ปัญหากัมพูชา” ของญี่ปุ่น

ปัญหากัมพูชา” ของญี่ปุ่น

ในเดือน ก.ค.2018 พรรคประชาชนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเบ็ดเสร็จ

ไม่มีพรรคการเมืองอื่นได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเลยแม้แต่ที่นั่งเดียว เป็นเหตุให้กัมพูชาเปลี่ยนเข้าสู่ระบบการปกครองแบบเดียวกันกับลาว เวียดนาม และจีน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสหภาพยุโรป(อียู)และสหรัฐ ที่เห็นว่าการจับกุมนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและการยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา อันเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญของพรรคประชาชนกัมพูชาซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้งเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชนกัมพูชาจำนวนหลายล้านคน ส่งผลให้การเลือกตั้งและชัยชนะของพรรคประชาชนกัมพูชาปราศจากความชอบธรรม

อียูและสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะใช้มาตรการทางการค้าและการทูตเพื่อ ลงโทษกัมพูชาในกรณีการเลือกตั้งดังกล่าว แต่ในการประชุม Belt and Road Forum ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นที่ปักกิ่ง ในเดือน เม.ย.2019 นั้น จีนได้ตกลงให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาด้วยการสัญญาว่าจะให้เงินช่วยเหลือด้านการทหาร เพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวอันเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา และจะดำเนินโครงการลงทุนระยะที่ 2 ในสีหนุวิล ที่จีนได้ลงทุนสร้างคาสิโน โรงแรม และรีสอร์ตไว้แล้วนับร้อยแห่ง อีกทั้งยังให้สัญญาอย่างตรงไปตรงมาว่าจะช่วยลดทอนความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากกัมพูชาถูก อียู ยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งเป็นมาตรการที่อียู ประกาศว่าจะใช้เพื่อกดดันกัมพูชาให้แก้ไขสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ

ความช่วยเหลือดังกล่าวมีความหมายเป็นอย่างยิ่งต่อรัฐบาลกัมพูชาและนายกฯฮุนเซน รวมไปถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนอกจากจะทำให้ พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซนสามารถครองอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จต่อไปโดยไม่ต้องคำนึงถึงแรงกดดันจากประเทศตะวันตกอีกแล้ว การเข้าแทนที่ประเทศตะวันตกของจีนในกัมพูชาในกรณีนี้ยังเป็นการตอกย้ำอิทธิพลของการเมืองระหว่างประเทศแบบจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันอาจส่งผลให้สถานการณ์ด้านความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยของภูมิภาคเสื่อมถอยลง

สำหรับญี่ปุ่นแล้ว การแผ่อิทธิพลของจีนในกัมพูชาก่อให้เกิด “ปัญหากัมพูชา” ขึ้นกับญี่ปุ่น เพราะนอกจากญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างหนักหน่วงจากจีนในการแสวงหาผลประโยชน์ในกัมพูชาแล้ว ญี่ปุ่นยังต้องแบกรับแรงกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งในและนอกญี่ปุ่น และอาจรวมไปถึงประเทศพันธมิตรสำคัญของตนในอนาคต ด้วยเหตุที่ในด้านหนึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิกชั้นนำของกลุ่มประเทศที่แสดงตนว่า สนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในระดับสากล อีกทั้งมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของกัมพูชาในทศวรรษ 1990 แต่ในอีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นก็ต้องการรักษาผลประโยชน์และอิทธิพลที่ตนเองมีต่อกัมพูชาเอาไว้ ความย้อนแย้งดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นแปลกแยกจากประเทศพันธมิตรสำคัญของตนในประชาคมนานาชาติและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนว่าละทิ้งหลักการประชาธิปไตยและแสวงหาผลประโยชน์จากกัมพูชาโดยไม่คำนึงถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน ไม่ต่างอะไรกับจีน และการไม่ยอมแสดงบทบาทถ่วงดุลจีนในกัมพูชาจะเป็นสาเหตุให้ญี่ปุ่นสูญเสียภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับจีนในท้ายที่สุด

คำตอบของ “ปัญหากัมพูชา” ของญี่ปุ่นอาจไม่ใช่การอธิบายว่าการกดดันกัมพูชาในลักษณะเดียวกันกับที่ อียู และสหรัฐฯกระทำจะเท่ากับเป็นการผลักดันให้กัมพูชาต้องพึ่งพาจีนมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่เป็นการพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าความอดทนของญี่ปุ่นต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนของกัมพูชาจะเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นสามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลกัมพูชาปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของตนให้ดีขึ้นได้ในอนาคต มิฉะนั้นแล้ว ญี่ปุ่นอาจสูญเสียความไว้วางใจของประชาชนจำนวนมากในกัมพูชาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไป เช่นเดียวกับที่จีนได้สูญเสียไปแล้ว

โดย... 

ภาคภูมิ วาณิชกะ

ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ