การเมืองกับเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน

การเมืองกับเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน

ในรอบปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนประสบกับความท้าทายสำคัญๆ หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ด้านการเมือง หลายประเทศในอาเซียนอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งคือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ในเดือนมี.ค. เม.ย. และพ.ค.ที่ผ่านมาตามลำดับ ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงธุรกิจต่างคาดหวัง และจับตากันอย่างใกล้ชิด โดยนักวิเคราะห์จากบริษัทหุ้นนานาชาติบริษัทหนึ่งมีความคาดหวังต่อการเลือกตั้งในอินโดนีเซียและในฟิลิปปินส์ไปในทิศทางบวกมากกว่าการเลือกตั้งในไทย ด้วยเหตุผลว่าการเลือกตั้งของ 2 ประเทศดังกล่าวมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและผู้บริโภค ในขณะที่สถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนของไทยอาจส่งผลในด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย

ที่น่าสังเกตคือหลังการเลือกตั้งประเทศทั้ง 3 ล้วนแต่ได้ผู้นำคนเดิม แต่ทำไมเฉพาะในกรณีไทยนักวิเคราะห์จึงไม่เห็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิม (แม้ว่าจะเป็นกรณีชั่วคราว) ดังเช่นในกรณีของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ คำถามคือด้วยเหตุผลใดการเลือกตั้งของไทยจึงมีแนวโน้มที่จะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย?

คำตอบอาจจะอยู่ที่ความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือในทางกลับกัน ในกรณีของไทยนั้นมีความเป็นไปได้ว่าประชาชนชาวไทยไม่เห็นแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้นำประเทศจะเป็นคนเดิมหรือไม่ แต่ปัญหาของไทยอาจจะอยู่ที่ว่าระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผลิตทางเลือกที่หลากหลายพร้อมสำหรับการรับมือความท้าทาย ทั้งจากธรรมชาติและจากปัญหาเศรษฐกิจ

และที่เป็นเช่นนั้นก็ด้วยเหตุที่ว่า โครงสร้างทางการเมืองไทยในปัจจุบันนอกจากจะมีพื้นที่ทางอำนาจคับแคบไม่แบ่งปันให้คนกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมคิด ร่วมแก้ไขปัญหาแล้ว ยังมีลักษณะตึงตัว เครียดขึงไม่ยืดหยุ่นปรับตัวได้ตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วรุนแรง

หลักฐานสำคัญของปัญหาดังกล่าวคือรัฐธรรมนูญ(รธน.)ฉบับปี 2560

รธน. 60 มีลักษณะสำคัญคือ สืบทอดเจตนารมณ์ รธน. 50 ในด้านการลดอำนาจประชาชนและเพิ่มอำนาจข้าราชการ และองค์กรอิสระ ด้วยโครงสร้างอย่างเป็นระบบกล่าวคือ รธน.60 ให้อำนาจสถาบันเสียงข้างน้อยกำกับควบคุมเสียงข้างมากอย่างเข้มงวด

ภายใต้บทบัญญัติแห่ง รธน. ฉบับนี้ นอกเหนือไปจากการเขียนกฎหมายให้สถาบันเสียงข้างมาก (ซึ่งหมายความว่ามีผู้มีส่วนร่วมในการคิดการกระทำจำนวนมาก) มีความยากลำบากในการเข้าสู่อำนาจและใช้อำนาจแล้ว รธน.ยังมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ คสช. และเครือข่ายมีอำนาจพิเศษในช่วงเปลี่ยนผ่านและได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบกำกับควบคุมโดยกฎหมายเมื่อดำรงตำแหน่งเดียวกันกับนักการเมือง ซึ่งเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลไม่ว่าจะเป็นการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่แต่งตั้งโดย คสช. และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ทำหน้าที่ต่อไปแม้จะมีการประกาศเลือกตั้งแล้วก็ตามจนกว่าจะมีสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาใหม่ (มาตรา 263) ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายมาตราต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองแก่คสช. และเครือข่าย เช่น มาตรา 112 (พระราชกิจจานุเบกษา หน้า 82) บทเฉพาะการที่กำหนดให้มี สว. 250 คนที่สรรหาและแต่งตั้งโดย คสช. (มาตรา 269) มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 272)

เมื่ออำนาจการเมืองตกอยู่ในชนชั้นนำและกองทัพแล้ว อำนาจทางเศรษฐกิจก็ตกอยู่ในมือพวกเขาด้วย จะเห็นได้ว่ารธน. 60 กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่มาจากกองทัพ ข้าราชการและนายทุน คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้สำคัญ เพราะสิ่งที่พวกเขากำหนดนั้นจะถูกใช้เป็นกรอบให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในภายหลังต้องปฏิบัติตาม รธน.2560 หมวด 6 มาตรา 65 กำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจัดทำนโยบายและใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เขียนขึ้นมาโดย คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. และคนของ คสช. ทั้งหน่วยงานรัฐและรัฐบาลสามารถถูก คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อฟ้องร้องเอาผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ซึ่งมีโทษทั้งให้พ้นจากตำแหน่ง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวมถึงโทษจำคุกด้วย (มาตรา 29)

ควรจะต้องทราบด้วยว่าอายุเฉลี่ยของ คกก.ยุทธศาสตร์ชาติอยู่ที่ 63 ปี!

รธน. 2560 ยังกำหนดกติกาการเลือกตั้งใหม่ มีการปรับสัดส่วนในการเลือก ส.ส. จำนวน 500 ที่นั่งโดยแบ่งเป็น ส.ส. ในระบบเขต 350 และ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่ออีก 150 ที่นั่งโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวในระบบเขตและจะนำคะแนนเสียงที่ได้รับมาคำนวณจำนวนที่นั่งของ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคซึ่งจะมีได้ไม่เกิน “ส.ส. พึงมี” ของแต่ละพรรคซึ่งจะได้จากการนำจำนวนผู้มาลงคะแนนทั้งหมดหารด้วยที่นั่ง ส.ส. นี่คือกติกาการเลือกตั้งในระบบ Mixed-Member Apportionment (MMA) หรือเรียกในภาษาไทยว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม

ผลของกติกาการเลือกตั้งและสถาบันฯ ดังกล่าวทำให้กระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความยุ่งยาก พรรคที่มีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่จัดตั้งรัฐบาลด้วยความยากลำบากเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สว. จำนวน 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง โดยคนกลุ่มเดียวมีอำนาจเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. มิหนำซ้ำหากจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ก็จะเป็นรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพเพราะกติกาการเลือกตั้งออกแบบไม่ให้มีพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด

ความไร้เสถียรภาพ ขาดอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินนโยบายสำคัญๆ เช่น นโยบายเศรษฐกิจถูกจับตามองและพร้อมที่จะถูกฟ้องร้องเอาผิดลงโทษจากสถาบันเสียงข้างน้อยต่างๆ ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องเจรจาต่อรองกับชนชั้นนำอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ผลประโยชน์ของชนชั้นนำอาจจะสวนทางกับผลประโยชน์ของประเทศและทิศทางการพัฒนาของโลก

ด้วยเงื่อนไขนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันแล้ว จึงไม่แปลกที่เศรษฐกิจไทยในอนาคตจะมีอาการน่าเป็นห่วงมากกว่าใคร

โดย... 

ดร.เอกสิทธิ์ หนุนภักดี

นักวิจัยฝ่าย 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)