PM 2.5 กำลังมาเยือน อย่าแชเชือนไปช่วยกัน
“พวกเราทุกคนล้วนมีส่วนเป็นทั้งต้นเหตุและทางออกของปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษ” คำพูดนี้ไม่ใช่คำพูดของเรา แต่เป็นคำพูดของคุณโกศล สถิตธรรมจิตร
แต่เป็นคำพูดของคุณโกศล สถิตธรรมจิตร ซึ่งเป็นทั้งนักการทูตไทย และนักเขียนสร้างแรงบันดาลใจ ทว่าคำพูดนี้นั้นไม่ว่าจะเป็นของใครก็เป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครเถียงได้ และมีคำพูดประกาศิตอีกประโยคหนึ่งที่ก็ไม่มีใครเถียงได้เช่นกัน นั่นคือ คำพูดของนิรนามที่ว่า “ใครๆ ก็อยากไปสวรรค์ แต่ไม่มีใครอยากตาย”
นั่นก็มาถึงข้อความที่เราอยากจะสื่อถึงทุกคนในบทความนี้คือ ทุกคนอยากที่จะมีอากาศบริสุทธิ์ และไม่มีฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าตัวเอง ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกสถานะ ล้วนมีส่วนทำให้เกิดปัญหานี้ ทั้งต่อตัวเราเองและต่อลูกหลานของเรา รวมทั้งพ่อแม่ ปูย่า ตายายของเรา ตลอดไปจนถึงเพื่อนร่วมโลกคนอื่นๆ อีกมากมาย แต่เราก็เลือกที่จะยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม หรือวิถีการดำรงชีวิตโดยหวังว่าเหตุการณ์มันจะดีขึ้นได้เอง
แต่ทว่าไม่มีหรอก ที่จะทำต่อไปเหมือนเดิมๆ แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้น
ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 มีมานานแล้ว อาจจะมากกว่า 20 – 30 ปีขึ้นไปด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากความรู้ในอดีตของโลกเรา มีไม่มากพอจึงไม่มีการคิดค้นเครื่องมือวัดและไม่มีมาตรฐานในการวัด แต่เมื่อศาสตร์ทางการอนามัยมีมากขึ้นเราจึงได้เริ่มมีการวัดค่านี้และกำหนดเป็นมาตรฐานคุณภาพอากาศขึ้น สำหรับฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นี้มีค่ามาตรฐาน อยู่ 2 ระดับ คือ มาตรฐานรายปี (25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และมาตรฐานรายวันหรือ 24 ชั่วโมง (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
มาถึงตรงนี้ขอแทรกข้อมูลประกอบความคิดเห็นและการตัดสินใจของพวกเราทุกคนสักเล็กน้อยว่า ที่ผ่านมามีบางคนเอาค่าที่วัดได้ในนาทีหนึ่งๆ หรือชั่วโมงหนึ่งๆไปเทียบกับค่ามาตรฐานรายปีหรือราย 24 ชั่วโมง ซึ่งการเปรียบเทียบเช่นนี้มันผิดหลักการทางวิชาการอยู่มาก และทำให้เกิดการตื่นตระหนกเกินเหตุขึ้นมาได้ เพราะค่าที่วัดได้ ณ เวลาหนึ่งๆ อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยได้เป็น 10 เท่า
อย่าลืมว่า การตื่นตระหนกเกินเหตุนี้สามารถทำให้จิตตกและเกิดความกังวล ซึ่งนำไปสู่ความเครียดที่เป็นปัญหาที่รุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่หลายคนมองไม่เห็น แต่เอาละ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะขอไม่ลงรายละเอียดในที่นี้ ทว่าส่วนที่จะเอามาบอกกล่าวกันในครั้งนี้คือ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 นี้มันลดได้ แก้ได้ เช่น ที่ปักกิ่งก็ลดปัญหาลงมาได้มาก จนหลายประเทศเอามาเป็นตัวอย่างในการจัดการมลพิษทางอากาศ (https://readthecloud.co/china-pm25) ซึ่งอาจสรุปได้สั้นๆว่าสำหรับเรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอของปัญหา นั่น คือต้องหยุดหรือลดกิจกรรมที่จะส่งผลให้มีฝุ่น PM 2.5 มากขึ้นเท่านั้น วิธีการอื่นเป็นไปไม่ได้และไม่มีวันสำเร็จ
แล้วกิจกรรมนั้นมีอะไรบ้างที่ทุกฝ่ายจะมีส่วนร่วมด้วยได้ เราจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมง่ายๆ สัก 2 ตัวอย่าง เช่น การทำให้ประชาชนเดินหรือขี่จักรยานไปต่อระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟไฟฟ้า รถประจำทาง หรือเรือเมล์ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย นั่นจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่คนเดินทางด้วยระบบนี้ ซึ่งนั่นหมายถึงจะมีการลดการใช้ รถยนต์ส่วนตัวลง โยงใยไปถึงการลดการปล่อยฝุ่นควันได้อย่างเป็นรูปธรรม หรืออีกตัวอย่างก็คือ การใช้เครื่องจักรยนต์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ มาใช้ตัดฟันซากพืชเกษตรแล้วฝังลงดินแทนการเผา ซึ่งทั้ง 2 วิธีก็จะเป็นกำจัดฝุ่นแต่ต้นทางได้เป็นอย่างดี
เราจะมีคำตอบหรือทางออกอื่นๆ ทำนองนี้อีกมากมานำเสนอเพิ่มเติม ในวันอาทิตย์ที่ 22 ธ.ค.2562 ภายใต้ โครงการกิจกรรมรณรงค์เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการ เดิน วิ่ง ปั่น ภายใต้คำขวัญ “ต้นไม้สวย ฟ้าใส ไร้มลพิษ พิชิต PM 2.5” เราจึงอยากจะชวนเชิญทุกท่านออกมาแสดงพลังภาคประชาชน โดยการไปร่วมกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้เพื่ออนาคตของบ้านเมืองเรา ดูรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ FB ฟ้าใสไร้ฝุ่น (facebook.com/FaSaiRaiFoon) และลงทะเบียนได้ที่ race.thai.run/FaSaiRaiFoon
“ไร้ฝุ่นพิษโลกสว่างกระจ่างแจ้ง
พลังแรงเต็มหัวใจไร้ปัญหา
บรรยากาศอิ่มเอมเปรมปรีดา
สร้างคุณค่าไร้ฝุ่นพิษชีวิตงาม”
ชมัยภร แสงกระจ่าง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2557
//////////////
โดย...
รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร
รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย