โลกนี้ “ของจริง” ยิ่งกว่าละคร
ผมคิดว่าชื่อเรื่องวันนี้จะไม่ทำให้ท่านผู้อ่านสับสน เพราะ “ของจริง” หรือสิ่งที่เราพบเห็นกันในชีวิตจริงของการดำเนินชีวิตในทุกวันนี้
ถ้าจะบอกว่า "ดรามา" หรือมีสิ่งปรุงแต่งให้เกิดความน่าหลงใหลชวนติดตาม หรือเหมือนจะไม่ใช่เรื่องจริง เกินกว่าความเป็นจริง แต่แท้จริงแล้ว มันคือ "ชีวิตจริง" เขียนแบบนี้บางคนบอกเหมือน "ประชด" บางคนบอกเหมือนคำในภาษาอังกฤษที่เขาเรียกว่า "Paradox” หรืออะไรที่เปรียบเปรยแบบดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
เหมือนกรณีที่ยังพูดกันไม่จบแม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบสองอาทิตย์แล้ว ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอิทธิพลของยุทธวิธีทางการตลาด หรือด้วยกระแสความอยากจะหยิบยกมาพูดคุยกันของผู้คนในสังคมเราที่อาจชอบหรือสนใจเรื่องของคนอื่นมากกว่าเรื่องของตัวเอง ดังกรณีมีรายการทีวีนำเอา "ดารา นักแสดง คนมีชื่อเสียง" มาใส่นวมชกมวย ทำกันให้เสมือนจริงแบบรายการมวยยักษ์มาตรฐานโลก ผมเองปกติไม่สนใจรายการทำนองนี้ แต่มีเหตุทำให้ต้องนั่งรับชมเพราะไปอยู่ในห้องรับแขกแห่งหนึ่งที่เจ้าบ้านเปิดรายการนี้ดูอยู่ในเวลาที่ไปเยือน ถ้าไม่คิดอะไรมาก เป็นรายการที่เหมือนกับรายการ Celebrity fight night ที่เคยชมสมัยเรียนหนังสือในต่างประเทศ ที่เขานำเอา "คนดัง" มาใส่นวมชกกันเพื่อจัดหารายได้เข้าการกุศล หาใช่เรื่องแปลกใหม่หรือเรื่องที่เราไม่เคยรู้เห็นมาก่อนแต่อย่างใด
ปัญหาคือในวันนั้นผมได้ชม "คู่ที่เป็นปัญหา" ตั้งแต่ต้นกระทั่งรู้ผลแพ้ชนะ เห็นเหตุการณ์ทุกอย่างบนเวที ข้างเวที และดูโฆษณาที่มีอย่างล้นหลาม ขอเรียนในฐานะผู้ชมด้วยใจเป็นกลางว่าไม่คิดว่าในวันถัดๆ มาจะเกิดกระแส "ดรามา"เป็นข่าวคราวเรื่องนี้ต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์ประเภทข่าวชาวบ้านต่อเนื่องกันอีกหลายวัน ไม่ต่างกับข่าวประเภทดาราผัวเมียจะอยู่กินกันหรือจะมีโลกส่วนตัวกี่ใบ หาใช่ "สาระ" ที่ผมจะอยากรู้หรือสนใจ
แต่ "สื่อมวลชนบางแขนง" ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด มักนำข่าวสารที่น่าจะวิเคราะห์ดูว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในประการใดหรือไม่ก่อนนำเสนอให้ผู้บริโภคอย่างพวกเรา แน่นอนครับ ทางออกง่ายๆ ของคนที่มองการแก้ปัญหาแบบ "มักง่าย" ที่เราได้ยินเสมอก็คือ "ถ้าคุณไม่อยากรู้ ไม่อยากฟัง ไม่สนใจ อย่าไปอ่าน ไปดู ไปฟังเรื่องเหล่านี้" ถือเป็นคำแนะนำที่ขาดความรับผิดชอบมากๆ ครับ ในสิ่งที่พูดหรืออาจมีหลายท่านได้ยินได้ฟังมาแบบนี้
เนื่องจากโลกนี้เราไม่อยู่กันตามลำพัง เราอยู่ร่วมกันเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม มีคนแวดล้อมรอบตัวเรา ถ้าเราจะทำแบบที่เขาแนะนำ เราต้องไปอาศัยอยู่ตามป่าตามเขา ปลีกวิเวกหรือตัดขาดจากโลกภายนอกไปเลย แต่ถ้าเรายังยืนยันเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พบเห็นอะไรที่หมิ่นเหม่หรือไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ปล่อยผ่านไป สมควรต้องหยิบยกมาหารือถกเถียงแก้ไขแสวงหาทางออกร่วมกัน
ในกรณีเรื่องที่เกิดขึ้นเป็น “ควันหลง” ของรายการทีวีที่ว่านี้ ส่วนตัวแล้วผมเห็นใจและรู้สึกสงสารเด็กวัยรุ่นที่เหมือนในเวลาต่อมา “สื่อ” หรือใครก็ตามจะพูดถึง "เด็กคนนั้น" ในทำนองวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมบนเวที เหมือนคำพิพากษาซ้ำสอง ทั้งที่เขาแพ้ในเกม มีการขอโทษขอโพย มีการแสดงความนับถือทั้งต่อคู่แข่งและบุคคลที่เกี่ยวข้องบนเวที ในสายตาที่ได้เฝ้าดูแม้จะไม่ใช่การ "ตั้งหน้าตั้งตาอยากดูด้วยเหตุผลข้างต้น" แต่เห็นเหตุการณ์อย่างตลอดถ้วนทั่ว
มาพิจารณาแล้วก็เกรงว่าสิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งที่เรารับรู้อาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องรู้อย่างตรงไปตรงมา เพราะหลายเรื่องในสังคมเราทุกวันนี้ ดุจดังวลีที่เปรียบเปรยไว้แล้วว่า "โลกแห่งความเป็นจริงนั้นยิ่งกว่าละคร" ไม่ต่างจากเรื่องราวหรือปรากฏการณ์หลายเรื่องทางการเมืองวันนี้ที่อยากให้ผู้อ่านบทความนี้ใคร่ครวญพิจารณาและแยกแยะให้ออกระหว่าง “ความจริง” กับสิ่งปรุงแต่งที่เราอาจไม่รู้เท่าทัน
ขอให้พวกเราในฐานะ "ผู้บริโภคข่าวสาร" อย่าทำตัวให้กลายเป็น “เหยื่อ” ของการอาศัย “สื่อ” ในการช่วงชิงความได้เปรียบ หรือการแข่งขันกันทั้งในเชิงธุรกิจและการเมือง เพราะการที่การเมืองเป็นแบบนี้ สังคมเป็นในแบบอย่างที่เราไม่พึงพอใจ ส่วนหนึ่งทุกคนต้องมีร่วมกันรับผิดชอบ ถ้าเรายังปล่อยให้เราไหลไปตามกระแส ไม่เคยตั้ง "คำถาม" ใดๆ กับสิ่งที่เราต้องพบเจอในชีวิต เราจะเห็นทั้งการเมืองและสังคมเดินกันแบบนี้ต่อไปอีกนาน
แต่เมื่อได้ "ตั้งคำถามแล้ว" ขอให้ช่วยกันคิดหาทางออก แสวงหาทางแก้ไข เสนอแนะความคิดเห็นปรับปรุงจรรโลงสังคม มองผลประโยชน์สาธารณะกันให้มากๆ ทำได้อย่างนี้แล้ว แม้โลกนี้จะดุจดั่งละคร แต่จะเป็นโลกที่น่าอยู่และทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไปจากนี้ได้อีกมาก ขอให้ลองทำดู