Big Data เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ MSME
ในทางปฏิบัติของโลกธุรกิจทุกวันนี้ “ข้อมูล” ถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่ทุกองค์กรต้องการและปกป้อง จนมีการขนานนามว่า “Data is King”
เพราะองค์กรสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาการข้อมูลที่ทำให้องค์กรธุรกิจสามารถจัดเก็บ บริหารจัดการ วิเคราะห์ เพื่อใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพ (Structured Data) มาต่อยอดในการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจลูกค้า ขยายฐานธุรกิจและสร้างกำไรต่อไป
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าข้อมูลที่มีคุณภาพดังกล่าวไม่เพียงแต่ตอบสนองโจทย์ทางธุรกิจโดยทั่วไป แต่ยังช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (Micro, Small and Medium-sized Enterprise: MSME) ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนจากสถาบันการเงิน
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ฟังเวทีเสวนาเรื่อง Next Generation MSME Access to Finance ที่เวทีสุดยอดผู้นำภาคธุรกิจแห่งอาเซียน (ABIS 2019) โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจาก Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย IBM และ McKinsey & Company ซึ่งได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ครับ
จากข้อมูลของ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) วิสาหกิจขนาดเล็กหรือ MSME ในอาเซียนมีการจ้างงานจำนวนมากถึง 189 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 58 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติอาเซียน (GDP) และคิดเป็นร้อยละ 30 ของการส่งออกโดยรวม อย่างไรก็ดี MSME ได้รับสินเชื่อในสัดส่วนที่น้อยมากจากสถาบันการเงิน เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าประเภทอื่น
ด้วยลักษณะที่พิเศษของ MSME ซึ่งมีประเภทธุรกิจที่หลากหลายและมีความคล่องตัวพร้อมที่จะเปลี่ยนไลน์ธุรกิจเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เจ้าของธุรกิจ MSME มักจะมุ่งเน้นในเรื่องกิจกรรมของธุรกิจ โดยอาจไม่มีการเก็บประวัติข้อมูลด้านการเงินอย่างเป็นระบบ และสิ่งที่พวกเขายังขาดแคลนเป็นอย่างยิ่งคือเงินทุน รวมถึงข้อมูลและคำปรึกษา แต่การเดินเข้าไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยากสำหรับ MSME เพราะธนาคารต้องปฏิบัติตามแนวทางการให้สินเชื่อที่ดี จึงต้องการสิ่งที่ธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้ไม่มี นั่นคือเอกสารอ้างอิงจำนวนมาก ข้อมูลกำไรและขาดทุนย้อนหลัง และหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้พวกเขาต้องหันไปหาแหล่งเงินทุนนอกระบบที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าแต่ด้วยดอกเบี้ยที่แพงกว่ามาก
ปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจรายย่อยเป็นเหมือนช่องว่างที่ยากจะแก้ไข แต่มิใช่จะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวในยุคเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถทำเรื่องยากให้ง่ายได้ สถาบันการเงินหรือฟินเทคที่อยู่ภายใต้สถาบันการเงินในปัจจุบันต่างแข่งขันกันสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล และนวัตกรรมการเงินอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางในการให้บริการทางการเงินที่ขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบันแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นช่องทางใหม่ที่จะช่วยให้บรรดา MSME ก้าวข้ามอุปสรรคที่เคยขวางกั้นพวกเขาจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ธนาคารสามารถใช้ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าจำนวนมหาศาลที่ได้รับผ่านช่องทางเหล่านี้มาประมวลผลโดยใช้เทคโนโลยีเช่น Artificial Intelligence (AI) Machine Learning และ Big Data เพื่อใช้ในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้คืน (Debt Servicing Ability) เพื่อตัดสินใจให้สินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ช่องทางเหล่านี้ได้แก่ Cloud Funding P2P Lending Virtual Banking และ Digital Platform โดยหลักการให้สินเชื่อผ่านช่องทางเหล่านี้ช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่างดังกล่าวข้างต้น ทำให้สถาบันการเงินสามารถเปลี่ยนจากการปล่อยสินเชื่อโดยยึดถือหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นหลักมามุ่งเน้นที่ความสามารถในการชำระหนี้คืนแทน
อย่างไรก็ดี แม้ธุรกิจแบบ MSME มักจะอยู่ในสถานการณ์ขาดแคลนเงินทุน แต่การโน้มน้าวให้ธุรกิจเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบดิจิทัลดังกล่าวยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับสถาบันการเงิน โดยมีคำแนะนำจากเวทีเสวนาว่าสถาบันการเงินจำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มที่ผู้ประกอบการรายย่อยมีความสะดวกและสบายใจที่จะเข้ามาใช้งาน ในขณะเดียวกันหากมีแรงกระตุ้นจากฝ่ายรัฐบาล เช่นการให้ความรู้ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และสิทธิประโยชน์ทางภาษีน่าจะช่วยเป็นแรงส่งให้กลุ่มลูกค้าเหล่านี้เข้ามาสู่ในระบบมากขึ้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 นั้นจะสามารถสร้างข้อมูลคุณภาพที่นำสู่การสร้างโอกาสให้ธุรกิจ MSME ในระบบนิเวศทางการเงินของภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยง่ายขึ้นหรือไม่ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อไป แต่ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีทางการเงินที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันจากทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของภาครัฐและนวัตกรรมต่างๆ จากภาคเอกชนได้สร้างความมั่นใจว่าข้อมูลที่ประมวลผลได้จากช่องทางดิจิทัลจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย มีความน่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดว่าการสร้างแหล่งเงินทุนที่ครอบคลุม (Inclusive Finance) เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืนมีความเป็นไปได้อย่างมากครับ