Neuralink เปิดฉาก นวัตกรรมสมองเชื่อม AI
ภาพแถลงข่าวการเปิดตัวบริษัทนิวรอลลิงค์ (Neuralink) ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2019 อาจเปรียบได้กับการเปิดฉากของนิยายไซไฟ
เรื่องใหม่ที่มนุษย์สามารถสั่งงานคอมพิวเตอร์ได้ โดยการนึกคิด ผ่านนวัตกรรม Brain–Machine Interface (BMI) อีกทั้งยังไขความลับเกี่ยวกับบริษัทใหม่ของอีลอนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2016 พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอีกขั้นของเทคโนโลยีด้าน Neurotechnology และ Biomedical Engineering (BioMed) ซึ่งคนส่วนมากอาจเข้าใจว่าเป็นเพียงทฤษฏีหรืองานวิจัยในห้องทดลองที่ยังอยู่ไกลตัว
การฝังประสาทเทียมในสมองถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) แล้วกว่า 150,000 ราย โดยเป็นการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นสมองให้ส่งกระแสไฟฟ้าผ่านเนื้อเยื่อเพื่อควบคุมการสั่นของคนไข้ อย่างไรก็ตามทีมงาน Neuralink เชื่อว่านวัตกรรม BMI ที่บริษัทพัฒนาขึ้นจะช่วยให้การอ่านสัญญาณประสาทดีมากกว่าที่มีอยู่ในขณะนี้ และสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อสมองน้อยกว่าการฝังอุปกรณ์ในสมองคนไข้เช่นการรักษาในปัจจุบัน โดยจากรายงานของ Neurotech Reports ระบุว่าตลาดของ NeuroTech อาจมีมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020
เชื่อมสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์
ในระหว่างการแถลงข่าว อีลอนได้เปิดตัวทีมงานและผู้ร่วมก่อตั้งบางคนของ Neuralink ซึ่งเป็นบุคลากรจากหลากสาขาวิชา อาทิ Max Hodak (President/BioMed), Dr. Matt McDougall (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดสมอง), Dr. Vanessa Tolosa (BioMed และหัวหน้าทีม Neural Interfaces), Dongjin Seo (วิศวกรไฟฟ้าและหัวหน้าทีม Implant Systems) และ Dr. Philip Sabes (ศาสตราจารย์กิติคุณด้าน Neuroscience) ซึ่งต่างมีบทบาทในการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้านี้ เพื่อเชื่อมคำสั่งจากสมองเข้ากับการทำงานของอุปกรณ์ภายนอกร่างกายผ่านระบบไร้สาย (Wireless) โดยสามารถควบคุมผ่านแอพในสมาร์ทโฟน เพื่อรักษาโรคและอาการทางสมองโดยใช้นวัตกรรม BMI
อีลอนได้กล่าวถึงเทคโนโลยี BMI จาก Neuralink ที่มีจุดเด่นด้านการพัฒนาด้าย (Thread) เพื่อใช้ยึดอิเล็คโทรด ซึ่งมีขนาดความกว้างของด้ายเพียง 4 ถึง 6 ไมครอนและมีขนาดเล็กกว่าเส้นผม ทำให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าด้ายที่ใช้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน และช่วยลดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อในสมอง โดยคาดว่าจะสามารถยึดอีเล็คโทรดได้มากถึง 3,072 ตัวในด้าย 96 เส้น
Vanessa Tolosa ได้อธิบายถึงปัญหาของเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันว่า ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของ BMI ที่ทีมงานต้องการ จนทำให้ทีมงานต้องพัฒนาชิ้นส่วนและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้สามารถใช้งานภายในร่างกายมนุษย์ได้เป็นเวลานาน ต้องทำจากวัสดุที่ใช้กับงานทางชีวภาพที่มีขนาดเล็กมาก โดยชิพหรืออุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าจะตัองถูกบรรจุอยู่ในแพ็คเกจที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับร่างกาย หรือเป็นแพ็คเกจที่เรียกว่า “Hermetic Packaging” ที่ต้องทำงานได้ทั้งเพื่อการบันทึกข้อมูลและการกระตุ้นนิวรอน ที่สำคัญในขบวนการผลิตคือต้องสามารถขยายการผลิตโดยที่ยังรักษาคุณสมบัติการทำงานที่สม่ำเสมอแม้อุปกรณ์จะมีขนาดเล็กเพียงระดับไมครอนก็ตาม
Matt McDougall ได้กล่าวถึงหุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบเพื่อใช้งานว่า สามารถฝังด้ายกว่าร้อยเส้นและอีเล็คโทรดกว่าพันชิ้นเข้าสู่สมองส่วนคอร์เทกซ์ (Cortex) อย่างแม่นยำด้วยสเกลระดับไมครอน ซึ่งหุ่นยนต์จะเลือกฝังด้ายในตำแหน่งที่ได้ถูกกำหนดแผนการฝังไว้แล้วอย่างแม่นยำและต่อเนื่อง โดย Neuralink หวังว่าในที่สุดแล้วการผ่าตัดจะไม่ซับซ้อนและสามารถทำได้เช่นเดียวกับการทำเลสิก (Lasik) ในคลีนิก
Dongjin Seo ผู้เคยร่วมค้นคว้าในโครงการ Neural Dust ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ เบิร์กลีย์ (Berkeley) ได้อธิบายถึงนวัตกรรมการพัฒนาชิพที่เรียกว่า “N1 System On Chip (SOC)” ซึ่งมีขนาดเพียง 4 x 5 มิลลิเมตร เพื่อบันทึกสัญญาณประสาทจากนิวรอน จากนั้นทำการขยายสัญญาณ กรองและแปลงสัญญาณให้เป็นดิจิทัล และใช้ดิจิทัลโลจิกเพื่อจัดการและคัดข้อมูลเพื่อส่งไปยัง BMI โดยคำนึงถึงคุณภาพของสัญญาณ ขนาดของชิพ การใช้พลังงานที่ต่ำเพื่อลดความร้อนและประหยัดพลังงานของแบตเตอรี่ รวมทั้งคำนึงถึงการลดการรบกวนของสัญญาณ (Noise) เพื่อให้ได้คุณภาพสัญญาณที่ดีที่สุด
Max Hodak และศาสตราจารย์ Philip Sabes ได้อธิบายว่าเทคโนโลยีของ Neuralink มาจากการพื้นฐานงานวิจัยทางการแพทย์และ Neuroscience ในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่เริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แต่มีทฤษฏีและการพัฒนาที่น่าเชื่อถือรองรับ ซึ่งอีลอนย้ำว่านวัตกรรม BMI ไม่ใช่เรื่องที่จะสำเร็จได้ในเร็ววัน หากแต่ต้องใช้เวลาและการทดลองอีกมาก โดยหากผ่านการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (U.S. Food and Drug Administration) จะเริ่มทดลองกับคนไข้ในก่อนปลายปี 2020
Consumer-Friendly
ไม่เพียงแต่เงินลงทุนเริ่มต้นจำนวน 100 ล้านดอลลาร์ของอีลอนที่ช่วยให้สตาร์อัพน้ำดีอย่าง Neuralink ลดความกังวลด้านการเงินลงเท่านั้น แต่เชื่อว่าด้วยความรอบรู้ด้านการผลิตที่ล้ำหน้าของอีลอนอาจช่วยให้การวิจัยพัฒนาด้าน NeuroTech เกิดรวดเร็วขึ้นและสร้างความสนใจให้กับผู้คนและวงการแพทย์ โดยเฉพาะกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสมองซึ่งต้องการผลงานที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนและมีหลักฐาน จึงเป็นการช่วยสานฝันให้กับทีมงาน Neuralink และผลักดันเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ล้ำหน้าต่อไป การผ่าตัดที่เกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายกำลังผลักดันการแพทย์ให้ก้าวสู่ยุคของ “Consumer-Friendly NeuroTech” ที่มนุษย์สามารถเชื่อมต่อกับ AI เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างจริงจัง