สัญญานักกีฬาอาชีพ
ในปัจจุบันนี้รูปแบบการเล่นกีฬามีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีการพัฒนาเข้าสู่รูปแบบการเล่นกีฬาเพื่อการอาชีพมากยิ่งขึ้น
โดยที่กีฬาอาชีพเป็นกิจกรรมที่นานาประเทศให้ความสำคัญ ที่สามารถสร้างรายได้และยังเป็นปัจจัยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจทางอ้อมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงทำให้ในปี 2556 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ ให้สอดคล้องสากล ยกระดับมาตรฐานการกีฬาอาชีพในประเทศไทย และเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนานักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ
แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพยายามยกระดับกีฬาให้เป็นอาชีพเหมือนในต่างประเทศ และเมื่อพิจารณาประกาศการกีฬาแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดชนิดกีฬาอาชีพ ที่มี 13 ชนิดกีฬา คือ ฟุตบอล กอล์ฟ เจ็ตสกี วอลเลย์บอล ตะกร้อ โบว์ลิ่ง แข่งรถจักรยานยนต์ จักรยาน แข่งรถยนต์ สนุกเกอร์ แบดมินตัน เทนนิส และบาสเกตบอล นอกจากนี้ กีฬามวยนั้นได้มี พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ทำหน้าที่ควบคุมดูแลอาชีพนักมวยเป็นการเฉพาะ
เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมของการกำกับดูแลนักกีฬาอาชีพในประเทศไทยแล้ว ยังไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะที่นำมาปรับใช้เหมือนเช่นในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งได้พัฒนากฎหมายกีฬาขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมดูแลวงการกีฬา ตลอดจนการจัดทำสัญญานักกีฬาอาชีพไว้ด้วย
ในแง่มุมทางกฎหมายของสัญญานักกีฬาอาชีพในประเทศไทยนั้น พบว่าสัญญานักกีฬาอาชีพในไทยยังคงมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาหลายประเด็น เช่น สัญญานักกีฬาอาชีพเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อตกลงในสัญญา เจตนาของคู่สัญญา ลักษณะงานที่มีความเฉพาะของกีฬาอาชีพ
กล่าวคือสัญญาจ้างนักกีฬาอาชีพมีลักษณะของความเป็นสัญญาจ้างแรงงานจากหลักอำนาจบังคับบัญชาของสโมสรที่มีต่อนักกีฬา และนักกีฬาได้รับค่าจ้างจากสโมสรตลอดเวลาที่ทำงานให้ แต่สัญญาจ้างนักกีฬาอาชีพมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสัญญาจ้างแรงงานทั่วไป โดยข้อกำหนดในสัญญาจ้างนักกีฬาอาชีพขึ้นอยู่กับความตกลงร่วมกันของคู่สัญญาตามหลักการแสดงเจตนาเป็นสำคัญ สัญญาจึงไม่ได้ถูกบังคับด้วยกฎหมายแรงงาน เนื่องจากหากนำกฎหมายแรงงานมาปรับใช้กับสัญญาย่อมไม่มีความเหมาะสม และทำให้สัญญารูปแบบนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงลักษณะเฉพาะของสัญญาจ้างนักกีฬาอาชีพ จะพบว่าสัญญาดังกล่าวมีลักษณะที่ต่างจากสัญญาแรงงานทั่วไป กล่าวคือเป็นลักษณะของงานที่มีความเป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ทักษะความสามารถเฉพาะทางในกีฬาแต่ละประเภท แม้นักกีฬาอาชีพจะอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของสโมสรแต่อำนาจบังคับบัญชาดังกล่าวมีลักษณะที่ต่างออกไป นักกีฬาอาชีพมีอิสระในการตัดสินใจทำการแข่งขันตามดุลยพินิจในวิธีการทำงานของตนเองเมื่อลงทำการแข่งขัน
อีกทั้งความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไม่สอดคล้องกับลักษณะของสัญญาจ้างนักกีฬาอาชีพ เนื่องจากลักษณะของสัญญานักกีฬาอาชีพที่ดีต้องเป็นไปในทางส่งเสริมความสามารถในการประกอบอาชีพของนักกีฬา ประกอบกับการมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากสัญญาทั่วไป เช่น เรื่องชั่วโมงทำงาน วันหยุด วันลา เป็นต้น ทำให้สัญญานักกีฬาอาชีพจึงควรมีรูปแบบเฉพาะของสัญญาเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนานักกีฬาอาชีพ และให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญา
จึงเห็นได้ว่าสัญญานักกีฬาอาชีพของไทยในปัจจุบัน คู่สัญญามักจะตกลงกันไม่ให้สัญญานักกีฬาอาชีพเป็นสัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นการตกลงโดยอาศัยหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการตกลงเข้าทำสัญญาระหว่างคู่สัญญาในสัญญานักกีฬาอาชีพในปัจจุบันยังพบปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาหลายประการ แม้จะมีการกำหนดรูปแบบสัญญามาตรฐานในบางชนิด เช่น ฟุตบอล ที่ถูกกำหนดโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) หรือกีฬามวยซึ่งมีกฎหมายเฉพาะ ทำให้เห็นได้ว่าจาก 13 กีฬาอาชีพ แต่มีสัญญาที่ได้รับดูแลอย่างเป็นรูปธรรมแค่ 2 ชนิดเท่านั้น
อีกทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายแรงงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ก็มิได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำสัญญานักกีฬาอาชีพแต่อย่างใด กฎหมายคงปล่อยให้เป็นอำนาจอิสระของคู่สัญญาในการเข้าทำสัญญาตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั่วไปเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบลักษณะวิชาชีพเฉพาะของนักกีฬาอาชีพที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสัญญาแพ่งหรือสัญญาจ้างแรงงานทั่วไป อาทิ สถานที่ทำงาน เวลาทำงาน เวลาพักผ่อน ลากิจ ลาป่วย ค่าตอบแทนการทำงาน การสิ้นสุดสัญญา การคุ้มครอง เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งมีพัฒนาการในเรื่องการจัดทำสัญญานักกีฬาอาชีพมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีฬาฟุตบอลที่มีระยะเวลามากว่าร้อยปี จึงทำให้มีการกำหนดรูปแบบสัญญาจ้างนักกีฬาอาชีพที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้สโมสรและนักกีฬาอาชีพใช้เป็นแนวทางในการทำสัญญาและคู่สัญญามีหน้าที่จะต้องกำหนดเงื่อนไขในสัญญาไม่ให้ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้
หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 โดยให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกีฬาอาชีพ” ขึ้นมา ให้มีอำนาจตามมาตรา 11 (7) ได้ให้อำนาจในการ “กำหนดมาตรฐานการจ้าง มาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ มาตรฐานความปลอดภัย ให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล” แต่ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการออกประกาศใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสัญญามาตรฐานของนักกีฬาอาชีพแต่อย่างใด และสัญญานักกีฬาอาชีพที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีมาตรฐานที่เพียงพอหรือเหมาะสมต่อบริบทของวงการกีฬาในประเทศไทยแล้วหรือยัง
โดย...
พรพล เทศทอง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์