‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จะรอดไหม?
มื่อเช้าวันพุธที่ผ่านมา นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้ประกาศเริ่มต้นกระบวนการถอดถอน (impeachment) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ในข้อหากระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยกดดันนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ให้มีการสอบสวนนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ และนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชาย ด้วยข้อหาที่ทั้งคู่ได้ทำการคอร์รัปชั่น โดยทรัมป์ได้เคยระบุว่านายไบเดนพยายามใช้ตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐในการช่วยเหลือบุตรชาย โดยพยายามมิให้เจ้าหน้าที่ยูเครนตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับนายฮันเตอร์
นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ได้สั่งระงับการให้งบช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนมูลค่าเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนที่จะโทรศัพท์ติดต่อนายเซเลนสกีในประเด็นดังกล่าว
ทำให้มองกันว่าทรัมป์กำลังใช้งบช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐเพื่อกดดันนายเซเลนสกีให้มีการสอบสวนนายไบเดน และบุตรชาย โดยหากทรัมป์ประสบความสำเร็จในการสกัดนายไบเดน (ซึ่งโพลหลายสำนักที่ทำออกมา ปรากฎว่าไบเดนนำทรัมป์อยู่หลายแต้ม) ออกจากการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เขาก็มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกสมัย จึงนำมาซึ่งเกิดกระบวนการถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีดังกล่าว
โดยขณะนี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือ Housing Judiciary Committee มาสอบสวนข้อกล่าวหาต่อทรัมป์ เพื่อเตรียมส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่ามีมูลหรือไม่ หากปรากฎว่ามีมูล ก็จะมีการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร โดยหากจะส่งต่อไปยังวุฒิสภาได้ต้องมีคะแนนเกินครึ่งหนึ่ง จากนั้น ต้องโหวตในวุฒิสภา หากจะเอาผิดทรัมป์ได้ต้องมีคะแนนเกินสองในสาม ซึ่งยังไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดเคยถึงจุดที่โดนวุฒิสภาโหวตให้ออก โดยริชาร์ด นิกสัน ในคดีวอเตอร์เกต นั้น ตัวเขาก็ลาออกก่อน ส่วนแอนดริว จอห์นสันนั้น ก็รอดจากกระบวนการถอดถอนเช่นกัน
คราวนี้ มาย้อนพิจารณากรณีการถอดถอนครั้งอื้อฉาวที่หลายคนยังจำได้ ซึ่งทำให้ บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ต้องเผชิญกับกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่ง ในปี 1998 จากข้อหาที่เขามีสัมพันธ์ทางเพศกับโมนิกา ลูวินสกี อดีตเด็กฝึกงานที่ทำเนียบขาวซึ่งคลินตันปฏิเสธในตอนแรก
แม้คลินตันจะดูเหมือนเพลี่ยงพล้ำ แต่เหตุการณ์นี้กลับทำให้คลินมีความมั่นคงทางการเมืองสูงยิ่งขึ้น ผลสำรวจ พบว่าประชาชนกว่า 64% ให้การสนับสนุนคลินตันต่อไป มีเพียง 31% ที่บอกว่าเขาสมควรถูกถอดถอน
โดยผลของการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร ปรากฎว่าลงมติให้ถอดถอนคลินตันจากกรณีเบิกความเท็จต่อคณะลูกขุนใหญ่ และขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ส่วนความเห็นของประชาชน พบว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการถอดถอน โดยคะแนนนิยมของคลินตันพุ่งขึ้นเป็น 73% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับแต่วันที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
สำหรับการโหวตในวุฒิสภา แม้ตอนนั้นฝ่ายรีพับลิกันจะเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมาก โดยรีพับลิกันมี 55 เสียง และเดโมแครต 45 แต่ผลกลับไม่ได้ออกมาตามคาด และได้มีมติให้คลินตันไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ 55 เสียง ต่อ 45 เสียง โดยได้คะแนนจากฝ่ายรีพับลิกันมาเพิ่ม 10 เสียง ส่วนข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมมีคะแนนเสียงเท่ากัน 50 ต่อ 50 การพิจารณาครั้งนี้จึงจบลงด้วยชัยชนะของคลินตัน
มาถึงกรณีของการถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งผู้นำสหรัฐนั้น ผมมองประเด็นดังกล่าว ดังนี้
หนึ่ง คาดว่านางเพโลซีน่าจะมีการติดต่อกับผู้ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนายทรัมป์ที่ไม่ได้เปิดเผยตัว (Whistleblower) ซึ่งมีแหล่งข่าวหลายกระแสให้ความเห็นว่าน่าจะมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อระหว่างนายทรัมป์กับนายเซเลนสกี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากเอกสารการถอดเทปสนทนาประเด็นลูกชายโจ ไบเดน ระหว่าง ทรัมป์กับเซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน ที่ทำเนียบขาวส่งให้นางเพโรซีที่ออกมาให้เห็นกับทางสื่อเมื่อวานนี้ ซึ่งว่ากันว่าจะเป็นกลเม็ดเด็ดมัดตัวนายทรัมป์ คล้ายกับที่อดีตผู้นำสหรัฐนิกสันที่ยอมจำนนต่อหลักฐานบันทึกการสนทนาระหว่างตัวเขากับผู้เกี่ยวข้องในคดีวอเตอร์เกต
คำถามสำคัญ คือ ผู้ที่เป็น Whistleblower ตัวจริงนั้นเป็นใคร? และจะกล้าพอที่จะมาให้การต่อสภาคองแกรสหรือไม่ ซึ่งนางเพอโลซีต้องเก็บตัวคนๆนี้ไว้จนถึงนาทีสุดท้าย ก่อนที่จะมาให้การต่อสภาเพื่อความปลอดภัยทั้งในกายภาพและในทางจิตวิทยาของเจ้าตัว โดยหมากของนางเพโลซีนั้น ถือว่าเสี่ยงพอควร ถ้าเกิดชาวอเมริกันจะมองว่ากระบวนการดังกล่าว ถือเป็นการรังแกนายทรัมป์ ซี่งก็อาจเป็นเช่นนั้นได้ในอนาคต หากมีเหตุการณ์ที่ทรัมป์สามารถสร้างขึ้นมาเพื่อให้กระแสของชาวอเมริกันมองไปในทิศทางนั้น
หากสังเกตให้ดีคะแนนเสียงของอดีตผู้นำสหรัฐ คลินตัน คะแนนนิยมกลับมากระเตื้องดีขึ้นในช่วงท้ายๆของคดีกับเลวินสกี้ที่กำลังงวดล งในช่วงการโหวตในวุฒิสภาของกระบวนการถอดถอนผู้นำ แม้คะแนนนิยมของทรัมป์ในวันนี้จะเทียบกับคลินตันในตอนนั้นไม่ได้เลยก็ตามที ดังนั้นหมัดเด็ด Whistleblower ต้องเก็บเป็นไฮไลต์ในช่วงไคล์แมกซ์เท่านั้น
สอง แม้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะเกี่ยวข้องกับยูเครน ทว่ารัสเซียเองถือว่ามีความใกล้ชิดทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจกับยูเครน ซึ่งประจวบเหมาะกับรายงานขั้นสุดท้ายในประเด็นความเกี่ยวข้องของรัสเซียต่อการเลือกตั้งใหญ่ผู้นำสหรัฐปี 2016 ของโรเบิร์ต มุลเลอร์ จะออกมาสู่สาธารณชนในเดือนเมษายน 2020 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น คาดว่ากระบวนการถอดถอนผู้นำสหรัฐจะเข้าสู่จุดสูงสุดพอดี ซึ่งประเด็นของมูลเลอร์อาจจะมาผนวกกับประเด็นกระบวนการถอดถอนนี้ ซึ่งยิ่งทำให้นายทรัมป์ต้องเปิดศึกหลายด้านเข้าไปอีก
สาม จุดสำคัญต้องมีการพิสูจน์ว่าหลักฐานที่ได้ จะสามารถชี้ชัดว่าทรัมป์ใช้อำนาจในหน้าที่กระทำการที่ผิดอย่างรุนแรงแบบชัดเจนหรือ Smoking Gun ที่อดีตผู้นำสหรัฐ นิกสัน ต้องเผชิญก่อนที่จะตัดสินใจลาออกก่อนที่วุฒิสภาจะโหวตในการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งตรงนี้ ยังถกเถียงถึงหลักฐานต่อทรัมป์ในตอนนี้ ไปถึงจุด Smoking Gun แล้วหรือยัง
ท้ายสุด หากจะให้ประเมินถึงโอกาสที่ทรัมป์จะรอดจากกระบวนการถอดถอนนี้หรือไม่? ผมประเมินว่ากรณีของทรัมป์ดูจะเลวร้ายน้อยกว่าคดีวอเตอร์เกตของนิกสัน ทว่าก็ดูแย่ไม่แพ้ หรืออาจจะเลวร้ายกว่ากรณีคลินตันกับเลวินสกี้ ในแง่ของการไปพาดพิงต่อนายไบเดน ซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสสูงมากที่จะเป็นผู้ท้าชิงในศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐในปี 2020 กับผู้นำยูเครน
ดังนั้น ผมจึงให้โอกาสที่ทรัมป์จะรอดในงานนี้เพียงแค่ราวสองในสาม แม้พรรครีพับลิกันจะมีเสียงข้างมากในวุฒิสภา ที่การถอดถอนทรัมป์จะสำเร็จนั้น จะต้องการเสียงเยอะถึงสองในสามเป็นอย่างน้อยในการถอดถอนผู้นำสหรัฐออกจากตำแหน่งในครั้งนี้ก็ตามครับ