เทรดประกันภัยในตลาดหุ้น
ลองสมมติกันว่าวันนี้มีคนมาขายประกันภัยชนิดพิเศษกับบ้านของท่านในกรุงเทพเป็นประกันภัยแผ่นดินไหว
ผมเชื่อว่าคงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องคิดมากที่ท่านจะปฏิเสธ ไม่ว่าค่าพรีเมียมประกันอันนี้จะถูกแค่ไหน ผมก็เชื่อว่าน้อยคนที่จะอยากจ่ายเพิ่มเพื่อซื้อประกันอันนี้เพราะถ้าเรามองย้อนไปในอดีตว่าโอกาสในการเกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพนั้นแทบไม่มี หรืออาจจะมีแค่แรงสั่นสะเทือนจากจุดสูงกลางแผ่นดินไหวที่ไกลออกไป แต่ยังไงก็ไม่ถึงขึ้นทำให้บ้านเรือนเสียหายจนต้องไปเคลมประกันภัยแผ่นดินไหว
เรามาลองสมมติต่อว่ามีนาย ก. ที่ทำการศึกษาลักษณะการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกมาอย่างดี เชื่อว่ามีโอกาสมากที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะเลื่อนเข้ามาในกรุงเทพ(แค่สมมตินะครับ) ด้วยความเชื่อตรงนี้ นาย ก. ได้ทำการกว้านซื้อประกันภัยแผ่นดินไหวราคาถูกมากๆ ที่ผมบอกว่าถูกมากๆ เพราะว่าประกันภัยแผ่นดินไหวอันนี้คงแทบหาคนซื้อไม่ได้ ขายพรีเมียมถูกยังไงก็แล้วแต่ก็ไม่มีคนซื้อ ผู้อ่านอาจเริ่มสงสัยว่า นาย ก. จะซื้อทำไมเยอะๆ เพราะนาย ก. มีบ้านหลังเล็กๆแค่หลังเดียวมูลค่าก็ไม่มาก
ทีนี้สมมติต่อมาว่าเมื่อเวลาผ่านไปปรากฎว่าจากการศึกษาพบว่าการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกเริ่มเคลื่อนที่เข้ามาถึงประเทศไทยจริงๆ ทำให้ประเทศไทยเองและกรุงเทพมีโอกาสมากไม่แพ้ประเทศอื่นๆที่จะเกิดแผ่นดินไหวเป็นประจำ ที่นี้บริษัทประกันที่ขายประกันแผ่นดินไหวจะทำอย่างไร? อย่างแรกสุดต้องขึ้นราคาขายประกันอันนี้ขึ้นอย่างมาก อย่างที่สองคือเริ่มขอเสนอซื้อประกันเดิมที่เคยขายถูกๆไปก่อนหน้ากับนาย ก. โดยต้องยอมซื้อคืนที่พรีเมียมที่สูงมากๆ เพื่อจะยอมให้นาย ก. ขายคืนมา และแน่นอนที่สุดครับนาย ก. ทำกำไรได้อย่างมหาศาลจากการกว้านซื้อประกันแผ่นดินไหวราคาถูก อาจกำไรมหาศาลถึงขึ้นเปลี่ยนชีวิตและเรื่องราวของเค้าจะถูกเล่าต่อเป็นตำนาน Big Shot ในวงการเลยก็ได้
เรื่องแนวๆนี้เกิดขึ้นจริงและท่านอาจจะเคยเห็นในหนังสือบางเรื่อง เช่น เรื่องราวของ John Paulson ที่ถ่ายทอดผ่านหนังสือชื่อ The Greatest Trade Ever ที่ Hedge Fund ภายใต้เค้าดูแลอยู่ทยอยกว้านซื้อสินค้าอนุพันธ์ที่ลักษณะเทียบเท่าประกันเครดิตสินเชื่อบ้านชั้นรองหรือสินเชื่อ Subprime ในอเมริกา ตอนที่เค้ากว้านซื้อประกันราคาถูกพวกนี้ในสภาวะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เป็นขาขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่อง มีหลายคนมองเป็นเรื่องตลกและไม่เห็นด้วย บางคนถึงกับเอามาเป็นเรื่องล้อเลียนเค้า แม้กระทั่ง Investment Bank ชื่อดังหลายๆ ที่ก็เป็นคนออกอนุพันธ์ตัวนี้ให้เค้าและก็ขายให้เค้าแบบไม่สนใจอะไรมากในตอนแรกๆ จนกระทั่งเกิด วิกฤติ Subprime กองทุน Hedge Fund ของเค้าทำกำไรได้อย่างมหาศาลและเรื่องราวเค้าก็ถ่ายถอดผ่านหนังสือเล่มนี้ หรือแม้กระทั่ง หนัง Hollywood เรื่อง The Big Shot ก็เป็นเรื่องราวคล้ายๆกันในช่วงเวลาเดียวกันของนาย Michael Burry
ตัวอย่างที่ผมเล่าเรื่องข้างต้นสะท้อนมาที่ตลาดหุ้นไทยได้ในหลายๆแง่มุม ในยามที่ตลาดหุ้นไทย Bullish มากๆ จนไปแตะ New High เรื่อยๆ นักลงทุนที่กลัวตลาดมากๆ ทยอยซื้อ SET50 Put DW หรือไม่ก็ SET50 Put option ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อประกันตลาดหุ้นไทย สามารถซื้อได้ด้วยพรีเมียมที่ถูกๆ ส่วนนักลงทุนอีกฝั่งที่เป็นฝั่งขายประกัน (ฝั่ง Short) ก็ขายประกันพวกนี้ออกมาเพื่อต้องการได้กำไรจากค่าพรีเมียมโดยเชื่อว่าตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น แต่เมื่อถึงจุดที่ตลาดเปลี่ยนกลับตัวลงอย่างรุนแรง ค่าพรีเมียม Put Option ปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงจากแรงซื้อทั้งจากฝั่งผู้ซื้อประกันหน้าใหม่ที่ต้องการซื้อประกันตลาดขาลง และจากฝั่งผู้ที่เคยขายประกันไปถูกๆก่อนหน้า ทำให้นักลงทุนกลุ่มแรกที่ซื้อประกันอันนี้ไปได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
การลงทุนในอนุพันธ์สามารถมองได้เหมือนการเทรดประกันอย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่ามุมมองตรงนี้ทำให้นักลงทุนสามารถสร้างกลยุทธ์หลายๆอย่างเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะในเรื่องของ Timing ในการซื้อประกัน Put Option ที่เหมาะกับสไตล์การลงทุน อย่างไรก็ตามนักลงทุนต้องจำไว้เสมอว่าการซื้อประกันตรงนี้ ความเสี่ยงที่สูงสุดคือเงินพรีเมียมนั้นอาจจะไม่ได้กลับคืนมาเลย ถ้าทิศทางตลาดสวนทางกับมุมมองที่เราคาดการณ์ไว้ในอนาคต