Millennials กับโลกแห่งอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ดิฉันได้มีโอกาสได้คลุกคลีร่วมทำกิจกรรมกับน้องๆ กลุ่ม Millennials ทำให้รู้จักและเข้าใจพวกเขามากขึ้น
Millennials คือกลุ่มคนทำงานที่มีช่วงอายุ 23-39 ปี และเป็นองค์ประกอบใหญ่ของ workforce ทั่วโลกในปัจจุบันที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญและเข้าใจวิธีการทำงานกับพวกเขาอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
เขาเป็นมนุษย์ที่มีจุดมุ่งหมายในการทำงาน (purposeful) และให้ความสำคัญกับการเติบโตก้าวหน้า รักอิสระไม่ชอบถูกควบคุม พวกเขาเกิดมาในยุคดิจิทัลแล้วจึงมีความคุ้นเคยในการใช้ social media และ digital tools ต่างๆ บนโทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อข้อมูลค้นหาได้ง่ายๆ ทุกที่ทุกเวลา จึงชอบอะไรที่โปร่งใส ยุติธรรม ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว และยิ่งชอบงานที่สามารถตอบแทนสังคมได้ (Social Responsibility)
ดิฉันได้เห็นพฤติกรรมที่เขา collaborate ช่วยเหลือซึ่งกันและชอบแชร์อะไรให้กันอย่างไม่หวงความรู้ซึ่งเป็นลักษณะเด่นอีกอย่างของน้องกลุ่มนี้ พฤติกรรมเช่นนี้ทำให้พวกเขาก้าวข้ามกรอบของตัวเองออกมาช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานเป็นทีมจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนกลุ่มนี้
นอกจากนี้พวกเขายังต้องการเติบโตในการทำงานอย่างรวดเร็ว ดิฉันจึงมักจะเห็นภาพที่พวกเขาเหล่านี้เดินเข้ามาหาผู้ใหญ่เพื่อซักถาม ขอ feedback ขอให้ช่วยโค้ช เพื่อให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของรุ่นพี่และจากข้อผิดพลาดของตัวเอง เพราะฉะนั้นการบริหารคนกลุ่มนี้ เราจึงต้องไม่ลืมที่จะเปิดเวทีให้พวกเขาได้แสดงฝีมือ มีอิสระในการคิดนอกกรอบ ได้ลองผิดลองถูก และโค้ชพวกเขาอย่างทันทีทันใดเพื่อให้เขาได้เรียนรู้และเพิ่มโอกาสในการเติบโตให้พวกเขา
บริษัทชั้นนำรุ่นใหม่อย่าง Spotify ซึ่งมีพนักงานกลุ่ม Millennials สูงถึง 95% ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานกับพนักงานกลุ่มนี้ว่า ผู้บริหารหรือผู้นำต้องสามารถ walk the talk ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างได้ ต้องสร้างให้เกิด Trust ความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะเมื่อเราไว้ใจเขา และให้โอกาสเขาดึงศักยภาพของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นก็จะตามมา, ต้องทำให้ทุกคนมี Accountability, และสร้างระบบการทำงานที่มี Autonomy หรือ “มีอิสระสูง” เพราะมีผลการวิจัยออกมายืนยันแล้วว่า ผลการทำงานของคนกลุ่มนี้จะดีขึ้นเมื่อบริษัทเพิ่มอิสระและให้อำนาจพวกเขาบริหารจัดการทีมงานกันได้เอง
หากมองผิวเผินคนมักจะพูดถึง millennials ว่าพวกเขา “ไม่อดทน เปลี่ยนงานบ่อย” แต่ถ้าได้ไปคลุกคลีและลองไปถามพวกเขา เขาก็จะตอบในมุมของเขาว่า “ไม่ใช่ไม่อดทน แต่เขาไม่รู้จะทนไปเพื่ออะไร” เพราะทุกการทำงานของเขาต้อง purposeful ผู้บริหารจึงต้องกลับมาทบทวนตัวเองด้วยว่าเราจะปรับมุมมองและที่สำคัญที่สุดคือปรับเปลี่ยน mindset เดิมๆ ของตัวเองอย่างไรให้เข้าใจและทันกับการเปลี่ยนแปลงของคนในแต่ละยุคสมัย
มีคำพูดของ Jack Welch ที่กล่าวไว้ว่า
“If the rate of change on the outside exceeds the rate of change of inside, the end is near”
ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำกล่าวนี้ แม้ว่าการทำ Digital Transformation ที่แต่ละองค์กรกำลัง focus นั้นจะสำคัญและทำให้เราวิ่งทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่ดิฉันคิดว่าการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และ mindset ให้ทันกับการเข้าใจพฤติกรรมของคนในแต่และ generation นั้นสำคัญยิ่งกว่า เพราะ “คน” คือรากฐานที่สำคัญขององค์กร ยิ่งในยุคนี้ด้วยแล้วการปลูกฝังและสร้างวัฒนธรรมให้คนมี Growth Mindset ทั้งองค์กรเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม เรื่องท้าทายในองค์กรก็ยังคงมีอยู่ ผู้บริหารยังเคยชินกับการทำงานแบบเดิมคือ Top Down, มีขั้นตอนมากมาย เน้นการออกคำสั่งและควบคุม เป็นการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ “มีอิสระต่ำ” เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติการทำงานของ Millennials จึงต้องเสียคนเก่งๆ ไปให้องค์กรอื่นที่มีการบริหารและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เขาชอบมากกว่า และเสียโอกาสที่จะสร้าง future workforce กลุ่มนี้ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญขององค์กรต่อไปในอนาคต
Bain & Company ได้แนะนำ 5 เรื่องที่จะช่วย Energize หรือชุบชีวิตองค์กรไว้ดังนี้
1)ย่นระยะห่างระหว่างผู้บริหารระดับสูงและพนักงานระดับล่าง
2)ลดความซับซ้อนขององค์กรให้เหลือแต่ Critical Role และสร้าง Inspiration ให้คนที่เก่งและเป็น talent จริงๆ ได้เติบโต
3)ออกแบบ Operating Model ที่มีอิสระสูง High Autonomy โดยให้โอกาสคนเก่งๆ มาทำงานที่จะทำให้เขาสามารถขยายขอบข่ายความรับผิดชอบมากขึ้นได้ง่าย
4)ผู้บริหารระดับสูงทำงานบนวิถีของ Agile ที่หมายถึงการมี focus และ delivery with speed
5)กำหนดรูปแบบของการเป็น Inspirational Leader และลงทุนสร้างต้นแบบ หรือวัฒนธรรมองค์กรของเรา ขึ้นมา มีการวัดผลและให้รางวัลจูงใจ
องค์กรที่จะชนะในโลกอนาคตจะแตกต่างจากองค์กรในปัจจุบันคือ More Virtual ไม่มีกรอบเยอะ Less Hierarchy ไม่มีลำดับชั้น และ Leaner ไม่อุ้ยอ้าย โดยที่ Value Chain ของการทำงานทั้งหมดเป็นดิจิทัล ซึ่งเอื้อให้ workforce สำหรับอนาคตทำงานได้เต็มศักยภาพ ยืดหยุ่น มีความสามารถที่หลากหลาย และพร้อมปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้นองค์กรจึงต้องประยุกต์ Operating Model และ Human Capital System ของตัวเองเพื่อสร้าง future workplace ให้เหมาะกับ generation ที่เปลี่ยนไป การบริหารงานแบบเก่าที่ “มีอิสระต่ำ” กำลังจะหมดไปในไม่ช้า นายจ้างและลูกจ้างต้องปรับตัวเองไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงเพื่อความอยู่รอดในโลกแห่งอนาคต