โอกาสและอนาคตใหม่ของไทยในฐานะครัวของโลก

โอกาสและอนาคตใหม่ของไทยในฐานะครัวของโลก

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นครัวของโลก แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ลูกค้าเปลี่ยน ครัวของโลกและเมนูของครัวโลกก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เมื่อ 23 พ.ค.

 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังบรรยายของ รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต ถึงแนวโน้มเกษตรโลกที่กำลังจะเปลี่ยนและโอกาสของประเทศไทย จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังสักเล็กน้อยนะคะ

ลูกค้ายุคใหม่เป็นลูกค้าที่มีการศึกษาและสนใจสุขภาพมากขึ้น ลูกค้าเหล่านี้จะสนใจว่า อาหารที่ตนเองรับประทานนั้นมาจากที่ไหนและมีคุณภาพอย่างไร การศึกษาของ International Food Information Council Foundation (IFIC Foundation) พบว่า ลูกค้าสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแบรนด์ หากมีข้อมูลเพิ่มขึ้นว่าสินค้านั้นมาจากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ (เช่น ได้มาจากข้าวโพดที่ไม่สร้างหมอกควัน) และยังสนใจสิ่งที่เรียกว่า ฉลากสะอาด (Clean Label) ซึ่งจะสามารถแสดงข้อมูลที่ทำให้เข้าใจง่ายๆ ว่าสินค้าดังกล่าวมีส่วนประกอบของวัตถุดิบจากธรรมชาติและวัตถุสังเคราะห์เป็นสัดส่วนมากน้อยเพียงใด หลักเกณฑ์ของการทำฉลากสะอาดก็คือ จะต้องมีรายการขององค์ประกอบที่สั้นลง มีส่วนประกอบอาหารอินทรีย์มากขึ้น ทำให้ภาชนะหีบห่อที่บรรจุอาหารเห็นง่าย อ่านง่าย เป็นภาชนะที่สร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

อีกแนวโน้มหนึ่งคือ การลดอาหารประเภทแป้ง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของสหรัฐ คือ Cargill ได้ช่วยให้ร้านขายขนมปังทำฉลากสะอาด โดยให้เพิ่มแป้งจากถั่วเป็นองค์ประกอบของโปรตีนในขนมปังมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศยังได้เริ่มใช้งานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และการทดสอบดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อที่จะสร้างอาหารเฉพาะตัวบุคคล (Personalized Diet) เช่น ประกอบไปด้วยแคปซูลที่สามารถเสนออาหารที่มีโภชนาการสูงกว่าปกติและเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้บริโภค เช่น บริษัทเนสท์เล่ในประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในโครงการนำเสนออาหารส่วนบุคคลให้แก่ลูกค้ากว่าแสนราย โดยนำเสนอรูปภาพอาหารพร้อมกับแอพพลิเคชั่นบน LINE เพื่อให้ลูกค้าสามารถมีอาหารเสริมที่เหมาะสมกับตนเอง โปรแกรมนี้มีราคา 600 ดอลลาร์ ชุดของสินค้าประกอบด้วย ใบชาที่มีโภชนาการสูง สมูทตี้ ของขบเคี้ยวทานเล่นที่เสริมวิตามิน รวมทั้งอุปกรณ์ที่สามารถใช้ทดสอบเลือดและดีเอ็นเอของตนเอง เพื่อที่จะดูว่ามีปัญหาไขมันและเบาหวานหรือไม่

นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง เช่น หมึกพิมพ์ที่เคยเป็นพลาสติกกำลังถูกเปลี่ยนไปเป็นแป้งและเจลาตินเพื่อให้สามารถออกแบบและผลิตสินค้าที่สวยงามบนเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) ซึ่งจะสามารถประหยัดเวลาของแรงงานที่มีทักษะสูง

อาหารสำหรับอนาคต นอกจากจะต้องดีต่อสุขภาพแล้วยังจะต้องดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย มีความพยายามที่จะลดการบริโภคเนื้อวัว ซึ่งเป็นอาหารที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในบรรดาอาหารโปรตีนทั้งหมด โดยใช้การสับเปลี่ยนเนื้อในแฮมเบอร์เกอร์แทนด้วยถั่วเหลืองที่ไม่ได้ดัดแปลงพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า GMOs (Genetically Modified Organism) ซึ่งมีคุณภาพเนื้อดีกว่าแฮมเบอร์เกอร์ที่ผลิตจากเนื้อวัว เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ไม่ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์หรือผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคแบบเบียดเบียนโลก อาหารกำลังถูกสร้างสรรค์จากในห้องแล็บมากขึ้น เช่น เนื้อวัวจากสเต็มเซลล์ รวมไปถึงกุ้ง ปลา เพื่อลดภาระที่มีต่อสิ่งแวดล้อม แม้ในขณะนี้เนื้อวัวจากห้องแล็บจะยังราคาสูงอยู่ เช่น แฮมเบอร์เกอร์ที่ผลิตได้ในปี 2013 มีต้นทุนการผลิตสูงถึง 215,000 ปอนด์ แต่คาดว่าในปี 2020 ก็จะสามารถผลิตมาสู่ตลาดเคียงข้างกับแฮมเบอร์เกอร์ธรรมดาได้

นมวัวที่ไม่มีนมที่ผลิตจากยีสต์ กำลังถูกผลิตจากการใส่ดีเอ็นเอสังเคราะห์ของสัตว์เข้าไปในเซลล์ของยีสต์ วัตถุประสงค์เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการปฏิบัติต่อสัตว์ ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการบริโภคเนื้อวัว

บริษัทสตาร์ทอัพที่ผลิตอาหารเหล่านี้กำลังได้รับความสนใจกับผู้ลงทุนรายใหญ่ๆ เช่น บิลล์ เกตส์ หรือแม้แต่ดารา เช่น ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ผู้สร้างทวิตเตอร์ ได้แก่ บริดสโตน และอีแวน วิลเลียมส์

การศึกษาร่วมกันเรื่อง อนาคตเกษตรโลก 2018 ถึง 2027 ของกลุ่มประเทศ OECD และ FAO รายงานว่าในช่วง 20 ปีข้างหน้านี้ราคาพืชผลเกษตรก็ยังจะอยู่ในระดับต่ำ เป็นผลกระทบจากการที่พืชผลส่วนเกินสูงมากในปี 2007 - 2008 ส่งผลให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้ความต้องการลดลง ดังนั้นราคาพืชผลเกษตรและอาหารจะอยู่ในระดับต่ำ การเพิ่มขึ้นของการส่งออกนี้จะมาจากประเทศที่มีที่ดินมากในทวีปอเมริกา และประเทศที่มีที่ดินต่อหัวมาก เช่น ประเทศไทย การจะเป็นครัวของโลกแต่จะส่งอาหารที่เป็นวัตถุดิบซึ่งมีแนวโน้มของราคาไม่สดใส จึงไม่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย 4.0 เท่าไหร่

ครัวของโลกสำหรับไทยในเบื้องต้นจึงมี 2 ทางเลือก เป็นครัวของโลกที่มีนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นฐานหรือครัวของโลกที่มีวัฒนธรรมเป็นฐาน ก็คือพยายามโฆษณาเมนูอาหารไทยให้กระฉ่อนโลก เช่น ต้มยำกุ้ง ส้มตำ ผัดไทย แกงเขียวหวาน เป็นต้น ถ้าถามผู้เขียน ผู้เขียนคิดว่าความสามารถเราในปัจจุบันน่าจะอาศัยข้อได้เปรียบที่มีอยู่แล้วคือวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันก็มองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ผสมผสานกับความได้เปรียบเดิมคืออาหารเชิงวัฒนธรรมให้ส่งออกได้อย่างมีคุณค่าและต้นทุนต่ำ และอาจพัฒนาไปเป็นแบบลูกผสมซึ่งจะเป็นทางเลือกที่สามได้

แต่อย่าเพิ่งไปโฆษณา ตำกระท้อนธนาธร ช่อม่วงพรรณิการ์ พล่ากุ้งปิยบุตรสุดแซ่บ เพราะเมนูเหล่านี้ยังเป็นเมนูในประเทศเท่านั้นค่ะ

ผู้ที่สนใจสามารถดาวโหลดเอกสารประกอบการนำเสนอของ รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต และติดตามอนาคตคนไทยได้ที่เว็บไซต์คนไทย 4.0 (http://www.khonthai4-0.net/)

โดย... 

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ