ก้าวต่อไปของมหกรรมหนังสือระดับชาติ
งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 ได้จบลงไปแล้ว ครั้งนี้มีความพิเศษกว่าครั้งก่อน เพราะย้ายมาจัดที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ซึ่งตั้งแต่มีการประกาศสถานที่จัดงาน ก็มีเสียงบ่นเรื่องความไกล ความลำบากในการเดินทาง หลายคนจึงตั้งธงไว้แต่แรกว่าคงไม่ไปงานนี้อย่างแน่นอน บางคนเสนอว่าให้ไปจัดที่ไบเทค เพราะเดินทางสะดวกกว่า แต่จากข้อมูลที่นายกสมาคมฯ เล่าให้ฟัง การจัดที่ไบเทคก็มีข้อที่ควรกังวลเหมือนกัน เพราะค่าเช่าแพงกว่า พื้นที่จัดงานห่างจากรถไฟฟ้าประมาณ 2 กิโลเมตร ทำให้ต้องเดินทางไกล คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทราบรายละเอียดเหล่านี้มาก่อน
ดูเหมือนว่า การจัดคราวนี้มีคนเดินทางมางานน้อยลงเหมือนที่คาด โดยเฉพาะวันธรรมดา ยอดขายของสำนักพิมพ์บางส่วนก็ลดลงจริง แต่เราต้องเข้าใจว่า การลดลงนั้น เกิดจากทั้งแนวโน้มและการย้ายที่จัดงาน การเหมารวมว่าคนลดลง ยอดขายลดลง เพราะการย้ายที่จัดงานเพียงอย่างเดียว จึงน่าจะไม่เหมาะนัก เพราะงานที่จัดก่อนหน้านี้คนเข้างานและยอดขายก็ลดลงมาเรื่อยๆ
ท่ามกลางข้อกังวลทั้งหลาย การจัดงานครั้งนี้ก็มีเรื่องดีหลายเรื่อง
เรื่องแรก คือ การเข้าถึงงานของคนทุกกลุ่มที่สามารถเดินทางไปได้ นี่เป็นงานหนังสือครั้งแรกที่คน 3 รุ่นสามารถไปงานได้พร้อมกัน ปู่ย่ามีวีลแชร์ให้นั่ง เด็กเดินไปมาโดยไม่ต้องกลัวโดนเบียด คนพิการ พระสงฆ์ ก็สามารถมางานได้ เพราะพื้นที่การเดินกว้างขึ้น ประกอบกับจำนวนคนเข้างานที่ลดลง ทำให้เดินสะดวกกว่าเดิม การที่งานจัดในห้องเดียว ไม่ต้องขึ้นลงบันได จึงสะดวกกับคนทุกกลุ่มมากกว่าเดิม
เรื่องที่สอง จอดรถง่ายขึ้น การหาที่จอดรถหาง่ายกว่าตอนจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยกเว้นในวันที่จัดงานชนกับงานอื่น แม้จะต้องเดินไกลบ้าง แต่ก็ยังหาง่ายกว่าในห้างช่วงวันหยุด พอซื้อเสร็จสามารถขับรถมาจอดหน้างานเพื่อขนหนังสือขึ้นรถได้เลย ไม่ต้องลากกระเป๋าไกล ดังนั้นสำหรับคนที่มีรถส่วนตัว สามารถใช้ทางด่วน การจัดงานครั้งนี้ถือว่าสะดวกขึ้นมากพอสมควร
เรื่องที่สาม การมีรถเข็นบริการ จึงไม่ต้องพกกระเป๋าลาก แบกเป้มาเอง การเดินซื้อหนังสือเลยสะดวกมากกว่าเมื่อก่อน ไม่ต้องกังวลเรื่องการแบกหนังสือ ไม่ต้องกลัวว่ากระเป๋าหรือเป้จะพังเพราะรับน้ำหนักเกินไป
เรื่องที่สี่ มีหนังสือใหม่คุณภาพดีออกมาเยอะ มีความหลากหลายมาก มีทั้งหนังสือของนักเขียนไทยและหนังสือแปล หนังสือแปลหลายเล่มที่ออกมาเป็นหนังสือยอดนิยมในต่างประเทศ ซึ่งหมายความว่า คนไทยมีโอกาสเข้าถึงความรู้ระดับสากลมากขึ้น
เรื่องที่ห้า ทีมขายของบูธส่วนใหญ่ทำการบ้านเกี่ยวกับหนังสือที่ขายเป็นอย่างดี สามารถให้รายละเอียดของหนังสือได้ คนแบบนี้แหละที่จะช่วยสร้างนักอ่านหน้าใหม่ และเป็นกำลังใจให้นักอ่านหน้าเก่า ไม่ให้หมดไฟไปเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วงการหนังสือเองก็จำเป็นต้องปรับตัว เพราะพฤติกรรมของผู้อ่านเปลี่ยนไป งานหนังสือซึ่งเดิมเป็นงานที่จัดขึ้นมาเพื่อให้คนได้มีโอกาสเลือกซื้อหนังสือที่หลากหลาย ถูกแทนที่ด้วยความสะดวกในการเลือกซื้อออนไลน์ อยากรู้รายละเอียดหนังสือก่อนตัดสินใจซื้อก็หารีวิวมาอ่านได้ เหตุผลที่จะไปงานหนังสือเพราะเป็นที่เดียวที่รวมหนังสือไว้มากที่สุด ก็เลยกลายเป็นเหตุผลที่ไม่ได้มีน้ำหนักเหมือนเมื่อก่อน
หลายปีที่ผ่านมา ความพยายามในการขยายฐานผู้อ่านยังไม่ประสบผลสำเร็จมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้อ่านรุ่นใหม่ หนังสือต้องไปต่อสู้แย่งชิงเวลาจากกับกิจกรรมอื่นของพวกเขาสนใจ การทำหนังสือดีออกมาเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถสื่อสารความดีงามเหล่านั้นไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ ไม่สามารถกระตุ้นต่ออยากอ่านได้ ฐานลูกค้าก็ไม่ขยาย ยอดซื้อต่อคนไม่เพิ่ม แนวโน้มแบบนี้เกิดขึ้นกับธุรกิจไหน บอกได้คำเดียวว่าอยู่ลำบาก
ในเมื่อบทบาทเดิมของงานหนังสือในฐานะ “ตลาด” กำลังลดความสำคัญลง คำถามที่ตามมาก็คือ งานหนังสือควรจะมีอยู่ต่อไปอีกหรือไม่ หากยังมีต่อไป บทบาทหลักของงานหนังสือควรจะเป็นอย่างไร ความชัดเจนในเรื่องนี้จะช่วยกำหนดรูปแบบของการจัดงานให้เหมาะสมได้
หากเปลี่ยนบทบาทของงานหนังสือจากการเป็นตลาดขายหนังสือ มาเป็นเทศกาลสำหรับคนรักหนังสือ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สร้างความรักการเรียนรู้ มีโอกาสได้พูดคุยกับนักเขียนในดวงใจ มีกิจกรรมใหม่ๆ ให้คนมีส่วนร่วมได้มากกว่าแค่การมานั่งฟังและขอลายเซ็น สิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยให้การตัดสินใจมางานหนังสือง่ายขึ้น หากทำได้เช่นนี้ เสียงบ่นเรื่องระยะทางและความไม่สะดวกทั้งหลายคงเบาบางลงไปอีกเยอะ
ส่วนความกังวลว่างานหนังสือจะตายหรือไม่ ขอฟันธงไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ งานหนังสือยังไม่ถึงเกณฑ์จะต้องตาย