เด็กฝึกงานมุมทแยง 

เด็กฝึกงานมุมทแยง 

เวลาที่มีเด็กฝึกงานเข้ามาเป็นสมาชิกในทีม ในตอนแรกๆ เรามักคิดว่า เราต้องทำหน้าที่เป็น “คนสอนงาน”

น้องๆ เหล่านั้น สอนทั้งศาสตร์สาระของงาน การปฏิบัติตัว ยันวิธีคิด แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีเด็กฝึกงานหลายๆ รุ่นขึ้น ยิ่งค้นพบความจริงที่ว่า มีหลายๆ เรื่องที่เด็กๆ ก็ฝึกเรา สอนเรา 

การมีน้องๆ มาป้วนเปี้ยนแวะเวียนในชีวิต ทำให้เราเสมือนรู้สึกย้อนวัน-วัยไปสมัยเป็นนิสิต-นักศึกษา พอๆ กับพบว่าโลกบางเรื่องของเราต่างกัน ด้วยเงื่อนไขของวัย จำได้ว่าครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ที่คุณแหวน ฐิติมา เสียชีวิต น้องๆ รู้จักเธอเพียงในฐานะเป็นคุณแม่ของปันปัน แต่ไม่รู้จักตัวเธอในฐานะนักร้องที่โด่งดังในเพลงเรามีเรา 

เราคุยเรื่องหนังไททานิคที่เคยดูสมัยเพิ่งเริ่มทำงาน น้องบอกว่าดูครั้งแรกสมัยอนุบาล เราคุยเรื่องการสอบเทียบ กศน.และเรียนพิมพ์ดีด เพื่อเอ็น ทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย น้องไม่รู้จักทั้งเครื่องพิมพ์ดีด และกศน. มิหนำซ้ำ กติกาการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสมัยนี้ ก็ต่างจากสมัยพี่ๆ อยู่มาก...ถ้าถามกลับกันว่า แล้วมีเรื่องอะไรบ้างที่น้องรู้ แต่พี่ไม่รู้ ต้องบอกว่า มีมากมาย เล่าได้ไม่รู้จบ สรุปแล้วเรื่องที่รู้ไม่เท่ากัน เพราะเห็นโลกมาคนละช่วงเวลากันแบบนี้ เกิดขึ้นเนืองๆ ในวงสนทนาของพี่ๆ และน้องฝึกงาน 

เรื่องราวที่เกิดจากความต่างเหล่านี้ สามารถเป็นสิ่งที่สอนเราว่า โลกใบนี้ มีชุดความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เราควรต้อง Young at Heart เสมอ หรือหากเราจะแก่ ก็ควรแก่ความรู้จากการไม่หยุดเปิดรับ หาใช่แก่ตามวัยและรอยตีนกาบนใบหน้าไม่ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะเป็นข้อดีของทุกฝ่าย และหากมีสิ่งใดที่เราเรียนรู้มา แล้วเห็นว่ามีคุณค่า ก็ไม่ควรที่จะหวงแหน เพราะวันข้างหน้า ประเทศเรา โลกเรา ก็ต้องอยู่ในการดูแลและสร้างสรรค์จากคนรุ่นเขา 

ยังมีข้อดีอีกมากมาย ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากน้องๆ ฝึกงาน เช่น “ความไม่มีกรอบ” อันสืบเนื่องมาจากความไม่ได้มีชุดความรู้หรือประสบการณ์ที่ฝังแน่นเป็นแพทเทิร์นเกินไป ทำให้เมื่อจะทำอะไรก็จะไม่ยึดติด ไม่ฝังหัว ไม่ผูกเรื่องที่จะทำไว้กับชุดข้อมูลเดิมๆ กล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ มีตัวอย่างหนึ่งจากกิจกรรม Agile Training ที่มีโจทย์ให้แต่ละกลุ่มย้ายลูกบอลจากตะกร้าหนึ่งไปตะกร้าหนึ่งให้เยอะที่สุด โดยต้องผ่านร่างกายของทุกคน ซึ่งสถิติสำหรับผู้ใหญ่ๆ ก็จะทำได้ประมาณหนึ่ง แต่พอเอาโจทย์นี้ให้เด็กฝึกงานทำ ผลที่ได้ กลับมากมายทุบสถิติ! ส่วนหนึ่งเพราะความกล้าที่จะมี “มุมมองใหม่” เพื่อตีโจทย์ให้สำเร็จ ในขณะที่ผู้ใหญ่จะเชี่ยวชาญ หรือเคยชินกับมุมแบบซ้าย ขวา หน้า หลัง แต่เด็กๆ เขาพร้อมจะสร้าง “มุมแทยง” เสมอๆ และโลกสมัยใหม่ ที่อะไรๆ ก็ disrupt ไปหมด ทักษะอะไรแบบนี้ ยิ่งทวีความจำเป็น และแน่นอนว่า เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ผู้แก่ประสบการณ์ อาจต้องหันมาเรียนรู้จากเด็กๆ บ้าง

เด็กๆ รุ่นใหม่ ใช้ดิจิทัลกันอยู่ในจริตของชีวิต ไม่ว่าจะเรียนสาขาวิชาใดก็ตาม และเขาสามารถจะปรับใช้กับศาสตร์สาระในการทำงานได้อย่างผสมกลมกลืน ในขณะที่พี่ๆ บางคนอาจจะยังกลัวๆ กล้าๆ ก็ต้องค่อยๆ พยายามปรับเปลี่ยนกันไป อีกสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้จากพี่ที่สอนงานน้องๆ ก็คือ อยากพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น เก่งขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ รุ่นหลัง และท้ายที่สุด หลายๆ คนรู้สึกว่าการมีเด็กฝึกงาน ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย คล้ายๆ กับความอิ่มใจของคุณครูผู้ช่วยประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เด็กๆ บรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสิ่งดีงาม...และทุกช่องว่างระหว่างวัย สามารถทลายได้ หากเราไม่มีช่องว่างระหว่างใจ!