ความเสียหายจากสื่อสังคมออนไลน์
โลกในสังคมยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวก
ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ เทคโนโลยีการสื่อสารที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ก็คือ สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหมายถึง สื่อดิจิทัลที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการทางสังคม(Social Tool)เพื่อใช้สื่อสารระหว่างกันในเครือข่ายทางสังคม(Social Network)ผ่านทางเว็บไซต์และโปรแกรมประยุกต์บนสื่อใดๆ ที่มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต โดยเน้นให้ผู้ใช้ทั้งที่เป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารมีส่วนร่วม(Collaborative)อย่างสร้างสรรค์ ในการผลิตเนื้อหาขึ้นเอง(User-Generate Content: UGC)ในรูปของข้อมูล ภาพ และเสียง ในปัจจุบันที่ได้รับความนิยม เช่น Facebook, YouTube, Twitter, Line, WhatsApp
สื่อเหล่านี้ต่างสร้างประโยชน์ต่าง ๆ เป็นอย่างมากในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความรู้และความบันเทิง อย่างไรก็ตามการใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็ยังนำพาปัญหาต่าง ๆ เข้ามาในสังคมเป็นอย่างมาก เพราะผู้ใช้ต่างใช้สื่อเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองโดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ตัวอย่างการใช้สื่อที่ส่งผมกระทบต่อสภาพสังคมและสิทธิส่วนบุคคลเช่น การแสดงความคิดเห็นที่นำมาสู่ความแตกแยก การล่อลวงหลอกลวง หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล หรือเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ การกระทำเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเหยื่อผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมากเพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เผยแพร่ด้วยความรวดเร็วและง่ายต่อการเข้าถึงทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นแผ่ขยายเป็นวงกว้าง
ด้วยสภาพปัญหาที่กล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าผลกระทบส่วนใหญ่ เกิดจากการที่ผู้กระทำความผิดขาดความยั้งคิดในการใช้โซเซียลมีเดียซึ่งถือเป็นการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ซึ่งในความผิด มาตรา 14 จะระบุโทษการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ออกเป็น โพสต์ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่งคงปลอดภัย โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ก่อการร้าย โพสต์ข้อมูลลามกที่ประชาชนเข้าถึงได้ เผยแพร่ ส่งต่อข้อมูล ที่รู้แล้วว่าผิด ในส่วนของบทลงโทษหากเป็นการกระทำที่ส่งผลถึงประชาชน ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นกรณีที่เป็นการกระทำที่ส่งผลต่อบุคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีอย่างหลังนี้สามารถยอมความกันได้
ขอหยิบยกนำตัวอย่างคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ให้ได้เห็นถึงแนวทางคดีความที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบันคือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4292/2560 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณาขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 326, 328 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไขโดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560) มาตรา 3, 14, 15 พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 มาตรา 4 กับเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสี่ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วันและในเว็บไซต์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสี่
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนค่าธรรมเนียมศาลในส่วนแพ่งที่วางไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาอันมีผลเป็นการไม่รับคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาแล้วศาลชั้นต้นย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งโดยลำพังไว้พิจารณา จึงต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งและคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์
ดังนั้น การใช้สื่อต่างๆ ในปัจจุบันโดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียนั้นเมื่อประชาชนได้รับความเสียหายก็จะควรมีช่องทางในการนำเรื่องขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมที่สะดวกและรวดเร็วเพื่อเป็นการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหาย หากผู้เสียหายไม่มีความรู้ความเข้าใจทางกฎหมายจากการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์แล้วย่อมไม่อาจได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการป้องกันและเยียวยาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
นอกจากจะต้องคำนึงถึงมิติในด้านกฎหมายแล้วยังต้องคำนึงถึงมิติทางด้านผลกระทบทางสังคมได้รับจากสื่อโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์และการแชร์ข้อมูลนั้นจำเป็นต้องใช้สติวิจารณญาณไตร่ตรองถึงความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อตนเองและสังคมส่วนรวม การกระทำเล็กๆ น้อยที่ขาดความยั้งคิดก็อาจส่งผลกรทบต่อสังคมได้อย่างเป็นวงกว้าง จำเป็นแล้วที่บุคคลทุกคนในสังคมควรตระหนักถึงเสรีถาพในการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม
โดย...
ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์