งานในอนาคต
จากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น เชื่อว่าทุกท่าน คงจะเห็นพ้องต้องกันว่า งานในอนาคต จะแตกต่างและพลิกโฉมไปจากเดิม ส่วนจะพลิกโฉมอย่างไร
ก็ต้องค่อยๆ ติดตามดูกัน ปัจจุบันองค์กรธุรกิจเองก็เริ่มปรับตัวเพื่อให้พร้อมจะรองรับต่องานในอนาคตที่จะเปลี่ยนไปจากเดิม มีรายงานวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษา Korn Ferry ระบุว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น มีแนวโน้มในการจ้างงานแบบใหม่นั้นคือ การจ้างพนักงานที่มีทักษะใหม่ๆ ที่อาจจะไม่มีหรือไม่ต้องใช้สำหรับตำแหน่งงานในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นการจ้างเพื่อรองรับต่ออนาคตมากกว่าปัจจุบัน ผู้บริหารที่มองไปข้างหน้านั้น เขาจะไม่สนใจต่อคุณลักษณะหรือทักษะที่ปรากฎในตัว Job Description เท่านั้น แต่เริ่มมุ่งเน้นที่ทักษะที่สำคัญและจำเป็นต่อความสำเร็จในอนาคตมากขึ้น
ในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum เมื่อไม่นานมานี้ หัวข้อหลักที่เป็นประเด็นที่ผู้บริหารจากทั่วโลกคุยกันมากคือ เรื่องของงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการคุยถึงเรื่องวิวัฒนาการของ AI เมื่อใด ก็จะต้องมีคำถามตามมาเสมอถึงงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
มีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องงานในอนาคตที่น่าสนใจหลายประการจากงานดังกล่าว เริ่มตั้งแต่เห็นพ้องต้องกันว่า วิวิฒนาการของ AI และหุ่นยนต์นั้นจะไม่ได้ทำงานให้งานในอนาคตลดลงจากปัจจุบัน แต่ในทางกลับกัน AI จะทำให้มีงานใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ไม่มีงานให้ทำในอนาคต แต่อยู่ที่การพัฒนาคนให้มีทักษะที่เหมาะสมที่จะเติมเต็มในงานต่างๆ เหล่านั้นต่างหาก
ในรายงานของ WEF อีกฉบับระบุไว้เลยว่า งานหลายๆ อย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันจะลดบทบาทและความจำเป็นลงในปี 2022 ไม่ว่าจะเป็น นักบัญชี เลขานุการ เจ้าหน้าที่ป้อนข้อมูล พนักงานบริการลูกค้า ผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นต้น ขณะเดียวกันงานใหม่ๆ ที่จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในปี 2022 มีอาทิเช่น Data analysts and scientiest, AI and machine learning specialists, Big data specialists, Digital transformation specialists เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจากพัฒนาการของเทคโนโลยีจะทำให้งานหลายๆ งานมีการเปลี่ยนรูปโฉมไป งานที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน จะลดความสำคัญลงและจะมีงานใหม่ๆ ที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน มีความสำคัญมากขึ้น
ในการประชุมประจำปีของ WEF ยังมีประเด็นที่น่าสนใจว่าในปี 2027 จำนวนพนักงานจำนวนมากจะเป็นพนักงาน Freelance กันมากขึ้น คนเหล่านี้จะไม่ได้เป็นพนักงานประจำของบริษัท แต่รับจ้างทำงานเป็นชิ้นๆ หรือเป็นโครงการ ขณะเดียวกันก็จะไม่ยึดติดกับประเทศหรือเมืองที่อยู่ แต่พร้อมจะท่องไปตามเมืองต่างๆ และทำงานไปพร้อมๆ กัน (แบบที่เราเรียกกันว่า Digital Nomads) และที่สำคัญที่สุดคือ เนื่องจากเทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเรียนรู้ตลอดเวลา เรียนรู้ตลอดชีวิต และเรียนรู้ในทักษะใหม่ๆ จึงเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับคนที่จะเติบโตในโลกอนาคต
ทั้งหมดนี้ทาง WEF ก็มาสรุปว่าระบบการศึกษาจะต้องเปลี่ยนไป ระบบการศึกษาในปัจจุบัน (ทั่วโลก) ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงช้าเกินไป และไม่พร้อมในการสร้างคนสำหรับโลกในอนาคต ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมในการเรียนรู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตกลายเป็นสิ่งจำเป็น และจะต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่าการเรียนรู้ไม่ได้จบที่ใบปริญญา แต่จะต้องเป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องตลอดชีวิต
นอกจากนี้ระบบการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะของมนุษย์ที่ AI และหุ่นยนต์ไม่สามารถทดแทนได้ หรือ ต่อให้พอจะทดแทนได้ ก็ไม่สามารถทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความสงสัย อยากรู้ เป็นต้น
ดังนั้น สำหรับคนรุ่นใหม่และโลกอนาคต ใบปริญญาอาจจะไม่สิ่งที่สำคัญอีกต่อไป แต่สิ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการทำงานของเขาคือ ทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต และความสามารถในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ก็ต้องตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันของเรา เตรียมพร้อมคนไทย สำหรับงานในอนาคตหรือยัง? และยิ่งไปอ่านนโยบายทางด้านการศึกษาของพรรคการเมืองต่างๆ ที่อาสามาเป็นรัฐบาล ก็ต้องร้องว่า .............