พัฒนาการของระบบทุนนิยมและกลุ่มทุนไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน (2)
เมื่อระบบทุนนิยมโลกเผชิญวิกฤตการณ์หลากหลาย การผลิต การบริโภคภายใต้แนวคิดแบบทุนนิยมสุดโต่งก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เรากำลังอยู่ท่ามกลางมลพิษและโลกที่ร้อนมากขึ้นทุกวัน การแสวงหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจาก “ทุนนิยม” นั้นดูเหมือนไม่มีพลังมากนักในโลกที่ “ทุนนิยม” ครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การล่มสลายของเศรษฐกิจสังคมนิยมโดยรัฐในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และความเสื่อมถอยของขบวนการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทำให้ ทางเลือกอื่นที่มีพลัง นอกเหนือจาก “ทุนนิยม” หายไป ขณะที่แนวความคิดเศรษฐกิจแบบทางเลือกอื่นๆก็ยังห่างไกลต่อการเป็นคำตอบในเชิงระบบสำหรับปัญหาของมนุษยชาติในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม ในทุกๆช่วงของระยะเปลี่ยนผ่านของโลกหรือของประเทศเราก็ดี ระบบทุนนิยมและกลุ่มทุนจะปรับเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระทบ ขณะที่ “โลก” และ “ไทย” ต่างเจอกับผลกระทบสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา การขยายตัวของลัทธิกีดกันทางการค้าอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการค้าเสรีและการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ยกระดับคุณภาพชีวิตกำลังกลายเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงในงานของแรงงานมนุษย์ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” และ “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน” เป็นสิ่งที่แพร่หลายมากขึ้น ภาวะดังกล่าวย่อมส่งให้ “ระบบทุนนิยมไทย” และ “ระบบทุนนิยมโลก” เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม
ย้อนกลับไปสำรวจดู พัฒนาการของระบบทุนนิยมไทยในอดีต Suehiro Akiro นักวิชาการชาวญี่ปุ่นผู้ศึกษา Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 กล่าวสรุปว่า ทุนตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจไทยหลังปี พ.ศ. 2398 เปิดการค้าเสรีภายใต้สนธิสัญญาที่ทะยอยทำกับชาติตะวันตก เริ่มต้นจากสนธิสัญญาเบาว์ริงก่อน ทุนตะวันตกได้เข้ามามีผลประโยชน์ในธุรกิจโรงเลื่อย เหมืองแร่ดีบุก การเดินเรือ ธนาคารพาณิชย์และกิจการสีข้าว ขณะเดียวกันกลุ่มเชื้อพระวงศ์และขุนนางที่ต้องประสบปัญหาเนื่องจากเศรษฐกิจแบบศักดินาสลายตัว ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในที่ดินหรือธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานอันได้แก่ รถราง หลายคนได้เข้าไปในธุรกิจโรงสีข้าว แต่เป็นเพียงมีฐานะเป็นเจ้าของส่วนการดำเนินการปล่อยให้อยู่ในมือของชาวยุโรปและพ่อค้าชาวจีน ในกลุ่มนี้มีเพียงกษัตริย์โดยสำนักงานพระคลังข้างที่ เท่านั้นที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
การอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงทุนนิยมภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นทุนนิยมภายใต้ระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการระบบทุนนิยม เปิดโอกาสและช่องทางในการเพิ่มบทบาทของพ่อค้า ผู้ประกอบการที่เป็นสามัญชนมากขึ้น ความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสการลงทุนและธุรกิจปรับตัวในทิศทางดีขึ้น การสะสมทุนของกลุ่มทุนต่างๆเพื่อใช้ในการขยายการลงทุนและกิจการต่างๆทำให้กลุ่มทุนเติบโตและแข็งแรงขึ้นตามลำดับ
การผลิตของระบบเศรษฐกิจไทยถูกกำหนดจากภายนอกมากตามลำดับหลังจากทำสนธิสัญญาเปิดการค้าอย่างต่อเนื่อง และโครงสร้างการผลิตและการตลาดถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของนายทุนต่างชาติและชนชั้นสูงของไทย ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมที่เคยพึ่งตนเองได้ในทางการผลิต มาเป็นเพียงแหล่งส่งวัตถุดิบ แหล่งระบายทุน และตลาดสินค้าสำเร็จรูปของประเทศตะวันตกสภาพเช่นนี้อาจเรียกได้ว่า การผลิตเพื่อค้าแบบเมืองขึ้นซึ่งเมื่อขยายตัวมากๆ ก็นำระบบเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจกึ่งเมืองขึ้น โครงสร้างเศรษฐกิจ ยังถูกควบคุมโดยชนชั้นสูง และคนกลุ่มนี้ยังคงรักษาอำนาจของตนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วยการปรับเปลี่ยนตนเองมาเป็นนายทุนที่ดิน นายทุนการค้าร่วมกับนายทุนต่างชาติ สยามหรือประเทศไทยจึงมีระบบเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่าเป็น “ระบบทุนนิยมกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น” กล่าวคือปัจจัยในการผลิตส่วนเกินอยู่ในมือของชนชั้นสูงและนายทุนต่างชาติ ดำเนินไปพร้อมๆการกำหนดตัวสินค้าและปริมาณสินค้าจากภายนอก การผลิตจึงดำเนินไปเพื่อเป็นฐานะของการขยายตัวของทุนการค้าและทุนเงินกู้มากกว่าที่จะพัฒนาเป็นทุนผลิตอุตสาหกรรม ในขณะที่คนระดับล่างหรือราษฎรได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าน้อยมาก การขยายฐานของชนชั้นกลางก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า อันเป็นลักษณะพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ต่างจากยุโรป และสิ่งนี้ได้ส่งผลต่อพัฒนาการภายในของสยามเองด้วย
รัฐบาลคณะราษฎรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ดำเนินนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ คนจีนและคนสยามเชื้อสายจีนที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงก่อนหน้านี้ได้ถูกจำกัดบทบาทลง รัฐบาลได้ออกกฎหมายสงวนการค้าและอาชีพ 27 ชนิด เช่น ช่างตัดผม การขับรถแท็กซี่ เป็นต้น รัฐบาลได้ทยอยจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อประกอบธุรกิจเอง เช่น จัดตั้ง บริษัทไทยค้าข้าวจำกัดเพื่อลดอิทธิพลของทุนจีนต่ออุตสาหกรรมข้าว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังต้องอาศัยความสามารถทางการค้าและการบริหารจัดการธุรกิจค้าข้าว คนไทยไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการค้าข้าว ต่อมาบริษัทไทยค้าข้าวลดบทบาทลงมาเรื่อยๆโดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลยกเลิกแผนการในการโอนกิจการค้าข้าวมาเป็นกิจการของรัฐในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491)
การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของมวลชนนี้ได้ส่งผลต่อพัฒนาการของระบบทุนนิยมของไทยในช่วงดังกล่าว การลดบทบาทของกลุ่มทุนต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนและเพิ่มบทบาทของคนไทยและรัฐบาลทางเศรษฐกิจ เป็น แนวนโยบายสำคัญของคณะราษฎรในช่วงหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 2475 ความกังวลต่ออิทธิพลของกลุ่มทุนจีนต่อการค้าและระบบเศรษฐกิจเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หกจนทำให้เกิดกระแส “ราชาชาตินิยม” รัชกาลที่หกได้ทรงพระราชนิพนธ์ในบทความต่างๆเปรียบเทียบชาวจีนเป็นเหมือน “ยิวแห่งบูรพาทิศ” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่เจ็ด (ครองราชย์ช่วง ค.ศ.1925-1935 หรือ พ.ศ. 2468-2478) ได้มีการประกาศมาตรการจำกัดชาวจีนเข้าประเทศและให้ทางการควบคุมโรงเรียนจีน แต่มีการบังคับใช้อย่างผ่อนปรน มาเข้มงวดเมื่อในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ขณะที่แนวความคิดชาตินิยมของชาวจีนก็ถูกปลุกเร้าขึ้นด้วยขบวนการเคลื่อนไหวของ ท่านซุนยัดเซ็น นักอภิวัฒน์ชาวจีนและบิดาแห่งสาธารณรัฐจีน นอกจากนี้ยังมีการแพร่ขยายของแนวคิดคอมมิวนิสต์จากชาวจีนอพยพ และ ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มชาวจีนอพยพที่มาอยู่ในสยาม โดยมีทั้งกลุ่มอภิวัฒน์ชาตินิยม กลุ่มภักดีต่อราชวงศ์ชิง กลุ่มสายปฏิรูป และ กลุ่มคอมมิวนิสต์
สิทธิพิเศษของนักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นอย่าง EEC ช่วยดึงดูดการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติมาก สิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อระยะเปลี่ยนผ่านของระบบทุนนิยมไทยและส่งผลต่อโครงสร้างของระบบทุนนิยมไทยและกลุ่มทุนต่างๆในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การเปิดเสรีอย่างสุดโต่งโดยขาดความเอาใจใส่ในการดูแลผลกระทบต่อกลุ่มคนต่างๆและกลุ่มทุนขนาดเล็กขนาดกลางภายในประเทศ จะนำมาสู่ความสุ่มเสี่ยงของกระแสโต้กลับจากแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หรือ ปรากฏการณ์อย่าง “American First” ของ Donald Trump อาจเกิดขึ้นในไทยในอนาคตอันใกล้