ทำไมการเป็น ‘ผู้นำ’ ไม่ต่างกับ ‘วิ่งมาราธอน’
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลังจากกลับจากไปท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ประเทศนิวซีแลนด์ ดิฉันและครอบครัวเกิดแรงบันดาลใจและได้รับพลังจากธรรมชาติกลับมา
จนกลับมานั่งคิดว่าทุกวันนี้ เราออกทำงานแต่เช้ากลับถึงบ้านก็ค่ำ ส่วนเสาร์อาทิตย์ก็อยู่ตามห้างสรรพสินค้า เราช่างใช้ชีวิตห่างไกลจากธรรมชาติเหลือเกิน เราจึงตัดสินใจไปปลูกบ้านที่อำเภอปากช่อง เพื่อใช้เวลาในวันหยุดอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายเรื่องความสมดุลในการใช้ชีวิตทั้งร่างกาย อารมณ์และจิตใจ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น เดินป่า ปลูกผัก ปั่นจักรยานเสือภูเขา และท้ายที่สุดเมื่อ 5 ปีก่อนมาตกหลุมรักการวิ่งเทรล การวิ่งเทรลคือกิจกรรมที่มีทั้งการวิ่งผสมการปีนไต่เขาบนเส้นทางธรรมชาติ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดิฉันและครอบครัวได้มีโอกาสเดินทางไปลงรายการวิ่งเทรลระยะอัลตราสนามระดับโลกหลายสนาม เพราะยิ่งตกหลุมรักในเสน่ห์ของธรรมชาติที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิประเทศ ยิ่งกว่านั้น การวิ่งเทรลยังทิ้งข้อคิดให้กับดิฉันในฐานะผู้นำองค์กรหลายต่อหลายข้อ
1. รู้อะไรไม่เท่ารู้จักตัวเอง การแข่งวิ่งเทรลไม่ใช่เพียงการใส่รองเท้าแล้วออกไปวิ่ง แต่ต้องอาศัยความพร้อมของร่างกายทั้งปีนป่าย ลงน้ำ ขึ้นเขา นักวิ่งต้องรู้จักตัวเอง รู้จุดแข็งจุดอ่อนของร่างกายจิตใจ เพื่อวางแผนการซ้อมที่ค่อย ๆ เพิ่มความแข็งแรงและความพร้อมของร่างกาย ไม่ว่าจะแผนซ้อม แผนกการกิน การนอนที่ช่วยให้สมรรถภาพดีขึ้น รวมถึงประเมินตนเองตลอดเส้นทางเมื่อไม่ไหวให้หยุด ผู้นำที่รู้จักจุดแข็ง จุดอ่อนของตนเอง ทีม องค์กรเป็นอย่างดี ย่อมวางแผนปิดจุดตายขยายจุดแข็งเพื่อพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
2. ในสนามแข่ง ไม่ว่าเราจะอยู่ในจุดไหน ตำแหน่งอะไร เรามีหน้าที่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การวิ่งอัลตราเทรลมีตั้งแต่ระยะ 42 จนไปถึงเกิน 100 กิโลเมตร ตลอดระยะทางเราอาจเห็นนักวิ่งเก่ง ๆ วิ่งสวนทางกลับมา ไม่ว่าเราจะเป็นคนวิ่งช้ากว่าหรือเร็วกว่า สิ่งที่เรามักได้ยินตลอดทางคือ “สู้ สู้ค่ะ” “สุดยอดครับ” “อีกนิดเดียว” อีกบทบาทสำคัญของผู้นำองค์กรคือ การส่งเสริม สนับสนุน ให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจแก่ทีมเพื่อให้เขาทำได้ดีที่สุดเต็มศักยภาพของเขา
3. เคารพชุมชน การวิ่งเทรลไม่ใช่กีฬาที่ทำคนเดียวหรือทำเป็นทีม แต่เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับชุมชน การใช้ชีวิตกับชุมชนรอบ ๆ เส้นทางวิ่ง การได้รับความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากชุมชนรอบ ๆ ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ซึ่งงานวิ่งรายการใหญ่ ๆ ระดับโลกล้วนได้รับแรงสนับสนุนจากอาสาสมัครที่ทำด้วยใจเข้ามาให้ความช่วยเหลือนักวิ่ง ตั้งแต่เตรียมอาหาร ขนเสบียงไปยังจุด Check Point ที่เป็นจุดที่เข้าถึงยาก รักษาพยาบาล บางงานวิ่งไปจัดในจุดที่ไม่มีโรงแรมแม้แต่โรงแรมเดียว หากไม่ได้ความร่วมมือจากชาวบ้านที่ยอมแบ่งปันพื้นที่บ้านอันปลอดภัยของพวกเขาให้คนแปลกหน้าอย่างเราได้เข้ามาอยู่อาศัยก่อนวันแข่ง แถมเจ้าของบ้านก็ไม่ได้อยู่บ้านเพราะต้องออกไปช่วยเตรียมงานกันทั้งวันทั้งคืน นอกจากนี้ชุมชนยังได้รับการเตรียมตัวเป็นอย่างดีตั้งแต่ลูกเล็กเด็กแดงจนถึงคนเฒ่าคนแก่ ออกมาร่วมเชียร์นักวิ่งตลอดเส้นทาง ในฐานะผู้นำซึ่งยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยใส่ใจและมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เพียงพนักงาน ลูกค้า ผู้ถือหุ้น แต่ต้องคำนึงถึงสังคมชุมชนด้วย
4. แข่งกับใครไม่สนุกเท่าแข่งกับตัวเอง แน่นอนว่าในการวิ่งอัลตราเทรลนั้นเราต้องผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเขา ลงเขาชัน อากาศร้อน อากาศเย็น ความสว่าง และ ความมืด นักวิ่งต้องใช้เวลาอยู่กับตัวเองตลอด 5 ชั่วโมงจนถึง 48 ชั่วโมง เรียกได้ว่าไม่ต้องแข่งกับใคร แค่แข่งกับความคิดของตัวเอง เอาชนะความคิดด้านมืดที่บอกกับ
เราตลอดทางว่า “เลิกเถอะ” ผู้นำก็เช่นกันในโลกการดำเนินธุรกิจสมัยนี้ ยากที่บอกว่าใครเป็นคู่แข่ง และคู่แข่งตัวที่สำคัญที่สุดคือ “เวลา” กับ “ความไม่ชัดเจน” ความคิดด้านมืดก็มักเกิดในหัวตลอดเวลา “เลิกเถอะ” ในโลกที่ทุกคนมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมง ใครที่สามารถพัฒนาตนเองในวันนี้ได้ดีกว่าเมื่อวานกว่า ถือว่าได้เปรียบคู่แข่งอย่างแน่นอน