สงคราม(การค้า)ยังไม่สงบ อย่าพึ่งนับศพ (SMEs)
บทความเรื่อง SMEsไทย เหยื่อสงครามการค้าที่รอรับการช่วย ที่ผมนำเสนอในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2562
ได้แสดงความเป็นห่วงท่านผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน ทำให้การส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญที่สุดในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว
โดยจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.5% และได้คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้เหลือเพียง 2.8% จากเดิม 3.3% ปรับลด GDP ปี 2563 เหลือเพียง 3.3% จากเดิม 3.7%
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ ธปท ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัว -1.0% จากคาดการณ์เดิม 0% ในปี 2563 ขยายตัว 1.7% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 4.3% การส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้จากสภาวะกีดกันการค้าที่มีความรุนแรงขยายตัวมากขึ้นส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชลอลงจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อการส่งออก
สำนักงานสถิติแห่งชาติรวบรวมข้อมูลและสถิติไว้ด้วยการเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในเดือนกรกฎาคม 2562 กับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 คนไทยว่างงานสูงมาก มีผู้ว่างานในเดือนกรกฎาคม 2562 จำนวน 4.36 แสนคน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2561 จำนวน 5.4 หมื่นคน คิดเป็นอัตราการว่างาน ร้อยละ 1.1 จากจำนวนกำลังแรงงาน 38.09 ล้านคน เมื่อพิจารณาช่วงอายุ พบว่า ผู้ว่างงานวัยเยาวชน 15-24 ปี จำนวน 2.47 แสนคน วัยผู้ใหญ่ อายุ 25 ปีขึ้นไป 1.89 แสนคน โดยเพศชายมีอัตราการว่างงานสูงกว่าเพศหญิง
แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป ระบุว่า สาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกและการบริการโดยตรง อีกทั้งหลายอุตสาหกรรมอยู่รหว่างการปรับเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล อัตราการว่างงานจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ
ผลกระทบจากสงครามการค้าและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูง ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ และผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทำให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชลอลงจากรายได้และการจ้างานที่ปรับลดลง ทำให้ธุรกิจเจ๊งในเดือนสิงหาคม 2562 พุ่งสูงขึ้น 10%
นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือนสิงหาคม 2562 มีทั้งหมด 1,755 ราย หากเทียบกับเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ถือว่าเพิ่มขึ้น 10% โดยธุรกิจเลิกสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 10,016 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 59,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,782 ล้านบาท คิดเป็น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 55,766 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยตัวเลขสินเชื่อเงินฝาก สภาพคล่องเดือน ส.ค. 2562 พบว่า สินเชื่อธุรกิจชะลอตัว สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถซึมยาว ทำสถิติต่ำสุดรอบ 21 เดือน ชี้ทั้งปี สินเชื่อทั้งระบบอืด สารพัดปัจจัยรุมเร้า แรงส่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังค่อนข้างจำกัด
จากข้อมูลที่ผมนำเสนอทั้งหมดเป็นตัวเลขที่เสนอโดยภาครัฐ หากพิจารณาถึงผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจตามกฎหมาย จะมีผู้ประกอบการเลิกกิจการจำนวนมาก ตามชุมชนเมืองหลายแห่ง ผู้ประกอบการการ ทั้งหาบเร่ แผงลอยปิดกิจการเพราะไม่สามารถเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปัญหาหนี้สินนอกระบบ มองไปทางไหนก็ไม่เห็นแสงสว่าง ยิ่งนโยบายรัฐที่ประกาศก็ไม่มีอะไรใหม่ สวยหรู แต่ Implement ไม่ได้ครับ น่าเป็นห่วง...