‘นโยบายภาษีจีน’ อุปสรรคธุรกิจหนังฮ่องกง
ขออนุญาตเล่าถึงควันหลงงาน “ฟิล์มอาร์ต 2019” ในฮ่องกงที่ผมไปทำข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากจะได้เห็นการบรรลุข้อตกลงมากมายของผู้ผลิตภาพยนตร์ โทรทัศน์ และคอนเทนท์ออนไลน์จากทั่วโลกแล้ว ยังได้เห็นการถกเถียงเรื่องนโยบายภาษีระหว่างฮ่องกงกับจีนด้วย
ปัจจุบัน มีการตรวจสอบภาษีเข้มงวดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงของจีน แม้แต่ผู้คร่ำหวอดอุตสาหกรรมนี้มานานในฮ่องกงยังประสบปัญหาในการดำเนินงาน ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมทางการเงินใหม่ และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนมีความชัดเจนมากกว่านี้
ฮ่องกงผลิตภาพยนตร์ราว 60 เรื่องต่อปี โดย 3 ใน 4 ของจำนวนนี้เป็นการร่วมผลิตกับจีน การปฏิรูปนโยบายภาษีของอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนเมื่อปีที่แล้ว เกิดขึ้นหลังกรณีเลี่ยงภาษีสุดอื้อฉาวที่โยงถึง “ฟ่าน ปิงปิง” ซูเปอร์สตาร์สาวชาวจีน สร้างกระแสความสับสนทั้งในจีนและฮ่องกงซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนและมีกฎเกณฑ์ทางการเงินเป็นของตัวเอง
ระหว่างการเสวนาประเด็นภาษีของจีนในงานฟิล์มอาร์ตครั้งนี้ ผู้ร่วมอภิปรายบางส่วนบอกว่า การบังคับใช้นโยบายใหม่ที่ไม่สอดคล้องกันในจีนและการขาดความรู้ บั่นทอนความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างฮ่องกงกับจีนอย่างหนัก
“รัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่งมีนโยบายของตัวเอง แต่ผู้ที่นำนโยบายนั้นมาใช้กลับไม่เข้าใจเลยว่าจะต้องทำอย่างไร” อึ้ง ซี หยุน นักจัดนิทรรศการและผู้ผลิตภาพยนตร์มากประสบการณ์ชาวฮ่องกง ซึ่งมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับอุตสาหกรรมจีน ผ่านธุรกิจเชนโรงภาพยนตร์ “ยูเอ็มอี” กล่าว
อึ้งเล่าต่อว่า นโยบายดังกล่าวระบุไว้ว่าชาวฮ่องกงสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงภาพยนตร์ หรือธุรกิจตามที่ระบุไว้ แต่พอเอาเข้าจริง ถ้าไปถามหน่วยงาน 100 แห่ง ไม่มีหน่วยงานไหนรู้นโยบายอย่างถ่องแท้เลย
"ไม่ว่าผมจะถามใครก็ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย" อึ้งกล่าวในงานสัมมนา พร้อมเรียกเสียงหัวเราะและปรบมือจากผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮ่องกง และบอกว่า “เห็นได้ชัดว่า การมีตัวบทกฎหมายนั้นยังไม่เพียงพอ”
อึ้งกล่าวด้วยว่า การทำบัญชีในฮ่องกงเป็นไปอย่าง "ตรงไปตรงมา เชื่อถือได้ และเป็นมืออาชีพมาก"
นอกจากนั้น ผู้คร่ำหวอดวงการภาพยนตร์รายนี้ยังเรียกร้องให้ทางการฮ่องกงตั้งหน่วยงานพิเศษที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แก้ปัญหาภาษี ซึ่งเขายอมรับว่ารู้สึก “หงุดหงิดมาก” เกี่ยวกับการขาดข้อมูลด้านนี้
“ปัจจุบัน ฮ่องกงแน่นแฟ้นและให้ความร่วมมือกับจีนอย่างมากเกี่ยวกับกฎหมายภาษี ควรจะมีคนที่สามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำที่ชัดเจนกับเราได้แล้ว”
สุ่ย ซิ่วหมิง ประธานสมาคมโทรทัศน์ฮ่องกงที่ร่วมงานเสวนานี้ด้วย เปรียบเทียบสถานการณ์ในจีนว่า เหมือนกับอาจารย์ศิลปะป้องกันตัว 1 คนที่มีลูกศิษย์ 10 คน แต่ออกท่าทางไม่เหมือนกันสักคน
“มันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ชาวฮ่องกงจะต้องเสียเวลาและเงินไปกับการพยายามทำตามนโยบายลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการเปิดบริษัทบันเทิงในจีน ซึ่งสุดท้ายกลับไม่ได้อะไรเลย เพราะบรรดาเจ้าหน้าที่จีนเองยังไม่เข้าใจเลยว่าสิ่งไหนสามารถทำได้บ้าง”
สุ่ย ปิดท้ายว่า ฮ่องกงจำเป็นต้องมีความเป็นเอกภาพและทำงานร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเงื่อนไขที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะสามารถพัฒนาในทิศทางที่ต้องการได้ ซึ่งถือเป็น “ความพยายามร่วมกันทุกฝ่าย”