริโภคและการควบคุมในช่วงหลายพันปี
อันมีจุดประสงค์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปของแต่ละประเทศ ประเทศเยอรมันถือว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่นิยมบริโภคกันมากที่สุดในทวีปยุโรป ชาวเยอรมันเป็นชาติแรกที่ผลิตคราฟต์เบียร์ขึ้นมา และเรียกชื่อว่า “บิเออร์” (Bior) คราฟต์เบียร์ หมายถึง ความพิถีพิถัน การสร้างสรรค์ ในการผลิตคราฟต์เบียร์ คราฟต์เบียร์เกิดขึ้นจากจินตนาการของคนทำตั้งแต่การเลือกสายพันธุ์ข้าวมอลต์, ดอกฮ็อป, ยีสต์ และน้ำ ทั้งนี้ยังได้มีการแต่งปรุงกลิ่นด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผลไม้, ดอกไม้, กาแฟ, ช็อกโกแลต ซึ่งทั้งหมดมีผลต่อคุณภาพและรสชาติเบียร์แบบที่เบียร์ในอุตสาหกรรมใหญ่ไม่ค่อยทำ
ในสมัยก่อน จุดประสงค์ของการผลิตคราฟต์เบียร์ก็เพื่อดื่มภายในครอบครัวเท่านั้น โดยผู้หญิงจะมีหน้าที่ผลิตคราฟต์เบียร์ด้วยวิธีการหมักอย่างง่ายๆ ต่อมาการผลิตคราฟต์เบียร์ได้เข้ามามีบทบาทในคริสตจักรมากขึ้น กล่าวคือมีการใช้เบียร์ในการประกอบพิธีกรรมและแจกจ่ายให้กับผู้คนที่เข้ามาร่วมงานทางศาสนา และนักโบราณคดียังพบว่า เมื่อนำกากแห้งที่ติดอยู่ในภาชนะดินเผาที่ขุดพบจากซากเมืองโบราณมาวิเคราะห์ดูพบว่า กากแห้งนั่นคือคราฟต์เบียร์ที่มีดีกรีสูงซึ่งผลิตจากข้าวสาลีผสมน้ำผึ้ง เรียกกันว่า “เอล” (Ale) ในประเทศสหรัฐหลาย ๆ มลรัฐ มีกฎหมายกำหนดไว้ว่า คำว่า “เอล” นั้นให้หมายถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ ก็ตามที่เกิดจากการหมักธัญพืชที่มีดีกรีแอลกอฮอล์สูงเกินกว่าระดับดีกรีแอลกอฮอล์ของเครื่องดื่มที่จะเรียกว่าเบียร์ได้ตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงลักษณะของการหมักและประเภทของยีสต์ที่ใช้ในการหมัก
ในช่วงศตวรรษที่ 15 พบว่า วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ผลิตคราฟต์เบียร์เริ่มมีปริมาณน้อยลง เนื่องจากผลกระทบจากสภาพธรรมชาติทำให้เก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์และดอกฮ็อปได้น้อย จึงเริ่มมีการใช้ธัญพืชชนิดอื่นมาแทน จนกระทั่งปี ค.ศ. 1516 จึงมีการตั้งกฎหมายบริสุทธิ์(Purity Law) ขึ้นในประเทศเยอรมัน เพื่อกําหนดให้ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ต้องใช้เฉพาะข้าวมอลต์ ดอกฮ็อปและน้ำเท่านั้น เพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพของการผลิตคราฟต์เบียร์และมีการควบคุมราคาด้วย และหลักการนี้ยังใช้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ กฎดังกล่าวนี้มิได้บังคับใช้ในประเทศอื่น ดังนั้นจึงพบว่ามีการนำเอาข้าวเจ้า ข้าวโพด มันหรือน้ำตาลมาใช้เป็นส่วนผสมปนกับข้าวมอลต์ในการผลิตคราฟต์เบียร์ด้วย
ในประเทศสหรัฐมีวัฒนธรรมการต้มเบียร์ดื่มเองที่บ้าน ซึ่งเบียร์ประเภทนั้นจะเรียกว่า Homebrew หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ เบียร์ที่มาจากโรงเบียร์ขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า Craft brewery ที่เปรียบเสมือนเป็นสินค้า OTOP ประจำท้องถิ่น มีการผลิตกันน้อยๆ ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่เบื่อหน่ายเบียร์จากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่วางขายในตลาดอย่างแพร่หลาย จนเมื่อวงการผลิตคราฟต์เบียร์ในอเมริกาเป็นที่ยอมรับและสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้สำเร็จ ประเทศสหรัฐได้กำหนดกฎและนิยามของคราฟต์เบียร์อย่างเป็นทางการโดย Brewers Association ที่ระบุว่า 1) จะต้องเป็นโรงเบียร์ที่มีขนาดเล็ก 2) เจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่า 75% และ 3) ใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด ห้ามผสมวัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรสเพื่อลดต้นทุน ถ้าจะผสมแล้วต้องใช้เพื่อให้มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้นเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตเบียร์ทั่วโลกได้ทดลองใช้ส่วนผสมที่แตกต่างกันเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย คราฟต์เบียร์จึงกลายเป็นเบียร์ทางเลือกใหม่สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ จากการดื่มเบียร์ ในสหรัฐและสหภาพยุโรปโดยเฉพาะอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากความต้องการเบียร์คุณภาพสูงที่มีรสชาติที่แตกต่างไม่เหมือนใคร สำหรับคราฟต์เบียร์ในประเทศไทยนั้น โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ. 2559-2560 มานี้เป็นกระแสที่มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ผู้ผลิตได้มีการเดินหน้าเพื่อพัฒนาให้คราฟต์เบียร์ของตัวเองนั้นถูกต้องตามกฎหมาย โดยใช้วิธีการไปผลิตที่ต่างประเทศแล้วนำกลับเข้ามาในรูปแบบของเบียร์นำเข้าและเสียภาษีตามกฎหมาย ส่วนความนิยมคราฟต์เบียร์ของผู้บริโภคสามารถเห็นได้จากความหลากหลายของเบียร์ที่ร้านจำหน่ายเบียร์ต่างๆ ได้นำมาวางขาย ซึ่งแปรผันตามความนิยมของผู้ดื่มที่มีจำนวนมากขึ้น
แม้ว่ากฎหมายไทยจะเปิดช่องให้มีการจัดตั้งโรงงานเพื่อทำคราฟต์เบียร์ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องวิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ. 2543 ส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการทำและขายส่งสุราแช่ชนิดเบียร์และชนิดสุราผลไม้ แต่กฎหมายดังกล่าวได้สร้างเงื่อนไขที่เป็นการกีดกันการทำคราฟต์เบียร์กับกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมประชาชนที่ลักลอบหมักเบียร์ ได้จุดประกายให้กลุ่มคนที่นิยมคราฟต์เบียร์ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการผลิตคราฟต์เบียร์ ดังนั้นจึงเห็นว่า มีเหตุผลสมควรที่ผู้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงบริบทต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมด้วย
โดย...
ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน
คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์