เศรษฐกิจขาลง...“นาทีทอง” ของการสร้างกิจการใหม่
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน ฉบับนี้ดิฉันมีเรื่องราวน่าสนใจจากวงการผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurshipในประเทศเพื่อนบ้านของเรามาฝากกันค่ะ
โดยเมื่อเร็วๆนี้ เวบไซต์ The Edge Financial Daily สื่อชั้นนำจากมาเลเซียรายงานว่า ผู้ประกอบการควรหมั่นแสวงหาไอเดียใหม่ๆ ในการเริ่มทำธุรกิจ แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดีนักก็ตาม และในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซายังเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับคนรุ่นใหม่ในการทดลองเป็น “ผู้ประกอบการ” ที่จะได้ลองเรียนรู้หาประสบการณ์ใหม่ๆ และเริ่มทำอะไรใหม่ๆ
โดย“แดช ดัคชินามูร์ธี” ผู้ก่อตั้ง StartupMalaysia กล่าวว่า “การที่จะเงินทุนมารองรับไอเดียของคุณอาจเป็นเรื่องยาก แต่ผู้ประกอบการที่มีไอเดียที่แก้ปัญหาได้จริงๆ ย่อมมีหนทางที่จะมีผู้สนับสนุน ผู้ให้เงินทุน และเมนเตอร์ที่จะสอนให้พวกเขาทำได้”
เขากล่าวว่า ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาให้โลกใบนี้ได้เท่านั้นที่จะสำเร็จ แต่คนที่ทำธุรกิจเพียงเพราะอยากทำมักจะล้มเหลว โดยอ้างอิงจาก“ดร. ทารัน คานนา”นักวิชาการจากHarvard Business Schoolและเวนเจอร์แคปปิตอล ที่กล่าวว่า ผู้ประกอบการในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างมาเลเซีย จะต้องตระหนักถึงปัจจัยหลายประการที่จะทำให้พวกเขาเริ่มธุรกิจได้ ซึ่งต่างจากผู้ประกอบการในประเทศที่พัฒนาแล้วที่เพียงมองหาปัญหาที่ต้องการแก้ไขให้เจอก็พอ
“ในยุโรปหรืออเมริกา คุณจะต้องระบุปัญหาและแก้ปัญหาให้ได้ คุณก็จะกลายเป็นผู้ประกอบการ แต่ในตลาดที่กำลังพัฒนาอย่างพวกเรา ผู้ประกอบการจะต้องอยู่ในสภาพและเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อการสร้างธุรกิจด้วย” เขากล่าว
ในประเทศมาเลเซียมีการตั้งกระทรวงเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการหรือMinistry of Entrepreneur Developmentซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการได้มองเห็นภาพของนโยบายและโครงการริเริ่มต่างๆ ที่รออยู่ที่จะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ ซึ่งมีทั้งการสนับสนุนเงินทุนและโครงการฝึกอบรมต่างๆ ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมอย่างครบวงจรที่มีความช่วยเหลือต่างๆ ที่จำเป็นให้แก่ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ “หน่วยงานนี้จะช่วยลดช่องว่าง และหวังว่าจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเริ่มทำธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ประกอบการอย่างมาก” แดช กล่าว
ศาสตราจารย์“กิเดียน มาส์” จากInternational Centre for Transformational Entrepreneurship (ICTE)ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า การเป็นผู้ประกอบการนั้นต้องมองให้ไกลออกไปจากท้องถิ่น หากแต่ควรมองในระดับนานาชาติ และมีการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก “ความท้าทายคือการคิดนอกกรอบจากสถานการณ์เดิมๆ ที่คุ้นเคย และการเข้าใจถึงวัฒนธรรมที่แตกต่าง และวิถีชีวิตที่แตกต่างกันด้วย” เขากล่าว โดยเขาสังเกตผู้ประกอบการในมาเลเซียว่ามักจะมีปัญหาในการ “สื่อสาร” ไอเดียที่ตนเองมี “มันเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะส่งอีเมล์หรือข้อความ แต่สิ่งที่เราต้องการเห็นคือการเห็นพวกเขาพูดคุยกัน ผู้ประกอบการต้องมีPassionและบอกคนรอบข้างได้ว่าธุรกิจของเขาดีอย่างไร”
แดช กล่าวเพิ่มเติมว่าแม้ในมาเลเซียจะมีโครงการสนับสนุนเงินทุนมากมายจากรัฐบาล แต่ผู้ประกอบการก็มักไม่ค่อยรู้ว่าจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นได้อย่างไร รวมถึงโครงการฝึกอบรม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบการศึกษาทั้งหมดด้วยเช่นกัน
“มหาวิทยาลัยต้องเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อให้มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการศึกษาด้านผู้ประกอบการ มันง่ายกว่าที่จะสอนให้ผู้ประกอบการสอนได้ มากกว่าสอนให้ครูกลายเป็นผู้ประกอบการ คนๆ นึงอาจจะเป็นได้ทั้งผู้ประกอบการและครูสอนก็ได้” เขากล่าว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนความคิดของตนเอง โดยต้อง “คิดให้เร็ว” มากขึ้น โดยผู้ประกอบการในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่คนที่ต้องการทำธุรกิจ แต่ใครๆ ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ ทั้งบริษัทต่างๆ รัฐบาล หรือแม้แต่นักกีฬา โดยการเป็นผู้ประกอบการในมาเลเซียในปัจจุบันมีเรื่องของ “Digitalization”ที่มาพร้อมกับโอกาสที่เปิดกว้าง “เราสอนให้คนสร้างคุณค่า ไม่ใช่สร้างเพียงธุรกิจ” และผู้ประกอบการยังควรพึงตระหนักด้วยว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้มาในเวลาเพียงแค่ชั่วข้ามคืน
เขายังกล่าวอีกว่า ในขณะที่เศรษฐกิจดีนั้น ผู้ประกอบการมักจะได้รับแรงกดดัน แต่เมื่อเศรษฐกิจซบเซา ผู้ประกอบการจะกลับมาโตได้อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อยๆ
หน่วยงานICTEยังได้จัดงานให้ผู้ประกอบการได้มารวมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยหนึ่งในหัวข้อเสวนาเป็นเรื่องของปัจจัย 8 ประการที่ผู้ประกอบการและภาครัฐควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. การจ้างงาน 2. การลดช่องว่างในระบบของผู้ประกอบการ 3. การแบ่งปันกรณีศึกษาที่น่าสนใจ 4. การศึกษาด้านการเป็นผู้ประกอบการ 5. การนำภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง 6. การฝึกงาน 7. การสร้างการรับรู้ในชุมชน และ 8. การโน้มน้าวคนกลุ่มต่างๆ
ต่อมาคือการเน้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้ประกอบการด้านต่างๆ ในประเทศ “ตัวอย่างเช่น หากประเด็นร้อนคือเรื่องของกิจการเพื่อสังคม เราก็ควรมี ดร. ทางด้านนี้ออกมาทำวิจัยหลายๆ คน ซึ่งไม่ใช่แค่การทำวิจัยเพียงเพราะต้องทำวิจัย แต่วิจัยโดยมีจุดหมายเพื่อการศึกษากิจการเพื่อสังคม และการจัดการกับกิจการลักษณะนี้เป็นต้น” มาส์กล่าว
จะว่าไปบ้านเราอาจะมีสภาพแวดล้อมบางอย่างสำหรับผู้ประกอบการที่เหมือนหรือต่างกับมาเลเซียอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็อาจเป็นแนวทางที่อาจเลือกนำมาปรับใช้ในบ้านเราได้บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ