บนเส้นทางสู่ Cashless Society
สวัสดีครับ วันนี้ผมจะขอพูดถึงแนวโน้มของกระแสดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเรา รวมทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน
ส่งผลให้สังคมไทยกำลังเดินหน้าเข้าใกล้ "Cashless Society" หรือ “สังคมไร้เงินสด” มากขึ้นทุกขณะ ซึ่งผู้ให้บริการทางการเงินและธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การที่เราจะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความพร้อมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคให้มองเห็นทั้งประโยชน์และใช้ธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความตื่นตัวเรื่องสังคมไร้เงินสด โดยประชาชนในจีนหันมาใช้สมาร์ทโฟนในการชำระเงินมากขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินในร้านอาหาร การจองรถแท็กซี่ หรือแม้กระทั่งการให้เงินแก่นักดนตรีเปิดหมวกข้างทางซึ่งแขวนป้าย QR Code ไว้ที่ตัว เห็นได้ชัดว่าจีนนั้นกำลังจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ สะท้อนได้จากแอพพลิเคชันในการชำระเงิน อาทิ WeChatPay และ Alipay ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงความมุ่งมั่นของจีนในการสร้างสังคมไร้เงินสดยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย ร้านค้าต่างๆ สามารถสร้าง QR Code ของตนเองเพื่อรับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องอาศัยฮาร์ดเแวร์หรือเครื่องอ่านชิปการ์ดแต่อย่างใด
ในบริบทของประเทศไทยนั้นเราต่างทราบดีว่าสถาบันทางการเงินต่างมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีด้านการชำระเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เมื่อพิจารณาตัวเลขการใช้ช่องทางดิจิทัลในการชำระเงินที่เปิดเผยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะเห็นว่าตัวเลขธุรกรรมตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 5,868 ล้านรายการโดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83 ขณะที่ตัวเลขของธุรกรรมของธุรกิจรายย่อยนั้นเติบโตกว่าร้อยละ 115 ส่วนธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตถึงร้อยละ 260 โดยบัญชีเพื่อทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นถึง 47 ล้านบัญชีหรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว
ปัจจุบันผู้ให้บริการทางการเงินของประเทศไทยกำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อขยายฐานลูกค้า ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจรายย่อย โดยในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทวีซ่าได้สำรวจทัศนคติเกี่ยวกับระบบชำระเงินดิจิทัลของผู้ใช้งานกว่า 4,000 คนของประเทศต่างๆ ใน ASEAN และในจำนวนนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยทั้งสิ้น 500 คน พบว่ามีคนไทยกว่าร้อยละ 60 ที่พยายามใช้ชีวิตโดยไม่ใช้เงินสดในหนึ่งวันและกว่าร้อยละ 45 ให้ข้อมูลว่าพวกเขาพยายามที่จะไม่ใช้เงินสดเลยเป็นเวลา 3 วัน* ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นสัญญานบ่งชี้การก้าวสู่สังคมไร้เงินสดของไทย
นอกเหนือไปจาก PromptPay ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะเริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการชำระเงินในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น บริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่น ได้จับมือกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ในการผูกบัตร Rabbit เข้ากับการบริการการชำระเงินในระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้โดยสารสามารถเติมเงินหรือชำระค่าบัตรโดยสารผ่านระบบ Line Pay ได้ทันที หรือเมื่อเร็วๆนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BMTA) ได้ฤกษ์ปล่อยรถโดยสารที่มีระบบชำระเงินผ่านระบบ QR หรือ ระบบ mobile banking ให้ผู้โดยสารระบบขนส่งสาธารณะได้ใช้แล้ว
ส่วนธนาคารพาณิชย์ต่างก็รุกสู่ตลาดดิจิทัลมากขึ้น สังเกตได้จากธนาคารบางแห่งได้จับมือกับผู้ค้ารายย่อย เช่น ร้านขายบะหมี่หน้าร้านสะดวกซื้อ ในการให้บริการการชำระเงินผ่านระบบ QR เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวกกว่าเดิม ทั้งนี้เราต้องศึกษาประเด็นด้านกฎหมายภาษีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ หรือ ภาษี e-Payment ที่เพิ่งออกมาด้วย เพื่อทำความเข้าใจประเด็นภาษีของธุรกรรมที่มีลักษณะเช่นนี้ให้ดียิ่งขึ้น
จะเห็นว่าทุกภาคส่วนต่างเตรียมความพร้อมและมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมเดินทางไปสู่ Cashless Society การเตรียมระบบการชำระเงินให้มีเสถียรภาพและปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น แต่ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการร่วมมือร่วมใจเพื่อให้คนไทยเข้าถึงและมีความเข้าใจในประโยชน์และรู้เท่าทันการชำระเงินในรูปแบบใหม่ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น เมื่อคนไทยใช้เงินสดน้อยลง ผลที่ได้คือต้นทุนการบริหารเงินสดก็จะลดลง เป็นประโยชน์โดยภาพรวมที่เราคนไทยจะได้รับแน่นอนครับ
* ที่มา: https://www.nationmultimedia.com/detail/Startup_and_IT/30367260