'หยวน' ตัวกำหนดชะตาสงครามการค้าระลอกใหม่
ยังคงปั่นป่วนไม่หยุดกับสงครามกยัารค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯที่กลับมากดดันตลาดโลกอีกครั้งในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
เริ่มต้นจากปธน.ทรัมป์ที่ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้า 10% บนสินค้าส่งออกจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่เหลือ ตามมาด้วยการอ่อนค่าของเงินหยวนอย่างรุนแรง โดยแตะระดับเกิน 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี กระตุ้นให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯออกมาตอบโต้ว่าจีนเป็นผู้แทรกแซงค่าเงิน หรือ Currency Manipulator ในทันที แม้ว่าล่าสุดในวันอังคารที่ผ่านมา สหรัฐฯจะประกาศชะลอการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนบางส่วน อย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และของเล่นเด็ก ออกไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม ขณะที่สินค้าหลายรายการอย่างสินค้าเกษตร เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องใช้ครัวเรือน จะยังถูกเก็บภาษีตามกำหนดเดิมในวันที่ 1 กันยายนก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าทิศทางของค่าเงินหยวนต่อจากนี้จะสามารถกำหนดความตึงเครียดระหว่างทั้ง 2 ประเทศได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว
ระดับหยวนที่เหนือ 7 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯถือว่าเป็นจุดทางจิตวิทยาสำคัญ เพราะ PBoC มักจะเข้าแทรกแซงเพื่อไม่ได้หยวนอ่อนค่าเลยจุดนี้เสมอๆ ตลาดจึงมักจะตีความว่าหากเลยจุดนี้ไปแล้ว หมายถึง โอกาสที่หยวนจะอ่อนค่าลงต่อแบบไม่ที่สิ้นสุด แม้ว่าล่าสุด PBoC จะสามารถสื่อสารกับตลาดไม่ให้กังวลกับระดับหยวนที่เหนือ 7 ทำให้หยวนเริ่มทรงตัวได้ในช่วงหลัง เรายังมองว่าหยวนน่าจะมีทิศทางอ่อนค่าลงได้อีก แต่จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกลไกตลาด เพื่อลดทอนผลกระทบจากสงครามการค้า แต่จะไม่ได้จงใจใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการค้า เนื่องจากกำลังถูกเพ่งเล็งอย่างหนักจากสหรัฐฯ และอาจทำให้การเจรจาการค้าล้มเหลวได้ ทั้งนี้ Capital Economics มองว่าหยวนจะอ่อนค่าลงแตะระดับ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2019 แบะจะอ่อนค่าลงต่อสู่ระดับ 7.5 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2020
แต่อย่าลืมว่า เหรียญมักมีสองด้าน การอ่อนค่าของเงินหยวนแม้ว่าจะมีข้อดีตรงที่
- ช่วยบรรเทาความกดดันต่อภาคการส่งออกจีน – ต้องบอกว่าในช่วงที่ผ่านมา ทั้งผลลบจากสงครามการค้า หรือความผันผวนของค่าเงินหยวน กว่า 80% ที่บริษัทส่งออกจีนรับภาระไว้เอาโดยไม่ส่งต่อไปเป็นราคาที่สูงขึ้นสำหรับผู้บริโภค หมายถึง กำไรสุทธิที่ถูกกดดันตลอดมา
- ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของจีนที่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศสูงขึ้น – รัฐบาลจีน รวมถึงธนาคาร และบริษัทจีนโดยรวมมีการลงทุนในสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างประเทศสูง อย่างแค่การลงทุนของรัฐบาลจีนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯก็สูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้เป็นผู้ถือครองสูงสุดอันดับ 1 แล้ว
ในทางกลับกัน จีนเองก็จะได้รับผลกระทบหากหยวนอ่อนค่ามากจนเกินไป ดังนี้
- ส่งผลให้เงินทุนไหลออก – ดังที่เกิดขึ้นในปี 2015 ที่ PBoC ตัดสินใจลดค่ากลางเงินหยวนลงแรงได้สร้างความสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของตลาดทุนจีนมาก ด้วยความกังวลว่าจีนจะเกิด Hard-landing อย่างไรก็ดี เงินทุนจะไหลออกจำกัดในรอบนี้ เนื่องจากบทเรียนในปี 2015 ได้ทำให้รัฐบาลจีนออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออกอย่างเข้มงวด เช่น จำกัดการนำเงินไปลงทุนนอกประเทศของบริษัทจีน เป็นต้น
- ทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้นสำหรับประชาชนจีน – เมื่อสินค้าแพงขึ้นอาจนำมาสู่เงินเฟ้อที่เร่งตัว กดดันภาคการบริโภคที่เริ่มชะลอตัวอีกต่อหนึ่ง โชคยังดีที่ผลกระทบอาจจำกัด เพราะ ประชาชนจีนนิยมซื้อของที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า
- สวนทางกับนโยบายจีน – ตวามต้องการที่จะดันเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินหลักของโลก และเปิดตลาดมากขึ้นก็จะชะงักลง เพราะ เป็นการส่งสัญญาณด้านลบว่าค่าเงินหยวนไม่มีเสถียรภาพ