‘Face Recognition’ ส่งเสริมธุรกิจยุคดิจิทัล
เพิ่มโอกาสต่อยอดความสำเร็จ สร้างความประทับใจให้ลูกค้า
“ข้อมูล(data)” เป็นสิ่งสำคัญต่อธุรกิจในปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์หรือคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า พัฒนาและปรับปรุงสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่เพียงแต่ข้อมูลที่เป็นตัวอักษรหรือตัวเลข ปัจจุบัน เทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้า (Face Recognition) สามารถตรวจจับใบหน้า (detect) และระบุตัวตน (identify) ผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้งานกับธุรกิจได้อย่างหลากหลาย รวมถึงสามารถส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยให้กับภาคธุรกิจได้
ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น ธุรกิจการค้าและการตลาด (Retail and Marketing) ระบบตรวจสอบและจดจำใบหน้า สามารถใช้เสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจการค้าและการตลาดได้ โดยการเก็บข้อมูลลูกค้าและพฤติกรรมการใช้บริการ เช่น ความถี่การซื้อสินค้าหรือใช้บริการ สินค้าที่ลูกค้าใหม่และลูกค้าประจำซื้อ เพศและอายุลูกค้า เป็นต้น
ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อผู้ดำเนินธุรกิจในการสร้างแผนการตลาด ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาการบริการเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับลูกค้าแบบรายบุคคลอย่างเหมาะสม
อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถใช้ข้อมูลการซื้อสินค้าของลูกค้าประจำในการคาดการณ์ปริมาณการจัดเก็บสินค้าและบริหารคลังสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่านั้นระบบยังวิเคราะห์ข้อมูลเส้นทางการเดินเลือกซื้อสินค้า หรือบริเวณที่ลูกค้ามักใช้บริการ เพื่อจัดการเส้นทางสัญจรภายในร้าน (traffic flow) และปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น
ธุรกิจสายการบิน (Airport) ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้ามาใช้บริเวณจุดเช็คอินและบอร์ดดิ้งเกท (boarding gate) ในสนามบินแทนการใช้บอร์ดดิ้งพาส (boarding pass) ในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย เพื่อความสะดวกรวดเร็วระหว่างการเดินทาง และสามารถสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ (seamless experience) ให้แก่ผู้โดยสารได้
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ปฏิบัติงานภายในสายการบิน โดยใช้ระบบตรวจสอบบุคคลเข้าออกพื้นที่ (Access Control System) อาคารสำนักงาน เพื่อจำกัดสิทธิ์การเข้าพื้นที่เฉพาะผู้ได้รับอนุญาต
ศูนย์สุขภาพและโรงพยาบาล (Healthcare) การเก็บข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเริ่มเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น จากเดิมที่เก็บข้อมูลในรูปแบบเอกสารแฟ้มประวัติคนไข้ ก็เปลี่ยนไปสู่การเก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์
โดยเทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้ในการเก็บข้อมูล เช็คประวัติผู้ป่วย ประวัติการรักษาและการแพ้ยา ด้วยการสแกนใบหน้า เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็วอีกด้วย
สถานศึกษา (School) เทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้าสามารถใช้ในการยืนยันตัวตนของผู้ปกครองที่มารับนักเรียน เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยของเด็ก นอกจากนั้นยังสามารถใช้ติดตามพฤติกรรมของนักเรียนที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมบ่อยครั้ง เด็กที่ไม่เข้าเรียน และมีประเด็นการทะเลาะวิวาท รวมถึงกลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้ บุคลากรด้านการศึกษาจำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียน โดยการแจ้งข้อมูลกับนักเรียนและขออนุญาตผู้ปกครองก่อนที่จะทำการติดตาม (track) ด้วยกล้องตรวจจับใบหน้าในพื้นที่โรงเรียน
ธุรกิจการขนส่งสินค้า (Logistic) ในขั้นตอนการขนส่งสินค้า สามารถใช้ระบบตรวจสอบและจดจำใบหน้าในการยืนยันตัวตนผู้ส่งและผู้รับ เพื่อป้องกันการส่งสินค้าผิดพลาด รวมถึงสินค้าสูญหาย โดยสามารถปรับใช้กับการขนส่งสินค้าจำนวนมาก และสินค้าที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม และธุรกิจค้าส่ง เป็นต้น
รูปแบบธุรกิจเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น เทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้ายังสามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้อีกหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ ความต้องการของผู้ประกอบการ วัตถุประสงค์ในการใช้งาน รวมถึงความคุ้มค่าของการนำระบบดังกล่าวมาใช้
กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้าสามารถใช้เพื่อเพิ่มโอกาสต่อยอดความสำเร็จให้ธุรกิจ สร้างความประทับใจให้กับลูกค้ารายบุคคล และก่อให้เกิดลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงที่สุดคือ ความเป็นส่วนตัวรวมถึงสิทธิส่วนบุคคลของลูกค้า การเก็บข้อมูลใบหน้าจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากลูกค้าด้วยเช่นกัน ตลอดจนคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลใบหน้าลูกค้า เพราะความเชื่อมั่นในแบรนด์ก็เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจในยุคดิจิทัลได้