กู้วิกฤต ขยะทะเลไทย: ควรใช้ไม้แข็งหรือไม้อ่อน

กู้วิกฤต ขยะทะเลไทย: ควรใช้ไม้แข็งหรือไม้อ่อน

ขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจ โดpไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก

ขยะพลาสติกที่พบในสัตว์ทะเลไทยในระยะที่ผ่านมา ได้ทำให้คนไทยเริ่มมีความตื่นตัวและหันมาใส่ใจปัญหาขยะทะเลมากขึ้น ในปี 2561 พบพลาสติกจำนวนมากในท้องปลาวาฬที่เกยตื้นตาย กลายเป็นข่าวใหญ่ดังทั่วโลกและต้นปีที่ผ่านมา พบเต่าซึ่งตายเพราะมีขยะจำนวนมากอยู่ในท้อง ทั้งโฟมและพลาสติก กระทั่งล่าสุด “มาเรียม” พะยูนขวัญใจคนไทยก็ตายเพราะมีเศษพลาสติกขนาดเล็กหลายชิ้นขวางในลำไส้ นอกจากผลกระทบต่อสัตว์ทะเลแล้วขยะพลาสติกเหล่านี้ยังกระทบต่อระบบนิเวศทั้งในทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ โดยทำลายทัศนียภาพของสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งอาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ด้วยเหตุนี้ ปัญหาขยะทะเลจึงได้รับการยกเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

เพื่อให้ได้มาตรการจัดการปัญหาขยะทะเลซึ่งแก้ไขได้ตรงจุด ทีดีอาร์ไอได้ศึกษาแหล่งที่มาของขยะทะเลที่สำคัญในไทย โดยผลการศึกษาพบว่าแหล่งที่มาที่สำคัญ ประกอบด้วย ชุมชนหรือร้านค้าที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำและริมชายฝั่ง การท่องเที่ยวริมชายหาด และขยะจากหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง แหล่งที่มาของขยะทะเลอื่นๆ ได้แก่ ขยะจากเรือประมง เรือขนส่งสินค้า รวมถึงขยะที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนได้มีความพยามลด ละ เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกันบ้างแล้ว โดยปรับเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทน แต่ทำอย่างไรจะให้ความตื่นตัวนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน และเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับนโยบาย วิธีการที่มีประสิทธิผลสูงสุดและต้นทุนต่ำสุดในการป้องกันปัญหาขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติกคือการส่งเสริมให้ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Reduce) โดยทีมวิจัยของทีดีอาร์ไอได้เสนอแนะมาตรการที่เป็นทั้งไม้แข็งและไม้อ่อน  หลายประเทศทั่วโลกได้ใช้ไม้แข็งในการ ส่งเสริมให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรม เช่น ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (ประเทศนิวซีแลนด์) เก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (ประเทศสหราชอาณาจักร) หรือระบบเก็บค่ามัดจำและคืนเงิน เป็นต้น

หากภาครัฐจะดำเนินการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก ควรกำหนดค่าธรรมเนียมที่อัตรา 1.50-2 บาทต่อใบ เนื่องจากงานศึกษาของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในปี 2560 พบว่าคนไทยมีความเต็มใจจ่ายค่าถุงพลาสติก 1 บาทต่อใบ ดังนั้น จึงควรกำหนดค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ประชาชนเต็มใจจ่าย โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมควรนำไปส่งเสริมกิจกรรมการจัดการขยะ และการผลิตบรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับมาตรการเก็บค่ามัดจำและคืนเงิน ได้มีการใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติก โดยภาครัฐกำหนดให้ผู้ผลิตเก็บค่ามัดจำขวด และนำส่งรายได้จากค่ามัดส่งรัฐเพื่อนำเงินไปบริหารจัดปัญหาขยะ โดยผู้บริโภคจะได้รับเงินค่ามัดจำขวดคืนเมื่อนำขวดมาคืนเพื่อนำไปรีไซเคิล

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสร้างขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ควรมีการใช้มาตรการที่เป็นไม้อ่อนควบคู่ไปด้วย โดยตัวอย่าง ประกอบด้วย การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ไม่ใช้ถุงพลาสติก การที่ร้านค้างดแจกถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน การให้คะแนนสะสมพิเศษในกรณีที่ปฏิเสธถุงพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเหล่านี้ได้ ควรมีการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนคัดแยกขยะ โดยนำมาตรการ “ธนาคารขยะ” (waste bank) มาใช้ เพื่อนำขยะที่ประชาชนนำมาฝากไปรีไซเคิล

หากไม่สามารถลดการทิ้งขยะหรือนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้ อาจพิจารณานำขยะไปผลิตเป็นพลังงาน หรือนำไปจัดการให้ถูกต้อง

มาตรการทั้งหมดที่ทางทีดีอาร์ไอเสนอไม่จำเป็นต้องดำเนินการทั้งประเทศพร้อมกันทันที เพื่อทดสอบว่ามาตรการใดมีประสิทธิผลและได้ผลดี อาจเริ่มจากพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพในการดำเนินงานก่อน หากประเมินผลแล้วเกิดผลลัพธ์ที่ดี แล้วจึงขยายผลไปทั่วประเทศ

โดย... 

กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์

วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ 

ประมณฑ์ กาญจนพิมลกุล