ไม่เหลือเศษ
วันหยุดที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ดูรายการทีวีทางช่อง BBC แล้วรู้สึกสะดุดใจกับคู่สามีภรรยาที่เริ่มต้นใช้ชีวิตคู่
โดยปลีกตัวจากสังคมเมืองอย่างลอนดอน เพื่อใช้ชีวิตที่พอเพียงในชนบท สร้างบ้านจากโรงวัวด้วยวัสดุที่มีอยู่ พร้อม 2 มือและความรู้ที่หาได้จากอินเตอร์เน็ต อิฐทุกก้อนจึงล้วนมีประโยชน์ ผนังห้องที่กรุด้วยกองฟางและดินจากความร่วมมือของคนในครอบครัวนับเป็นความทรงจำที่ดีของบ้าน น่านับถือในความพยายามและแนวคิดการอยู่ได้ด้วยตนเอง ด้วยไฟฟ้าจาก Solar Cell และกังหันลม จึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในทุกประเภท
ทุกวันนี้เราจะเห็นการตื่นตัวของภาครัฐและเอกชนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมกันมากมาย ซึ่งเป็นภาพที่ดีที่ส่งการตระหนักรู้ไปยังสังคมอื่นๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมนั้นใกล้ตัวเรามาทุกขณะ ทั้งผลกระทบทางอากาศ จากฝุ่น ควัน อนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ไม่มีวิธีกำจัดโดยตรงและจะเวียนกลับมาทุกหน้าหนาว หรือปัญหาน้ำท่วมกรุงเพียงวันแรกที่ฝนตกหนัก จากขยะมหาศาลที่เกิดจากการทิ้งลงคู คลอง โดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ซึ่งต้องยอมรับว่าการดำเนินชีวิตประจำวัน เราต่างสร้างขยะให้เกิดขึ้นมากมาย
และจากความก้าวหน้าทางการสื่อสารในยุคที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ 5G ทำให้การรับรู้ข่าวสารจากทั่วโลกเป็นไปอย่างเรียลไทม์ ข่าวภัยพิบัติจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ไฟไหม้ป่า พายุฝุ่น ปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นกับสัตว์น้ำหรือปะการัง จึงรับรู้ได้ตลอดเวลา
Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) หรือการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Re-Material) หรือนำมาใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นทฤษฎีที่ถูกหยิบยกมาพูดอย่างกว้างขวาง ซึ่งปกติเราจะคุ้นชินกับ 3R คือ Reduce Reuse Recycle ที่หมายถึงด้านผู้ใช้ ให้ลดใช้น้ำใช้ไฟ หรือเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทน แต่ในด้านผู้ผลิต ด้วยหลักการของ Circular Economy จะลดการใช้ทรัพยากรได้อย่างไร
เดิม การผลิตสินค้า 1 ชิ้น จะคิดแบบเส้นตรง (Linear Economy) คือ ใช้ทรัพยากร ผลิตสินค้า และย่อยสลาย “Take-Make-Use-Waste” ซึ่งถ้าโลกมีประชากรเพียง 1 ล้านคน เรื่องนี้อาจจะยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่โลกเรามีประชากร 7,600 ล้านคน อุณหภูมิเพิ่มขึ้น ทรัพยากรกำลังร่อยหรอ รวมถึงขยะที่กำจัดเท่าไรก็ไม่มีวันหมด จึงถึงเวลาที่ฝ่ายผู้ผลิตจะต้องเริ่มคิด วางแผน และดำเนินการ ในช่วงแรกอาจมีประเด็นเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จะเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ (Re-Material) แต่เชื่อว่าในอนาคตน่าจะมีการคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ ให้มีค่าใช้จ่ายลดลง เพื่อให้เหลือขยะน้อยที่สุด และยิ่งถ้า Re-Material ได้มากขึ้น ได้บ่อยขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดได้ ในด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้ผลิตควรสร้างสมดุลระหว่างความสะดวกสบายของผู้บริโภค (Consumer Oriented) ที่สร้างขยะได้มากมาย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Oriented)
นอกจากนี้ การจะบริหารจัดการขยะให้ดีได้ ต้องมีความรู้ที่มากพอ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม เช่น เราจะได้ยินข่าวเรื่องไฟไหม้ขยะอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเกิดจากการสันดาปในตัวเอง โดยสะสมแก๊สมีเทนจนถึงจุดที่ระเบิดได้
สำหรับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองก็สามารถบริหารจัดการตั้งแต่กระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้การใช้วัสดุเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด อาทิ แนวคิด “ไม่เหลือเศษ” คือ การออกแบบโดยคำนึงถึงมาตรฐานของขนาดวัสดุต่างๆ เช่น กระเบื้อง แผ่นฉนวน หรือฝ้า เพื่อหลีกเลี่ยงการตัดแผ่นวัสดุให้เหลือเศษ เช่น มาตรฐานของกระเบื้องห้องน้ำคือ 30x30 หรือ 30x60 เซนติเมตร ในช่วงการออกแบบห้องน้ำก็จะก็คำนึงถึงขนาดห้อง ทั้งความกว้าง ยาว สูง ที่สามารถจัดวางกระเบื้องได้พอดีโดยไม่เหลือเศษ หรือการนำแนวคิด “อู่สู่อู่” (Cradle to Cradle) ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนโครงสร้างระบบผลิตให้เป็นวงจรปิด ลดการนำเข้าทรัพยากรใหม่เข้าสู่กระบวนการ (Virgin Materials) และส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนทรัพยากรนำกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด 100% เพื่อลดการก่อให้เกิดขยะและความสิ้นเปลืองของทรัพยากร สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความสะดวกสบายของผู้บริโภค ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และผลกระทบที่อาจเกิดกับสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนในอนาคตครับ