กระบวนการยุติธรรมเพื่อความไม่ยุติธรรม (1)
การใช้สิทธิทางศาลเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนและอาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของกระบวนการยุติธรรมก็ว่าได้
เพราะเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อสิทธิของเราถูกละเมิดหรือถูกคุกคามแล้วจะมีกระบวนการที่ช่วยแก้ไขเยียวยาเหตุดังกล่าวได้อย่างยุติธรรม ดังนั้น การใช้สิทธิทางศาลจึงควรเป็นสิทธิที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน และต้องใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวเท่านั้น
แต่อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าการใช้สิทธิทางศาลนั้นมี “ราคา” ที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าเดินทาง รวมถึงเวลาและพลังงานที่ต้องเสียไปเมื่อต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับการดำเนินคดีแต่ละคดี จนถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “กินขี้หมาดีกว่าค้าความ” ปัจจัยเหล่านี้นอกจากจะกลายมาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าแล้ว ในบางครั้งผู้ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ก็อาจนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งผู้อื่น หรือเพื่อวัตถุประสงค์แฝงอย่างอื่นก็ได้
แต่พูดอย่างนี้แล้วอาจจะดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไปซักหน่อย อันที่จริงแล้วกฎหมายเราเองก็มีกลไกบางอย่างที่ช่วยป้องกันไม่ให้มีการนำสิทธิทางศาล และกระบวนการยุติธรรมไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ เช่น หากนายแดงไปแจ้งความว่านายดำลักทรัพย์ของตน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่เป็นความจริง แต่ทำไปเพราะต้องการทำให้นายดำเสียชื่อเสียง การกระทำดังกล่าวก็เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 (คำพิพากษาฎีกาที่ 8611/2553) หรือในกรณีคดีพิพาททางแพ่งก็มีหลักการที่ว่าบุคคลที่มาศาลต้องมาด้วยมือสะอาด (ซึ่งมาจากหลักกฎมายที่ว่า He who comes into equity must come with clean hands.) หรือบุคคลต้องใช้สิทธิโดยสุจริต เช่น
กรณีที่โจทก์รู้อยู่แล้วว่าคดีที่ข้อพิพาทถึงที่สุดแล้วไม่มีสิทธินำมาฟ้องเป็นคดีใหม่ได้อีก แต่ก็ยังดึงดันนำมาฟ้องทำให้จำเลยต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ศาลก็ย่อมยกฟ้องคดีนี้ได้ ส่วนจำเลยในคดีดังกล่าวที่ได้รับความเสียหายก็อาจฟ้องละเมิดโจทก์เพื่อเรียกค่าเสียหายจากเหตุดังกล่าวได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 6702/2553) นอกจากนี้ในกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีที่ไม่มีมูล คำฟ้องไม่ชัดเจน เคลือบคลุม ศาลก็มีดุลพินิจในการยกฟ้องได้เช่นกัน
ตัวอย่างข้างต้น อาจจะค่อนข้างชัดเจนว่าผู้ที่พยายามจะนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้มีสิทธิตามกฎหมาย แต่ในบางกรณีอาจจะไม่ชัดเจนเท่าไหร่นักว่าผู้ใช้สิทธิทางศาลมีเจตนาเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนจริง ๆ หรือใช้สิทธิเพื่อวัตถุประสงค์อื่นกันแน่ เช่น
คดีเหมืองทองคำวังสะพุง เป็นกรณีที่ชาวบ้านพยายามต่อต้านการทำเหมืองแร่ทองคำโดยการทำป้ายประท้วงต่อต้านการทำเหมืองเพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้าน เป็นเหตุให้เจ้าของเหมืองมาฟ้องค่าเสียหายจากชาวบ้านเป็นจำนวนเงินถึง 50 ล้านบาท โดยอ้างว่าการติดป้ายดังกล่าวทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัท คดีในลักษณะนี้จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วผู้ประกอบการเองก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีได้หากการประท้วงของชาวบ้านก่อให้เกิดความเสียหาย
ประเด็นคือ การดำเนินคดีในลักษณะนี้อาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจริง ๆ แต่เป็นวิธีการที่ผู้ประกอบการอาจนำมาใช้เพื่อกดดันชาวบ้านให้เลิกประท้วง หรือทำให้ไม่สามารถประท้วงต่อไปได้เพราะต้องเอาเวลาและทรัพยากรที่มีไปใช้ในการต่อสู้คดี
ในประเทศไทยเองยังไม่มีวิธีการที่จะจัดการกับการฟ้องในลักษณะนี้ได้โดยตรง ผู้ที่ถูกฟ้องคดีก็ต้องต่อสู้คดีกันไปตามกระบวนการ และอาจฟ้องละเมิดกลับได้หากคิดว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แต่ในต่างประเทศเขามีแนวทางในการป้องกันการใช้สิทธิทางศาลเพื่อการกลั่นแกล้ง หรือที่อาจจะรู้จักกันในชื่อว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation(SLAPP) จะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามต่อในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ]
โดย...
ภูริตา ธนโชคโสภณ
บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด
Purita.Thanachoksopon@allenovery.com