ไพบูลย์โมเดล
กรณี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ยื่นกกต.เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม เพื่อแจ้ง “การเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป” (คนโดยทั่วไปเข้าใจว่า “ยื่นยุบพรรค”)
เป็นไปตามมติพรรค และกรรมการบริหารพรรคเสียงเป็นเอกฉันท์ เหตุเพราะแต่ละคนมีภารกิจมากมาย
สำหรับ พรรคประชาชนปฏิรูป ได้รับการรับรองการจดทะเบียนจัดตั้งพรรค ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เลขที่ 7/2561 วันที่ 3 ตุลาคม 2561 โดยมี ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรคคนแรก เสนอ “น้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ” เป็นนโยบายที่ใช้หาเสียง
การยื่นยุบพรรคของ “ไพบูลย์” ยื่นครั้งแรก กรณีขอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561 จากกรณีพรรคไทยรักษาชาติ เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ส่วนประเด็นการแจ้งยกเลิกกิจการพรรคการเมือง พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคท้าย เรื่องการรับรองสิทธิ์ ส.ส. กรณีที่มีการเลิกพรรค ทำให้พรรคสิ้นสภาพให้การรับรองสิทธิ์ของ ส.ส. ถือว่าเป็นกรณียุบพรรค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 วงเล็บ 10 ให้ส.ส.ไปหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดภายในเวลาไม่เกิน 60 วัน ไม่เช่นนั้นก็จะพ้นจากสมาชิกภาพส.ส.นับตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศเรื่องดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษา
“ไพบูลย์” อธิบายกรณีดังกล่าวไว้ว่า การเลิกกิจการพรรคผ่านการตรวจสอบของพรรคแล้ว เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 91 (7) เรื่องของการเลิกพรรค ให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ครั้งนี้ข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป ข้อ 122 เขียนว่าให้การเลิกพรรคเป็นไปตามมติของกรรมการบริหารพรรคซึ่งที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์
วิเคราะห์กันว่า เมื่อยุบพรรค ความเป็นส.ส.สิ้นสุดไหม? ในมุมอดีตเลขาธิการกกต. “ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ” มองว่า “ไพบูลย์” เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้ได้คะแนน 4.5 หมื่นคะแนนแต่ความเป็นส.ส.จะติดตัวไป จนกว่าครม.จะลาออก หรือยุบสภา เรียกได้ว่านายไพบูลย์สามารถอยู่จนครบ 4 ปี
อดีตรองอธิการบดี มสธ. “ยุทธพร อิสรชัย” มองไม่ต่างกัน คือ สถานะความเป็นส.ส.กับเรื่องที่มาของส.ส. เป็นคนละส่วนกัน ที่มา ส.ส.รัฐธรรมนูญ ระบุว่าเมื่อมีสภาพเป็น ส.ส.อย่างสมบูรณ์ รัฐธรรมนูญไม่ได้แบ่งแยก ส.ส.เขต กับบัญชีรายชื่อ
แต่จากนี้ไป พรรคจิ๋วอีกหลายๆ พรรค มีโอกาสทำตามแนวทาง “ไพบูลย์โมเดล” เพื่อทำให้พรรคพลังประชารัฐ มีเอกภาพมองไกลไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า