“จุดแตกสลายมหาวิทยาลัย (University Disruption)”
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อโลกอย่างกว้างขวาง รวมทั้งมหาวิทยาลัยด้วย จนหลายคนสรุปตรงกันว่า “มหาวิทยาลัยถึงจุดแตกสลาย" แล้ว
มหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยที่จะนำไปสู่จุด แตกสลาย คือ
1) โครงสร้างอายุประชากร ที่จำนวนเด็กนักเรียนจะลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 16 ล้านคนในปี 2548 ลดเหลือ 11 ล้านคนในปี 2578 ผู้สูงอายุจาก 6 ล้านคนในปี 2548 เพิ่มเป็น 16 ล้านคนในปี 2578 ดังนั้นจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจะลดลงอย่างรวดเร็ว
2) ระบบ ICT และ AI ทำให้ข้อมูลข่าวสารทางวิชาการสมารถค้นหาได้ง่าย ฟรี และสะดวกมาก ดังนั้นนักศึกษาไม้ต้องรอข้อมูลข่าวสารวิชาการจากอาจารย์อีกต่อไป เพราะเขาหาได้จาก Google , YouTube และ Internet มากมาย จนถึงสามารถเรียนผ่านระบบ Online ได้จากทั่วโลกได้ทุกเวลาและทุกสถานที่เมื่อต้องการ
การเปลี่ยนแปลง 2 เรื่องสำคัญนี้ เปลี่ยนความคิดและทัศนคติต่อการเรียนมหาวิทยาลัยอย่างมาก คือ การเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นความสำเร็จของชีวิต เพราะได้หลักประกันของอาชีพ รายได้ ความก้าวหน้า จนถึงความสำเร็จในชีวิต แต่มหาวิทยาลัยในปัจจุบันไม่ใช่หลักประกันของการมีงานทำมีรายได้อีกแล้ว นักเรียนสนใจและเห็นประโยชน์จากมหาวิทยาลัยลดลงอย่างน่าตกใจ พวกเขาตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเรียน 4 ปี ทำไมต้องเรียนเวลา 08.00-16.00 น. จนถึงทำไมต้องเรียนวิชานี้ และต้องได้รับปริญญาสาขานี้ เรียนแล้วได้ประโยชน์จริงหรือ เป็นต้น
ดังนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยยังคงสอนและบริหารแบบที่เป็นอยู่วันนี้ มหาวิทยาลัยคงต้องถึงจุดแตกสลายในไม่ช้า ลองนึกภาพดูว่าอีก 10 ปีจากนี้ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะเหลือคงอยู่กี่แห่งและอยู่ในสภาพอย่างไร คำตอบของคำถามนี้คือคำตอบของการแตกสลายของมหาวิทยาลัยไทย
ประเด็นท้าทายมหาวิทยาลัยไทย คือ
1) มหาวิทยาลัยจะปรับเปลี่ยนจาการสอนตามหลักสูตร 4 ปี กับนักศึกษาอายุ 22-30 ปี ไปสู่การสอนหลักสูตรระยะสั้นที่สะสมหน่วยกิตได้ ให้กับคนทุกช่วงวัยโดยเฉพาะคนในวัยทำงานและคนสูงอายุ ที่สามารถเรียนได้ตลอดชีวิตในทุกเวลาและสถานที่
2) เนื้อหาวิชาที่สอนจะปรับเปลี่ยนให้ตรงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนโดยเฉพาะที่จะช่วยให้ทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพสูงขึ้น แทนการสอนที่เน้นทฤษฎีและหลักการมากเกินไป
3) การบริหารและงบประมาณของมหาวิทยาลัยจะต้องปรับเปลี่ยนจากเดิม เพื่อให้รองรับการเรียนหลักสูตรระยะสั้นและเปิดให้คนทุกช่วงวัยในสังคมสามารถเข้าเรียนได้ นั้นหมายความว่ารัฐบาลจะต้องเปิดให้ระบบราชการ เปิดทางให้มหาวิทยาลัยสามารถมีระบบบริหารและงบประมาณใหม่ได้
การเผชิญกับความท้าทายทั้ง 3 ข้อนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องยอมรับความจริงว่า ในอดีตคนเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีงานทำ แต่ในอนาคตคนทำงานได้ประสบการณ์และความรู้ เพื่อให้ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัย ตรรกะที่เปลี่ยนไปคือ จาก “เรียนไปเพื่อทำงาน”ไปสู่ “เรียนรู้จากการทำงาน” และมหาวิทยาลัยประเมินความรู้และประสบการณ์จาการทำงานเป็น “ปริญญาบัตร” ให้
มหาวิทยาลัยจะรอให้ถึงวันของจุดแตกสลาย แล้วจบตัวเองอย่างไม่มีทางเลือก หรือ มหาวิทยาลัยจะปรับเปลี่ยนตัวเองก่อนถึงวันของจุกแตกสลาย และคงความเป็น “เสาหลัก” ให้ประเทศชาติต่อไปสู่อนาคต
โดย... กนก วงษ์ตระหง่าน