นโยบายเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลชุดใหม่ และความท้าทาย
หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา
ก็ทำให้เกิดความชัดเจนว่าจะมีเพียง 2 ขั้วการเมืองใหญ่เท่านั้น คือขั้วของพรรคเพื่อไทย กับขั้วของพรรคพลังประชารัฐ ที่จะแข่งกันจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งขั้วที่จะได้กลายเป็นฝ่ายรัฐบาลก็จะได้เป็นผู้กำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับนโยบายที่ตนได้หาเสียงเอาไว้
ถ้าหากว่าขั้วทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว ทิศทางหลักของนโยบายเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งจะเน้นในเรื่อง “การก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ในระดับปานกลาง” โดยผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศไว้แล้ว ซึ่งจะรวมถึงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนในเรื่องวิธีการแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม” นั้น ก็คงจะเป็นไปตามแนวทางในลักษณะที่ผ่านมาที่มีการนำเสนอโครงการประชารัฐต่างๆ และบัตรสวัสดิการคนจน เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการบวกเอาเรื่องใหม่ที่ได้สัญญากับประชาชนในระหว่างการหาเสียง เช่น การทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและระดับเงินเดือนเริ่มต้นของคนที่จบปริญญาตรีให้สูงขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ได้หาเสียงเอาไว้ด้วย
แต่ถ้าหากว่าผลการจัดตั้งรัฐบาลออกมาในลักษณะที่เป็นไปตามข่าวล่าสุดที่ออกมาในขณะที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้อยู่ กล่าวคือทางขั้วฝั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองพันธมิตรที่รวมตัวกัน 7 พรรค ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย ประกาศตั้งรัฐบาลด้วยเสียงที่มีรวมกัน 255 เสียงได้สำเร็จ ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างแน่นอน โดยมีสาระสำคัญของลำดับความสำคัญของนโยบายที่มีการหาเสียงเอาไว้ (จะขอกล่าวถึงเพียงบางส่วน) คือ
ประการแรก นโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วนภายใน 180 วันของพรรคเพื่อไทย เพื่อเพิ่มรายได้ (ลดหนี้) และสร้างอำนาจซื้อของเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี และปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอี การขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจรายย่อย นโยบายการทยอยปรับเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำราว 15%อย่างเป็นขั้นตอน นโยบายลดภาษีนิติบุคคล และการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาการผลิตให้กับเกษตรกร เป็นต้น
ประการที่ 2 ได้แก่การผลักดันระบบสวัสดิการสังคม เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจให้ครอบคลุมและยุติธรรมแก่ผู้ส่งเงินประกันสังคมในทุกสาขาอาชีพ การกำหนดแนวทางในการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสังคมประเภทต่างๆ เพื่อยกระดับประโยชน์ของผู้ประกันตนกับกองทุน และการเสริมสร้างระบบการประกันการว่างงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีเรื่องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาทฯ) ที่จะขยายประเภทของการเจ็บป่วยและยกระดับมาตรฐานคุณภาพด้านสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสากลด้วย
จะเห็นได้ว่าเพียงแค่เรื่องใหญ่ทั้ง 2 เรื่องข้างต้นนี้ก็จะมีผลทำให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องมีภาระทางการคลังในรูปของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากแน่นอน ความท้าทายสำคัญของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวเพื่อให้สามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวไว้ได้ด้วย จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างน้อยๆ 2 ประการดังต่อไปนี้
ปัจจัยแรก การจัดลำดับความความสำคัญของการใช้งบประมาณกันใหม่ที่อาจแตกต่างไปจากในอดีต ยกตัวอย่าง เช่น หากต้องการจะเน้นความสำคัญทางด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการแข่งขันทางธุรกิจในระดับโลก ก็จำเป็นจะต้องให้น้ำหนักความสำคัญเรื่องของความมั่นคงทางทหารที่ลดลง เป็นต้น ซึ่งก็จะออกมาในรูปของการปฏิรูปกองทัพ หรือการปรับวิธีการเกณฑ์ทหารกันใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ก็คงจะต้องผลักดันเรื่องของการกระจายอำนาจทางการคลังและทางการเมืองให้มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะลดปัญหาการรวมศูนย์อำนาจที่ขาดประสิทธิภาพเพราะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในส่วนกลางมากเกินไป ซึ่งเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ หรือจะทำกันได้อย่างรวดเร็วแน่นอน
ปัจจัยที่ 2 คือการเพิ่มรายได้ของรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะขึ้นอยู่กับภาวะของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะเกิดสภาวะหดตัวในอนาคตอันใกล้หรือไม่ อีกประการหนึ่งก็คือผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจขนาดใหญ่หรือผู้ที่มีรายได้สูง ถ้าหากว่าจะต้องปฏิรูประบบภาษีกันใหม่เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมในระยะยาว รวมทั้งเรื่องการปรับวิธีการหารายได้เข้ารัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมด้วยการลดอำนาจผูกขาดของผู้ประกอบการรายใหญ่บางราย เช่น การใช้นโยบายประมูลหาผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าปลอดภาษีแบบหลายรายแทนที่จะมีเพียงรายเดียวเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถเก็บส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจเหล่านี้ได้มากขึ้น
เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องการจะดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งย่อมจะต้องเผชิญกับแรงกดดันและการต่อต้านมากมายจากกลุ่มที่ต้องเสียประโยชน์จากที่เคยได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม หากความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหล่านั้นสามารถจะถูกนำมาถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปกันภายใต้กลไกของรัฐสภาที่กำลังจะเริ่มกลับมาทำงานกันใหม่นี้ ก็เป็นไปได้ว่าบางปัญหาเหล่านั้นอาจสามารถหาข้อสรุปให้เป็นที่ยุติกันได้สำหรับทุกฝ่าย แต่ถ้ายังมีปัญหาที่เรายังไม่สามารถหาข้อยุติกันได้ เราก็ยังมีทางเลือกในการที่จะนำปัญหาเหล่านั้นกลับไปถามประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศโดยผ่านกลไกของการเลือกตั้งใหม่ ใช่หรือไม่