อยู่กับ Millennials
ไม่อยากให้ millennials หมดไฟ ต้องเข้าใจ ให้โอกาส และสร้างบรรยากาศให้พวกเขาสนุก
ในบทความตอนที่แล้วดิฉันได้พูดถึง millennials ในองค์กร รู้สึกว่าเป็นที่สนใจของคนจำนวนไม่น้อย วันนี้จึงอยากเล่าถึงการอยู่กับmillennials จากประสบการณ์และมุมมองของคนยุค Baby Boomer อย่างดิฉัน เพื่อแชร์ประสบการณ์ให้กับผู้บริหาร Gen เดียวกันหรือ Gen X ในการทำให้องค์กรของเราน่าอยู่สำหรับ millennials และช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสเติบโต
ก่อนอื่นเลยดิฉันคิดว่าการที่เราจะอยู่กับใครเราต้องรู้จักและเข้าใจเขาเสียก่อน การทำความเข้าใจ รู้จักพนักงานภายในก็ไม่ต่างอะไรกับการทำความเข้าใจ รู้จัก Customer Insight ของลูกค้าภายนอก องค์กรจำเป็นต้องเข้าใจ Persona ของพนักงาน ซึ่ง Persona ก็คือการฉายภาพให้เห็นคุณลักษณะของกลุ่มพนักงานแต่ละกลุ่มว่าเขาเป็นอย่างไร มีความต้องการอะไร มีความเชี่ยวชาญด้านใด และอยากจะเติบโตในองค์กรในรูปแบบไหน
คุณลักษณะของ Millennials ที่ดิฉันรู้จักและได้คลุกคลีด้วยเป็นมนุษย์นอนดึก พวกเขาสามารถทำงานได้ถึงดึกดื่นและตื่นตอนสายๆ ต่างจาก Baby Boomer อย่างดิฉันที่เป็นมนุษย์ตื่นเช้าหรือ Early Bird เพราะเชื่อในคำพูดที่ว่า “Only the early bird can catch the first worm” มันช่างเป็นโลกที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพวกเราชาว Baby Boomer โตมาโดยความยากลำบากต้องก่อร่างสร้างตัวจึงต้องใช้เวลาแต่ละวันอย่างมีคุณค่า จนมีบางคนกล่าวไว้ว่า “ตะวันไม่มีต้นทุน” ซึ่งหมายความว่าการตื่นแต่เช้ามันไม่มีต้นทุนอะไรที่ต้องเสีย มีแต่จะทำให้เรามีเวลามากขึ้นสามารถทำงานให้ Productive มากขึ้น ในทางตรงข้ามน้องๆ Millennials เกิดมาก็ไม่ต้องทำงานหนักเพื่อก่อร่างสร้างตัว เพราะคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้แผ้วถางทางไว้ให้แล้ว พวกเขาเกิดและโตมากับเทคโนโลยีจึงมีวิธีการทำงานให้ประสบความสำเร็จด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มีการแชร์ข้อมูลกัน ร่วมมือผ่าน Social Network จึงทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วกว่ายุคก่อนๆ มาก
พวกเขาอยากใช้เวลาในแต่ละวันเพื่อ Enjoy Life งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิตเพราะยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่เขาให้ความสนใจ พวกเขาใส่ใจเรื่องสุขภาพ อยากมีเวลาไปออกกำลังกาย มีสังคมกับเพื่อน อยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่เข้าถึงได้สะดวกและง่ายดาย เพื่อทำให้พวกเขาเก่งขึ้นได้เร็วๆ นอกจากนี้ยังชอบการลงทุน กล้าเสี่ยงเพื่อให้รวยได้เร็ว พวกเขาให้ความสำคัญกับผลสำเร็จมากกว่าวิธีการ มีเป้าหมายที่ชัดและจะหาทางที่เร็วที่สุดที่จะไปถึงเป้าหมายที่พวกเขาต้องการ
เมื่อเข้าใจ Persona ของ Millennials แล้ว องค์กรต้องสร้าง Eco-system ที่สนับสนุนการทำงาน สร้างบรรยากาศที่ทำให้พวกเขาสนุก ตอบสนองความต้องการให้ตรงจุดเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ เติมเชื้อไฟในการทำงาน
พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ทำงานแบบ Purposeful มี Passion และมีไฟในการทำงานสูง ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้ใช้ Passion ของพวกเขาในการทำงาน มีส่วนร่วมด้วยไอเดียใหม่ที่พวกเขารังสรรค์ขึ้นมาได้ง่ายๆ และทันสมัยทำให้เกิด Co-creation ในการวางแผน การปรับปรุงกระบวนการทำงานและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะติดกับดักของความสำเร็จแบบเดิมๆ จึงมักไม่ค่อยฟังไอเดียใหม่ๆ ของเด็กๆ ทำให้พวกเขาอึดอัด ไม่มีความสุข และหมดสนุกในการทำงาน
นอกจากนี้แล้วยังจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยสนับสนุนและเอื้อต่อการทำงานให้กับพวกเขาด้วย ดูตัวอย่างบริษัทชั้นนำอย่าง Netflix ก็มีวัฒนธรรมองค์กรที่วางรากฐานมาจากการทำงานที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน (Highly Alignment) แต่ก็ยังเกาะกันได้อย่างหลวมๆ เพื่อให้เกิดอิสระและความรับผิดชอบในการส่งมอบเนื้อหาที่ไม่ได้เกิดจากการบังคับควบคุม Netflix มีการสร้างให้เกิดแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) ให้ Millennials โดย
- การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยทำให้พวกเขามีอิสรภาพในการทำงาน มีความยืดหยุ่นสามารถทำงานผ่าน Internet อีเมล Application บนโทรศัพท์มือถือ ที่ไหนเวลาใดก็ได้ (Any Time Anywhere)
- การให้พวกเขามีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มีความรู้ใหม่ๆ ที่ทำให้พวกเขามีประสิทธิภาพและสร้างผลงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลายบริษัทก็เลือกที่จะใช้ Lifelong Learning Platform เช่น Degreed, SkillSolved, Udemy เพื่อเปิดประตูให้พนักงานได้เรียนรู้โดยไม่มีขีดจำกัด
- การช่วยให้พวกเขาค้นพบ Purpose ของการทำงาน ให้เขารู้สึกถึงการทำงานที่มีคุณค่า ได้พัฒนาทักษะ ได้รับอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อสร้างผลงานที่พวกเขารู้สึกภูมิใจ
- การจัดสถานที่ทำงานที่อำนวยให้เกิดพื้นที่ที่พวกเขาจะได้แสดงฝีมือ ทำงานร่วมกันได้สะดวก และมี Visibility สามารถมองเห็นความคืบหน้าของการดำเนินงานและภาพการทำงานของทีมได้อย่างชัดเจน
Millennials ในองค์กรที่ดิฉันรู้จักมีหลายคนเป็นคนเก่ง มีความสามารถ มี Passion และเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความฝันเป็น Future Workforce ที่จะขับเคลื่อนองค์กรต่อไปในอนาคต ผู้บริหารอย่างเราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ให้โอกาส ให้การสนับสนุน ลดอุปสรรค และสร้างบรรยากาศที่จูงใจให้พวกเขาเกิดความสนุกในการทำความฝันให้เป็นจริง หาไม่แล้วองค์กรจะกลายสภาพเป็น “สถานีดับเพลิงของคนรุ่นใหม่ไฟแรง” ที่ใครเข้ามาแล้วไฟในการทำงานต้องมอดดับเหมือนดาวอับแสง หมดแรงกายแรงใจและเดินจากเราไปอย่างน่าเสียดาย