การระงับข้อพิพาททางเลือก
ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการระงับข้อพิพาทโดยปกติจะกระทำโดยศาล (Litigation) ซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด
ถูกโต้แย้งสิทธิจึงต้องนำข้อพิพาทฟ้องร้องเป็นคดี ซึ่งศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ ศาลจึงเป็นกลไกในการระงับข้อพิพาทที่มีมาตรฐานที่สุด เนื่องจากมีการกำหนดวิธีพิจารณาไว้อย่างชัดเจน และคดีจะถูกตัดสินโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการอาชีพที่มีความเป็นกลาง ศาลจึงเป็นองค์กรหลักในการระงับข้อพิพาทที่ทุกสังให้การยอมรับมาอย่างยาวนาน
นอกจากการกำหนดมาตรฐานกระบวนการพิจารณาเพื่อการบริหารกระบวนการยุติธรรมในระบบศาลแล้ว ในระบบศาลยังกำหนดให้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจระหว่างศาลเดียวกันโดยระบบชั้นศาลอีกด้วย กล่าวคือเมื่อคู่ความไม่พอใจคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาต่อศาลสูงได้ตามลำดับชั้นศาลและตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมแก่คู่กรณี แต่วิธีดำเนินการโดยศาลนั้นมีกฎเกณฑ์ขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติและรายละเอียดขั้นตอนวิธีการที่ซับซ้อนมาก จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการที่ยาวนาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ท้ายที่สุดการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อพิพาทในสังคมก็ไม่อาจแก้ไขเยียวยาคู่กรณีได้ แต่กลับยิ่งทำให้สร้างความขัดแย้งให้มีมากขึ้นไปอีก และส่งผลทำให้ข้อพิพาทต่าง ๆ หลั่งไหลเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องคดีต่อศาลเป็นจำนวนมาก
ในการบริหารกระบวนการยุติธรรมของรัฐสมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ รัฐจึงต้องพยายามแสวงหาเครื่องมือและกลไกขึ้นมาเพื่อระงับข้อพิพาทให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมในปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็วและเป็นธรรม บรรลุวัตถุประสงค์ในอันที่จะคุ้มครองสังคมให้มีความสงบ กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันจึงมีวิธีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอื่น ๆ นอกจากวิธีการทางศาล (Outside of the courtroom) โดยเรียกว่า วิธีการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution : ADR) ซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี ซึ่งพอสรุปได้ 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
1.การเจรจาต่อรอง (Negotiation) คำว่า “เจรจาต่อรอง” มาจากคำว่า “เจรจา” กับ “ต่อรอง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า “เจรจา” หมายถึง พูด พูดจา พูดจากันเป็นทางการ ส่วนคำว่า “ต่อรอง” หมายถึง ขอลดให้น้อยลง คำว่าเจรจาต่อรองนี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Negotiate” หมายถึง Try to reach agreement by discussion จากรากศัพท์ดังกล่าวจึงอาจสรุปได้ว่า การเจรจาต่อรอง หมายถึง “การแสวงหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างคู่กรณีตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป โดยอาศัยกระบวนการสันติวิธี”
2.การไกล่เกลี่ยหรือการประนอมข้อพิพาท (Mediation or Conciliation) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้คำนิยามว่า การไกล่เกลี่ย หมายความว่า พูดจาให้ปรองดองกัน พูดจาให้ตกลงกัน ทำให้เรียบร้อย ทำให้เสมอกัน ส่วนพจนานุกรมของ Black’s Law ให้ความหมายว่า การแทรกแซงหรือสอดแทรกของบุคคลที่สามเพื่ออยู่ระหว่างกลางบุคคลสองฝ่ายที่มีข้อพิพาทเพื่อชักจูงให้บุคคลที่มีข้อพิพาทปรับเปลี่ยนหรือตกลงในปัญหาข้อพิพาทได้ เป็นการตกลงในข้อพิพาทโดยการกระทำที่เป็นกลางหรือบุคคลที่เป็นกลาง สรุปได้ว่า การระงับข้อพิพาทโดยวิธีการไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคู่กรณี โดยมีบุคคลที่สามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย และคู่พิพาททั้งสองฝ่ายยอมผ่อนผันข้อเรียกร้องของตนและแต่ละฝ่ายจะได้สิทธิตามที่ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความกัน
ในประเทศไทย ความหมายของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการประนอมข้อพิพาทมิได้มีความหมายที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน สำหรับบางประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาความหมายหรือกระบวนการของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Mediation) และการประนอมข้อพิพาท (Conciliation) มีการแยกออกจากกัน โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นเป็นวิธีการให้ความสำคัญกับคู่ความในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเจรจาด้วยตนเอง โดยส่วนใหญ่มิได้กระทำผ่านทนายความ และผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทั้งสองฝ่ายในการหาข้อตกลงร่วมกัน สำหรับกระบวนการประนอมข้อพิพาทนั้นมักกระทำผ่านทนายความของแต่ละฝ่าย โดยผู้ประนอมข้อพิพาทซึ่งเป็นทนายความผู้มีประสบการณ์ จะทำหน้าที่ในการแยกแยะประเด็น ปัญหาและประเมินจุดอ่อนและจุดแข็งของคู่ความแต่ละฝ่าย และพยายามหาข้อตกลงระหว่างกัน
3.อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้นิยามไว้ว่า “บุคคลที่คู่กรณีพร้อมใจกันตั้งขึ้นเพื่อให้ชำระตัดสินในข้อพิพาท” ซึ่งการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเป็นการตกลงเพื่อยุติข้อพิพาทโดยการตัดสินใจของคนกลาง ซึ่งจะต้องไม่ใช่เป็นฝ่ายในข้อพิพาทคือเป็นบุคคลภายนอกจะมีจำนวนหนึ่งคนหรือหลายคนก็ได้ โดยได้รับเลือกจากผู้เป็นคู่ความในข้อพิพาทหรือได้รับแต่งตั้งตามวิธีการที่ผู้เป็นคู่ความในข้อพิพาทได้ตกลงไว้หรือตามที่กฎหมายกำหนดให้ทำการพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทเรื่องใด ๆ โดยเฉพาะคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น โดยทั่วไปแล้ว จะถือว่าถึงที่สุดหมายความว่ามีผลเป็นการยุติข้อพิพาท ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและกฎหมายและคู่กรณีจะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดนั้นเมื่อคู่กรณีเป็นผู้แพ้คดีไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดอีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถอาศัยองค์กรของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือศาลให้ทำการระงับตามที่ได้ชี้ขาดนั้นได้
การระงับข้อพิพาททั้งสามรูปแบบข้างต้น วิธีการอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีการที่ได้รับการพัฒนาและได้รับการยอมรับในวงกว้างที่สุด มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ (New York Convention 1958) และประเทศไทยก็มีการตรากฎหมายเพื่อส่งเสริมระบบอนุญาโตตุลาการในฐานะกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาตั้งแต่ปี 2530 โดยปัจจุบันเป็นพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
โดย...
ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์